กระดานสุขภาพ

มีคำแนะนำ ในการ ดูแล ผู้ป่วย อัมพาตครึ่งซีก(ขวา), (เส้นเลือดในสมองตีบ) อย่างไรบ้างครับ
Anonymous

13 ธันวาคม 2555 07:26:27 #1

อาการตอนนี้พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ลิ้นแข็ง ปากชา แขนขวา และขาขวา เริ่มมีความรู้สึกเจ็บบ้างแล้ว ออกมาจาก โรงพยาบาลได้ วันนี้วันที่ 3 แล้วครับ มีอาการ หลงๆ ลืมๆ บางครั้งก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร สับสน 

อยากจะถามว่า ปกติแล้ว พักฟื้น อัมพาตครึ่งซีก (เป็นครั้งแรก) จะเป็นนานเท่าไหร่ ครับ โดยเฉลี่ย

ผมเครียดมากเลย ... มี ผมกับพี่ชาย สองคน พี่ชาย ทำงานกลางคืน ดูแลพ่อ ตอนกลางวัน (แทบไม่ได้นอน) 

ผมทำงานตอนกลางวัน ดูแลพ่อตอนกลางคืน (แทบไม่ได้นอนเหมือนกัน) เพราะ ไม่ยอมหลับ เหมือนจะกังวลตัวเอง ว่าเมื่อก่อนเคยขยับได้แล้ว มาขยับ ไม่ได้ มีวิธีไหน ที่จะให้ผู้ป่วยเลิกกังวล ในอาการ ของตัวเอง บ้างครับ ... และวิธีดูแล เบื้องต้น เช่นการพูดคุย ควรพูดคุยแบบไหน หรือการปฏิบัติ ควรปฏิบัติ อย่างไรครับ

 

ขอบคุณมากครับ

อายุ: 49 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 0 กก. ดัชนีมวลกาย : 0.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Haamor Admin

(Admin)

13 ธันวาคม 2555 08:09:34 #2

ถึง คุณ 467d0

รบกวนช่วยระบุข้อมูลอายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง ของผู้ป่วยด้วยนะค่ะ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่คุณหมอค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

Anonymous

14 ธันวาคม 2555 03:41:21 #3

อายุ 49 ปี เพศชาย ครับ

Admi*****n

14 ธันวาคม 2555 10:34:54 #4

เป็นข้อมูลโดยประมาณก็ได้ครับ เช่น น้ำหนักประมาณ 60 กก/ไม่อ้วน และสูงประมาณ 170 ซม เป็นต้น

 

ขอบคุณครับ

Anonymous

15 ธันวาคม 2555 09:59:05 #5

น้ำหนัก ผมไม่ทราบน่ะครับ ส่วนสูงก็ประมาณ 164 ครับ

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมประสาทวิทยา

16 ธันวาคม 2555 04:15:32 #6

ผมเข้าใจความรู้สึกและปัญหาที่ถามมาเป็นอย่างดีครับ การที่คุณพ่อเป็นอัมพาตไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เหมือนเดิม จำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากลูกๆ และก็เป็นสิ่งที่ลูกๆต้องร่วมมือในการดูแลเป็นอย่างดี ประเด็นก็คือในขณะนี้มีทั้ง 2 ประเด็น คือ เรื่องความสามารถทางกายที่ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเดิม และอีกปัญหาที่สำคัญ คือ การปรับสภาพทางจิตใจ ที่ต้องค่อยๆปรับตัวว่าเราจะต้องดีขึ้น ผมเริ่มกรณีแรก คือ การดูแลสภาพร่างกายให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือต้องรับประทานยาที่แพทย์ให้มาอย่างสม่ำเสมอ ความสำคัญของยาที่ต้องทาน คือ ยาดังกล่าว คือ ยาต้านเกร็ดเลือด จะป้องกันการเป็นซ้ำครับ เพราะโรคนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ถ้าไม่รักษาให้ดี ยาดังกล่าวไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นครับ แต่ย้ำว่าต้องทาน เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ กรณีที่มีโรคอื่นๆเช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันก็ต้องทานยาที่ได้มาให้ครบถ้วน เพื่อควบคุมปัญหาต่างๆ ซึ่งก็จะเป็นการป้องกันการเป็นซ้ำ เช่นเดียวกันครับ อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การทำกายภาพบำบัด เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพให้ค่อยๆดีขึ้นครับ และป้องกันการติดของข้อต่างๆครับ การดูแลเรื่องการขับถ่ายก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะพ่อจะเคลื่อนไหวลำบาก จะมีปัญหาท้องผูกได้ง่ายครับ หรือปัสสาวะราด เพราะไปห้องน้ำไม่ทัน ดังนั้นการดูแลการขับถ่ายก็สำคัญเช่นเดียวกันครับ จะต้องฝึกการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระเป็นเวลาเหมือนกับการดูแลเด็กๆแรกเกิดที่ต้องเรียกให้ปัสสาวะเป็นเวลาครับ การรักษาต้องรักษาต่อเนื่องครับ อาการโดยทั่วไปนั้นจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับความรุนรงของโรค โรคประจำตัว และการไปพบแพทย์เร็วเพียงใด ในปัจจุบันถ้าไปพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมงแรก โอกาสที่จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วก็มีสูงมากครับ อย่างไรก็ตามโรคนี้จะดีขึ้นครับ แต่ต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องครับ กรณีที่สองคือ สภาพจิตใจนั้นสำคัญมากครับ ถ้าผู้ป่วยและญาติไม่สามารถปรับตรงนี้ได้ จะเป็นทุกข์มากครับ เราต้องค่อยๆปรับสภาพและยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นครับ ว่านี้คือการเจ็บป่วย แต่ก็มีโอกาสหายดีกว่าเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆที่ไม่มีโอกาสหายครับ ปัญหาการนอนเป็นเรื่องที่พบบ่อยมาก คือ เวลาเกิดอาการอัมพาตแล้ว ผู้ป่วยจะนอนไม่เป็นเวลาเดิม คือ จะตื่นกลางคืนนอนกลางวัน และบางครั้งก็ไม่นอนเลยก็มี เพราะนาฬิกาสมองเสียไปครับ หรือก็เป็นเพราะผู้ป่วยสับสนเวลากลางวันกลางคืน เพราะไม่ได้ออกไนอกบ้านครับ ดังนั้นที่สำคัญคือ ต้องให้ผู้ป่วยรู้เวลากลางวันกลางคืนครับ โดยถ้ากลางวันก็ต้องมีกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้อยู่นอกบ้าน รับแสงแดดครับ ต้องนั่งตากแดดช่วงเช้าๆ กลางวันต้องมีกิจกรรม ไม่ให้นอน กลางคืนก็จะค่อยๆนอนได้ดีขึ้นครับ ส่วนความจำโดยปกติน่าจะเกิดจากการสับสนมากกว่า อย่างไรก็ตามเราต้องพยายามพูดเน้นย้ำ ช้า ๆชัดๆ พูดหลายๆครั้ง ทบทวนให้ผู้ป่วยทราบทุกอย่างก็จะค่อยๆดีขึ้นครับ ที่สำคัญต้องมีกำลังใจที่ดีทั้งผู้ป่วยและญาตครับ