กระดานสุขภาพ

การเบ่งอุจจาระ กับ Reverse Kegel
Watc*****4

20 กรกฎาคม 2560 12:56:17 #1

อยากทราบว่าการเบ่งอุจจาระนั้นมีผลเสียต่อร่างกายอะไรไหม

ส่วน Excercise:Reverse Kegel นั้นคืออะไร วิธีการมันเป็นยังไง หาข้อมูลภาษาอังกฤษอ่านแล้วไม่รู้เข้าใจถูกรึเปล่า

อายุ: 21 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 56 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.93 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

23 กรกฎาคม 2560 18:01:31 #2

การต้องเบ่งอุจจาระ ต้องประเมินว่าเกิดจากสาเหตุใดค่ะ ส่วนมากมักจะเกิดจากการมีภาวะท้องผูก ทำให้อุจจาระมีลักษณะแข็ง ทำให้ต้องใช้แรงในการเบ่งเพื่อขับถ่าย ดังนั้นควรแก้ไขที่อาการท้องผูกค่ะ
ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ได้แก่ อาการไม่ถ่ายอุจจาระตามปกติ ซึ่งโดยคำนิยามทางการแพทย์ ท้องผูก หมายถึงความผิดปกติทั้งจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งต้องน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะของอุจจาระต้องแห้ง แข็ง การขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งหรือใช้มือช่วยล้วง และภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด

ปัจจัยต่อการเกิดอาการท้องผูกที่พบบ่อยคือ

  • กินอาหารมีกากใยต่ำ (กินผักผลไม้น้อย)
  • ดื่มน้ำน้อย
  • ขาดการเคลื่อนไหวร่างกายและ/หรือการออกกำลังกาย
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว ทำให้ต้องจำกัดการออกแรงและ/หรือการออกกำลังกาย หรือโรคส่งผลต่อประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • กินยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน
  • โรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ดังกล่าวแล้ว

แนวทางการรักษาอาการท้องผูกที่สำคัญคือ การเพิ่มมวลอุจจาระและทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มเคลื่อนที่ได้ง่าย ซึ่งคือ การกินอาหารมีใยอาหารสูง (ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ) และดื่มน้ำสะ อาดวันละมากๆเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม (เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว และเคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอ
ถ้าอาการท้องผูกยังคงมีอยู่ไม่ดีขึ้นหลังปรับเปลี่ยนอาหาร ดื่มน้ำ และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย อาจใช้ยาแก้ท้องผูกโดยปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ ถ้าซื้อยากินเอง
เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกนานเกิน 5 - 7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะการใช้ยาแก้ท้องผูกบ่อยๆจะยิ่งกลับมาท้องผูกมากขึ้นและต้องเพิ่มปริมาณใช้ยามากขึ้นจนอาจก่ออันตรายได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน มวนท้อง ปวดท้อง

นอกจากนั้นคือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเป็นสาเหตุของท้องผูก เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อท้องผูก เช่นเดียวกับการป้องกันท้องผูกคือ

  • กินอาหารมีใยอาหารสูงในทุกมื้ออาหาร
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอไม่นั่งๆนอนๆ
  • ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด ลดความกังวล
  • ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา ควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก และมีเวลาให้ในการขับถ่ายไม่รีบเร่ง
  • ไม่กลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย เมื่อปวดถ่ายควรรีบเข้าห้องน้ำเสมอ
  • ควรปรึกษาแพทย์เรื่องท้องผูกโดยไม่ควรใช้ยาแก้ท้องผูกเอง แต่ถ้าจะใช้ยาแก้ท้องผูกเอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
  • ควรพบแพทย์ เมื่อ
  • ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วยังท้องผูก
  • ใช้ยาแก้ท้องผูก ประมาณ 5 - 7 วันแล้วท้องผูกยังไม่ดีขึ้น
  • ท้องผูกเกิดโดยไม่เคยมีอาการมาก่อน
  • มีอาการท้องผูกเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์
  • ท้องผูกสลับท้องเสียโดยไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • อุจจาระมีลักษณะเล็กแบนเหมือนริบบิ้น เพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่า อาจมีลำไส้ใหญ่ตีบ ซึ่งอาจจากมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่
  • มีเลือดออกหลังอุจจาระบ่อย เพราะอาจเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวาร หรือมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • กังวลในอาการ
  • ควรรีบพบแพทย์หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อท้องผูกร่วมกับ
  • ปวดเบ่งมากเมื่อถ่าย
  • ปวดท้องมาก และ/หรือคลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาจเป็นอาการของ ลำไส้อุดตัน
  • อุจจาระเป็นเลือด

การขมิบช่องทวารเบา หรือ ช่องคลอด (ในผู้หญิง) คือการออกกำลังกล้ามเนื้อของอุ้งเชิงกราน ที่เป็นส่วนควบคุมหูรูดของช่อง/ปากทวารเบา และปากช่องคลอด (ในสตรี) ให้แข็ง แรง กระชับ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ทั้งในหญิงและในชาย และช่วยป้องกัน และช่วยชะลอการเกิดอาการในคนที่ยังไม่มีอาการนี้

Excercise:Reverse Kegel

การขมิบช่องทวารเบา ให้ผลดีทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย สามารถปฏิบัติได้ในทุกโอกาส ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งในขณะนั่ง นอน ยืน ไม่จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับการหายใจ ทำได้บ่อย ไม่มีข้อจำกัด และยังไม่มีรายงานการเกิดโทษ แต่ต้องทำอย่างน้อย วันละ 3 ช่วงเวลา เช้า กลางวัน เย็น แต่ละช่วงเวลาพยายามทำให้ได้ประมาณ 8-10 ครั้ง

วิธีขมิบช่องทวารเบา หรือ ออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เป็นวิธีการที่ง่ายมาก ไม่ซับ ซ้อน ทำได้ทุกคน

  • การเริ่มต้นคือ ต้องรู้ก่อนว่า จะขมิบอย่างไร ซึ่งวิธีเรียนรู้ คือ ให้คุณเข้าห้องน้ำ แล้วปัสสาวะ เมื่อเริ่มปัสสาวะได้ระยะสั้นๆ ให้กลั้นปัสสาวะไว้ “นั่นคือ การขมิบ” หรือ การออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือ หูรูดของช่องทวารเบา ปากช่องคลอดและปากทวารหนัก
  • เมื่อรู้ความรู้สึกและวิธีการแล้ว ต่อไปจะเริ่มขมิบเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องสัมพันธ์กับการปัสสาวะ มีบางท่านแนะนำให้ปัสสาวะก่อนบริหาร แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ยกเว้น คุณอยากถ่ายปัสสาวะ
  • ให้คุณขมิบ แล้วค้างไว้ นับ 1 ถึง 10 หรือเท่าไหร่ก็ได้ที่ทนได้ แล้วค่อยๆคลายออกช้าๆโดยนับ 1 ถึง 10 หรือเท่ากับตอนที่ขมิบ ในระยะแรกคุณอาจขมิบนับได้เพียงถึง 3-4 แต่เมื่อขมิบเป็นประจำ คุณจะขมิบได้นานขึ้น
  • หลังจากคลายการขมิบ พักทิ้งช่วงประมาณ 5-10 วินาที แล้วเริ่มขมิบใหม่ วนเป็นรอบไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ อาจประมาณ 5-10 รอบขมิบ
  • แต่ละวันควรขมิบอย่างน้อย 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน เย็น แต่ทำบ่อยเท่าไรก็ยิ่งดี

ทั้งนี้ การขมิบควรทำไปตลอดชีวิต และจะเริ่มสังเกตเห็นการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้นหลัง จากขมิบได้ต่อเนื่อง นานประมาณตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ที่ดีขึ้นชัดเจนคือ การฝึกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การขมิบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในผู้หญิง จะช่วยป้องกันภาวะมดลูกหย่อน (กะบังลมหย่อน) และยังช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศในขณะมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในผู้ชาย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการแข็งตัวของอวัยวะเพศในขณะมีเพศสัมพันธ์ รวม ทั้งในการหลั่งน้ำอสุจิ