กระดานสุขภาพ
รู้สึกกลัว คิดมาก หดหู่ เมื่ออ่านข่าวอุบัติเหตุต่างๆ นอนไม่ค่อยหลับ ขอคำปรึกษาหน่อยค่ะ | |
---|---|
24 เมษายน 2557 13:41:53 #1 ขอคำปรึกษาคุณหมอหน่อยค่ะ ตอนแรกอ่านข่าวพวกนี้ เพราะเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเองให้ระมัดระวังตัวมากขึ้น พอตั้งแต่เรื่องเรือที่เกาหลีล่ม ยิ่งอ่านยิ่งหดหู่เมื่อรู้ว่าเด็กๆเสียชีวิตอย่างทรมาน เวลาหนูอยู่บ้าน นั่งเล่นเน็ตเพลินๆ จะล็อคประตูทุกครั้ง เพราะกังวลว่าจะมีโจรเข้าบ้านมาถึงตัวเราได้ง่าย จึงล็อคไว้เพื่อป้องกันในระดับนึงค่ะ แต่เพื่อนบ้านบอกว่าไม่ต้องล็อค เขาบอกว่าหนูขี้กลัวเกินไป แต่หนูก็ต้องเซฟตัวเองไว้ระดับนึงก่อนไม่ดีกว่าหรอคะ ขอคำปรึกษาหน่อยนะคะ ตอนนี้ทุกข์ใจจังเลย หนูอยากรู้ว่า หนูเป็นโรคอะไรรึเปล่าคะ สมควรต้องพบจิตแพทย์รึเปล่า ถึงกังวลบ่อยขนาดนี้ เผื่อว่าจะทำให้หนูหายกังวล และได้คำปรึกษาที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจได้ค่ะ ขอบคุณนะคะ |
|
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 159ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.78 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
นพ. อุดม เพชรสังหาร(จิตแพทย์) |
28 เมษายน 2557 15:23:48 #2 ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น(Empathy) เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ทุกคนครับ และเป็นคุณสมบัติฝ่ายดีด้วย เพราะมันนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการมีคุณธรรม การมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ภายใต้แง่ดีของมันมันก็มีแง่มุมลบเช่นกัน เพราะบางทีเราก็แยกไม่ออกว่าสิ่งที่กำลังเกิดอยู่นั้นมันเกิดกับคนอื่นนะไม่ใช่ตัวเรา เราก็เลยทุกข์หนักราวกับว่าปัญหามันเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดปรกติหรอกครับ เพียงแต่ว่าคุณยังควบคุมใจตัวเองได้ไม่ดีพอเท่านั้นเอง ต้องเตือนตัวเองครับว่ามันเป็นปัญหาของคนอื่นไม่ใช่ปัญหาของเรา ต้องแยก "ตัวเรา" ออกมาจาก "ตัวเขา" ให้ได้ เรื่องนี้อาจจะยากในช่วงแรกๆ แต่ถ้าฝึกบ่อยๆ มันก็จะดีขึ้นเองครับ พอเจอเหตุการณ์ทำนองนี้และเกิดอารมณ์อย่างที่ว่าขึ้นมาก็รีบเตือนตัวเองว่าใจของเราหลุดกรอบไปอีกแล้ว เราคือเรา เราไม่ใช่เขา เราเห็นใจที่เขาเป็นทุกข์ แต่เราก็จะไม่ทุกข์ไปกับเขาด้วยเพราะเราไม่ใช่เขา บางครั้งความรู้สึกแบบนี้ถ้าได้ระบายออกมาให้ใครสักคนที่เราไว้ใจฟัง มันก็ช่วยคลายความไม่สบายใจไปได้เหมือนกันนะครับ และถ้าคุณรู้สึกมั่นใจว่าสามารถแยก "ตัวเรา" ออกจาก "ตัวเขา" ได้ดีขึ้นแล้ว จะลองทบทวนเรื่องนี้แบบเจาะลึกดูบ้างก็ได้ ลองถามตัวเองดูซิว่าทำไมคุณจึงรู้สึกมี "อารมณ์ร่วม" กับเรื่องแบบนี้ได้มากเป็นพิเศษ มันมีอะไรในชีวิตของคุณที่ผ่านมาที่ดูเหมือนว่าคุณเองก็เคยพบพานกับปัญหาทำนองนี้มาก่อน เคยทุกข์แบบนี้มาก่อน ปมบางอย่างในชีวิตของเรา ที่เราเคยไม่สบายใจและลืมไปนานแล้ว เมื่อมาเจอกับเรื่องราวบางเรื่องมันอาจเป็นเหตุที่ไป "สะกิดแผลเก่า" ขึ้นมาและทำให้เราเจ็บปวดอีกรอบก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องบอกตัวเองว่านั่นคืออดีต มันผ่านไปแล้ว "ตัวเรา" ในตอนนี้กับตอนนั้นสถานะมันต่างกัน การที่คนเราได้ทบทวนอดีตที่ฝังใจในช่วงเวลาปัจจุบันที่เราเติบโตขึ้นมาแล้วจะช่วยทำให้เรามองอดีตอย่างมีเหตุผลมากขึ้น และช่วยให้เราสามารถสลัดอารมณ์บางอย่างที่เกาะติดอยู่กับอดีตให้หลุดออกไปได้ครับ
นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร |
Litt*****5