กระดานสุขภาพ

อยากให้แฟนกินยาคุมแบบเดือน
Game*****1

29 ธันวาคม 2561 14:19:15 #1

พอรู้ข้อมูลการใช้มาบ้างแต่อยากทราบว่าหากแฟนผมกินแล้วต้องกินตลอดไปเลยหรือป่าวแล้วหลังเลิกกินแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ไหมแล้วมีโอกาสตั้งครรภ์ไหม
อายุ: 20 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 69 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.34 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

31 ธันวาคม 2561 05:42:12 #2

เรียน คุณเมทินี

เรียน คุณ Games2541,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาคุมกำเนิดให้เหมาะสม

ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่ามีข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดรับประทานชนิดรายเดือนหรือไม่ เช่น

    • - โรคมะเร็งเต้านมหรือรังไข่
    • - โรคไมเกรนชนิดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา
    • - โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือด
    • - โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน
    • - โรคตับหรือตับอักเสบ ฯ

พิจารณาคัดเลือกตัวยาให้เหมาะสมกับรูปแบบของฮอร์โมนเพศแต่ละบุคคล

1. ผู้ที่มีฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนเด่นชัด มักมีรูปร่างอกเอวชัดเจน ผิวค่อนข้างแห้งหรือผิวผสม รูขุมขนค่อนข้างเล็ก ละเอียด เส้นขนจางหรือเส้นเล็ก รูปแบบการมีประจำเดือนมักมาในช่วงห่าง 28-35 วัน ประจำเดือนมาปริมาณค่อนข้างมาก (อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยหลายแผ่นต่อวัน) และมาติดต่อกันนาน อยู่ในช่วง 5-7 วัน

ถ้าเป็นแบบนี้ แพทย์จะเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนค่อนข้างต่ำ เช่น 15-20 ไมโครกรัม เพื่อให้เกิดสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย

2. ผู้ที่มีฮอร์โมนเพศโปรเจสโตรเจนเด่นชัด มักมีรูปร่างอกเอวไม่ชัดเจน รูปร่างค่อนข้างตรง ผิวมัน หน้ามัน เป็นสิวง่าย รูขุมขนค่อนข้างกว้าง ขนเส้นใหญ่ รูปแบบการมีประจำเดือนมักมาในช่วงนานกว่า 35 วัน ประจำเดือนมาปริมาณค่อนข้างน้อย และมักมาน้อยวัน เช่น 2-3 วัน

ถ้าเป็นรูปแบบนี้ แพทย์มักแนะนำให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่นชัด เช่น 20-30 ไมโครกรัม เพื่อให้เกิดสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย

จากข้อมูล สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านว่ายาคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับรูปแบบฮอร์โมนเพศของร่างกายแบบใด การรับประทานยาคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ เช่น หากเลือกชนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน หรือเมื่อรับประทานยาผิดพลาดคลาดเคลื่อน โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก็จะสูงขึ้นได้

หากรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนสูงเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านมได้ หรือเมื่อมีประจำเดือนก็อาจมีอาการปวดมากกว่าปกติ ประจำเดือนมามากกว่าปกติได้

เมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดรายเดือนที่เหมาะสมแล้ว ร่างกายก็จะค่อย ๆปรับตัว ให้มีรอบประจำเดือนเป็น 28 วันทุกเดือน ทั้งนี้ต้องไม่ใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นใดร่วมด้วย โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
การออกฤทธิ์ของตัวยาคือยับยั้งไม่ให้มีไข่ตก ตัวยาจะออกฤทธิ์แบบเม็ดต่อเม็ด แผงต่อแผง เมื่อหยุดหรือเลิกรับประทานยา โอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมครับ

ส่วนประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด หากรับประทานยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์จะน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ครับ

ขอแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานยาคุมกำเนิดให้ถูกต้องนะครับ

1. รับประทานยาอย่างถูกต้อง สมำ่เสมอ เวลาที่รับประทานยาไม่ควรคลาดเคลื่อนเกิน +/- 1 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับยาในเลือดค่อนข้างคงที่ตลอดวัน และป้องกันการลืมรับประทานยา

ควรรับประทานยาเวลาก่อนเข้านอน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ท้องค่อนข้างว่าง และป้องกันการเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการับประทานยา

2. รับประทานยา "ทุกชนิด" ด้วยน้ำเปล่าสะอาดเท่านั้น (ยกเว้น แต่ว่าแพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำเป็นเครื่องดื่มอื่น) เนื่องจากเครื่องดื่มบางชนิดจะทำให้ตัวยามีการละลายลดลง ตัวยาตกตะกอน ร่างกายไม่สามารถดูดซึมยาได้ เช่น ชา (ชาขาว ชาเขียว ชาแดง) กาแฟ โกโก้ ชอคโกแลต นม (รวมถึงโยเกิร์ต) น้ำเต้าหู้ โซดา น้ำอัดลม ฯ หรือน้ำผลไม้บางชนิดจะกระตุ้นให้ตับที่เป็นแหล่งในการเผาผลาญ กำจัดยา สร้างเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้กำจัดยาได้เพิ่มมากขึ้น หรือเร็วขึ้น เช่น น้ำเกรปฟรุต (ผลไม้จำพวกเดียวกับส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล หรือน้ำแครนเบอร์รี่ เป็นต้น
3. ไม่ควรลืมรับประทานยา เนื่องจากยาคุมกำเนิดเป็นชนิดฮอร์โมนต่ำ เมื่อลืมรับประทานยาเกิน 2 วัน โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก็จะใกล้เคียงกับเมื่อไม่ได้รับประทานยาคุมกำเนิดมาก่อน

4. "ก่อน" การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านทุกครั้ง เนื่องจากตัวยาอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน หรือที่เรียกง่าย ๆว่า "ยาตีกัน" จนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หรือไม่ได้รับผลการรักษาจากยาที่ใช้ร่วมด้วยได้

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นใด สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆเพิ่มเติม หรืออาจช้าเกินไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หรือไม่ได้รับผลจากการรักษาได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม