กระดานสุขภาพ
อยู่กับคนเป็นโรคซึมเศร้าควรทำยังไงคะ | |
---|---|
21 ตุลาคม 2557 08:02:31 #1 มีพี่ที่สนิทกันเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ เวลาอารมณ์ดีก็ดีจนใจหาย เวลาอารมณ์ร้าย ก็ห้ามไม่อยู่เลย |
|
อายุ: 29 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.22 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
Urlo*****e |
21 ตุลาคม 2557 08:05:15 #2 ควรปฎิบัติตัวกับพี่เขายังไงดีค่ะ คือพี่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ และก็ปัญหาที่บ้านด้วยนะคะ พี่เขาไปหาหมอ ได้ยามาทานด้วยอยู่ค่ะ |
นพ. อุดม เพชรสังหาร(จิตแพทย์) |
22 ตุลาคม 2557 09:32:31 #3 เวลาที่มีใครป่วยด้วยโรคซึมเศร้า สิ่งที่เรามักจะพบได้บ่อยก็คือ ญาติและคนรอบข้างที่รักและห่วงใยผู้ป่วยก็จะทุกข์ใจไปกับอาการและความคิดของผู้ป่วยไปด้วยเหมือนกัน บ่อยครั้งที่พบว่าญาติจะคอยตามแก้ไขความคิดที่มองโลกในแง่ลบ การมองตัวเองในทางไม่ดีของผู้ป่วย ซึ่งถ้าอาการของโรคมันยังไม่ดีขึ้น ความคิดเหล่านี้มันก็จะยังวนเวียนกลับไปกลับมาอยู่ตลอด ญาติก็จะคอยแก้ไขให้อยู่ตลอดเช่นกัน นานๆ เข้าญาติก็จะแย่เอาเหมือนกัน ที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือบ่อยครั้งที่ญาติจะคอยตามเอาใจผู้ป่วย เพราะเชื่อว่าการขัดใจผู้ป่วยจะยิ่งทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ไปกว่าเดิม ซึ่งบางเรื่องมันก็สร้างความลำบากใจให้กับญาติได้ไม่น้อยเลยทีเดียว การปฏิบัติแบบนี้นานๆ เข้าก็มีโอกาสทำให้ญาติและคนรอบข้างผู้ป่วยมีความรู้สึกแย่ เผลอๆ ก็มีโอกาสที่จะจมน้ำตามผู้ป่วยไปด้วยอีกคน วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็คือ "รับฟัง เข้าใจ ไม่ตัดสิน" และ "ไม่เอาตัวเราเข้าไปผูกกับความคิดและอารมณ์ของผู้ป่วย" "รับฟัง เข้าใจ ไม่ตัดสิน" คือการแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่าเรายินดีที่จะฟังเรื่องราวของเขา แสดงให้เขาเห็นว่าเรารู้ว่าเขาทุกข์ เราเข้าใจในความรู้สึกของเขา แต่เราจะไม่เข้าไปตัดสินว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นมันผิดหรือถูก เราจะไม่ไปบอกว่าเขาต้องคิดอย่างนั้นสิ ต้องทำอย่างนี้สิ เพราะความคิดที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันเป็นอาการของโรค คำพูดของเราจะไม่สามารถแก้ไขความคิดของเขาได้ ตราบใดที่โรคมันยังไม่ทุเลา แต่การที่ผู้ป่วยรับรู้ว่ามีใครสักคนกำลังฟังเขาอยู่มันก็ช่วยเขาได้โขแล้วครับ การที่ผู้ป่วยบ่นนั่นบ่นนี่ ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องการให้ใครมาช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาเสมอไปนะครับ เขาอาจแค่ต้องการส่งสัญญาณให้คนอื่นรับรู้ว่าเขากำลังทุกข์ การที่เราพยายามแก้ไขความคิดของเขา มันจึงเป็นคนละเรื่องกับที่ผู้ป่วยต้องการ "ผมเข้าใจพี่ครับ" "ไม่เอาตัวเราเข้าไปผูกกับความคิดและอารมณ์ของผู้ป่วย" บ่อยครั้งที่เราพบว่าพอผู้ป่วยเล่าถึงปมปัญหาต่างๆ แล้วร้องไห้ ญาติและเพื่อนๆ ก็เลยพลอยร้องไห้ตามไปด้วย นี่คือการเอาตัวเราไปผูกกับความคิดและอารมณ์ของผู้ป่วย ตรงนี้แหละครับที่มันจะทำให้ญาติจมน้ำไปกับผู้ป่วยด้วย แต่เราก็มนุษย์ธรรมดา มีโลภ โกรธ หลง ได้ ดังนั้นเมื่อฟังเรื่องราวของผู้ป่วย ต้องเตือนตัวเองด้วยหากอารมณ์และความคิดของเราชักจะตามผู้ป่วยไป เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะแย่ไปอีกคน ทีนี้ไม่มีใครช่วยใครได้แล้ว ทำความเข้าใจในความทุกข์ของเขา แต่อย่า "อิน" กับเรื่องราวความทุกข์ของเขา ถ้าทำแบบนี้ได้เราก็จะไม่เป็นทุกข์ และยังสามารถช่วยเพื่อนของเราได้ต่อไปครับ
นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร |
Urlo*****e