กระดานสุขภาพ

ท้องเสีย
Anonymous

30 กันยายน 2563 02:57:23 #1

กินข้าวไม่เป็นเวลาไม่ค่อยกินผัก มักกินของปิ้งย่าง แปรรูป(กินในช่วงเด็กบ่อย ตอนนี้มีกินบ้างแต่พยามเลี่ยง) มีนิสัยชอบนอนดึก กินของทอดเป็นประจำส่วนใหญ่อาหารเป็นของทอด มีโรคประจำตัว ริดสีดวง ภูมิแพ้ ผมถ่ายท้องผูกสลับท้องเสีย ล่าสุดถ่ายเป็นก้อนกรวดมีทั้งเล็กขนาดนิ้วก้อยและใหญ่(ใหญ่จนถ่ายออกยาก)เมื่อวานถ่าย3-4ครั้งมีทั้งครั้งที่เป็นก้อนกรวดมีมูกสีเดียวกับอุจจาระ และถ่ายเป็นลำยาวสั้น วันนี้ผมตื่นเช้ามารู้สึกคล้ายๆปวดผายลมเวลาผายลมจะแน่นที่ด้านล่างนิดๆแต่มันออกยากก็เลยคิดว่าอุจจาระปมไปถ่ายอุจจาระแล้วพอถ่ายจนคิดว่าหมดปรากฏมีแค่มูกที่ออกมาในมูกมีเลือดสดปนอยู่นิดเดียว คุณหมอครับมันอันตรายไหมครับแล้วมันเกี่ยวกับอะไรหรอครับ

อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 166ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.87 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

3 ตุลาคม 2563 07:32:56 #2

    • ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ได้แก่ อาการไม่ถ่ายอุจจาระตามปกติซึ่งโดยคำนิยามทางการแพทย์ ท้องผูก หมายถึงความผิดปกติทั้งจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระซึ่งต้องน้อยกว่า3 ครั้งต่อสัปดาห์ลักษณะของอุจจาระต้องแห้งแข็งการขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งหรือใช้มือช่วยล้วงและภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด
    • ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุที่พบบ่อยคือ
    • • เกิดจากลำไส้เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติหรือบีบตัวลดลงทั้งนี้เพราะขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้จากมีลำอุจจาระเล็กเช่นจากกินอาหารที่ขาดใยอาหาร และ/หรือดื่มน้ำน้อยอุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลงอุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า
    • • จากขาดการเคลื่อนไหวร่างกายจึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวเคลื่อนตัวช้า
    • • จากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือการไม่มีเวลาพอในการขับถ่ายจึงส่งผลถึงการทำงานของลำไส้ลดการบีบตัวลง
    • สาเหตุที่พบได้แต่น้อยคือ
    • • มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อลำไส้และ/หรือประสาทลำไส้ จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวลดลงกากอาหาร/อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้าลงเช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆเช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำและไตวาย
    • • มีโรคของระบบประสาท จึงส่งผลถึงการทำงานเคลื่อนไหวบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลดลงเช่น โรคหลอดเลือดสมองโรคเนื้องอก/มะเร็งของสมอง หรือของไขสันหลัง
    • • โรคของกล้ามเนื้อเองจึงส่งผลให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวลดลงเช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma)
    • • กินยาบางชนิดที่ลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาคลายเครียดบางชนิดยาโรคกระเพาะอาหารบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิดหรือยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ
    • • โรคของลำไส้เองก่อให้เกิดการอุดกั้นลำไส้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • แนวทางการรักษาอาการท้องผูกที่สำคัญคือการเพิ่มมวลอุจจาระและทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มเคลื่อนที่ได้ง่ายซึ่งคือการกินอาหารมีใยอาหารสูง(ผักผลไม้ธัญพืชถั่วต่างๆ) และดื่มน้ำสะอาดวันละมากๆเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม(เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) อย่างน้อยวันละ8 - 10 แก้วและเคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอ
    • ถ้าอาการท้องผูกยังคงมีอยู่ไม่ดีขึ้นหลังปรับเปลี่ยนอาหารดื่มน้ำ และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายอาจใช้ยาแก้ท้องผูกโดยปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอถ้าซื้อยากินเอง
    • เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกนานเกิน5 - 7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพราะการใช้ยาแก้ท้องผูกบ่อยๆจะยิ่งกลับมาท้องผูกมากขึ้นและต้องเพิ่มปริมาณใช้ยามากขึ้นจนอาจก่ออันตรายได้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ปวดท้อง
    • นอกจากนั้นคือการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเช่นรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเป็นสาเหตุของท้องผูก เป็นต้น
    • โดยทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากอาการท้องผูก นอกจากความไม่สุขสบายนอกจากนั้นคือเกิดโรคริดสีดวงทวารจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำและ/หรืออาจเกิดแผลแตกรอบๆทวารหนัก (แผลรอยแยกขอบทวารหนัก) จากก้อนอุจจาระที่แข็งกดครูด
    • แต่ในบางครั้งเมื่อท้องผูกเรื้อรังมากจนก้อนอุจจาระแข็งมากอาจก่ออาการลำไส้อุดตันได้(ปวดท้องมากรุนแรง อาเจียนมากไม่ผายลม) ซึ่งเป็นอาการที่ควรต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน
    • โดยทั่วไปอาการท้องผูกไม่รุนแรงเมื่อปรับพฤติกรรมการกิน/ดื่มน้ำและเคลื่อนไหวออกกำลังกายเพิ่มขึ้น อาการท้องผูกจะหายไปเองแต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วยดังนั้นเมื่อเกิดอาการท้องผูกโดยไม่เคยเป็นมาก่อนและอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองภายใน1 - 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแต่เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ภายใน5 - 7 วันหลังใช้ยาเพื่อหาสาเหตุและเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาแก้ท้องผูกถ้าใช้ยานานกว่านี้ดังกล่าวแล้ว
    • การดูแลตนเองเมื่อท้องผูก เช่นเดียวกับการป้องกันท้องผูกคือ
    • • กินอาหารมีใยอาหารสูงในทุกมื้ออาหาร
    • • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
    • • เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอไม่นั่งๆนอนๆ
    • • ผ่อนคลายอารมณ์ลดความเครียด ลดความกังวล
    • • ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก และมีเวลาให้ในการขับถ่ายไม่รีบเร่ง
    • • ไม่กลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัยเมื่อปวดถ่ายควรรีบเข้าห้องน้ำเสมอ
    • • ควรปรึกษาแพทย์เรื่องท้องผูกโดยไม่ควรใช้ยาแก้ท้องผูกเองแต่ถ้าจะใช้ยาแก้ท้องผูกเองควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
    • • ควรพบแพทย์เมื่อ
    • ◦ ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วยังท้องผูก
    • ◦ ใช้ยาแก้ท้องผูก ประมาณ5 - 7 วันแล้วท้องผูกยังไม่ดีขึ้น
    • ◦ ท้องผูกเกิดโดยไม่เคยมีอาการมาก่อน
    • ◦ มีอาการท้องผูกเรื้อรังนานเกิน1 สัปดาห์
    • ◦ ท้องผูกสลับท้องเสียโดยไม่เคยเป็นมาก่อนเพราะเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • ◦ อุจจาระมีลักษณะเล็กแบนเหมือนริบบิ้นเพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจมีลำไส้ใหญ่ตีบซึ่งอาจจากมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่
    • ◦ มีเลือดออกหลังอุจจาระบ่อยเพราะอาจเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวาร หรือมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • ◦ กังวลในอาการ
    • • ควรรีบพบแพทย์หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อท้องผูกร่วมกับ
    • ◦ ปวดเบ่งมากเมื่อถ่าย
    • ◦ ปวดท้องมากและ/หรือคลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาจเป็นอาการของ ลำไส้อุดตัน
    • ◦ อุจจาระเป็นเลือด