กระดานสุขภาพ

สอบถามค่ะ
FMTU*****D

23 ตุลาคม 2561 07:41:05 #1

คือว่า จะทานยาคุมเพื่อคุมกำเนิด และปรับฮอรโมนด้วยอ่ะค่ะ แล้วเริ่มเมื่อวันที่5ของการมีประจำเดือนแล้ว จะทานของ เมอซิลอน28 ต้องมานแบบไหน เริ่มเม็ดไหน ยังไงคะ
อายุ: 25 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 57 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.44 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

31 ตุลาคม 2561 07:01:54 #2

เรียน คุณ FMTUTD,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอแนะนำว่าการเลือกประเภทของยาคุมกำเนิดนั้น ยาที่แพงก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไปนะครับ แพทย์จะพิจารณาคัดเลือกประเภทของยาคุมกำเนิดตามระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย สังเกตเบื้องต้นจากรูปร่างและรูปแบบการมีประจำเดือน โดยที่

- มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่นชัด มักมีรูปร่าง อกเอวชัดเจน ผิวค่อนข้างแห้งหรือผสม รูขุมขนค่อนข้างเล็ก เส้นขนบางหรือสีจาง รูปแบบการมีประจำเดือน ระยะเวลาของรอบเดือนมักอยู่ในช่วง 28-35 วัน ปริมาณ มักมาปริมาณค่อนข้างมาก (อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ หลายแผ่น) จำนวนวันของรอบเดือนอยู่ในช่วง 5-7 วัน

ถ้าเป็นแบบนี้แพทย์มักพิจารณาคัดเลือกยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำ หรือมีปริมาณฮอร์โมนโปรเจสตินสูง เพื่อให้เกิดความสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย (ตัวยา M... ของคุณอยู่ในประเภทนี้)

- มีปริมาณฮอร์โมนโปรเจสตินเด่นชัด มักมีรูปร่างค่อนข้างตรง อกเอวไม่ชัดเจน ผิวค่อนข้างมัน รูขุมขนกว้าง เป็นสิวง่าย เส้นขนดกหรือมีสีเข้ม ระยะเวลาของรอบเดือนมักนานเกินกว่า 35 วัน ปริมาณมักไม่ค่อยมาก (อาจเปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ 1-2 แผ่นก็พอ) จำนวนวันของรอบเดือนมักมาน้อยวัน 2-3 วัน

ถ้าเป็นแบบนี้แพทย์มักพิจารณาคัดเลือกยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนเด่นชัด หรือมีตัวยาที่ต่อต้านกับฮอร์โมนโปรเจสติน เพื่อให้เกิดสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย

จากข้อมูลที่ให้ไป ลองพิจารณาดูนะครับว่าตัวยาเหมาะสมกับรูปแบบของฮอร์โมนเพศแบบใด เนื่องจากการรับประทานยาคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้ เช่น เป็นสิวมากขึ้น เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด เป็นต้น

กลับมาที่คำถามของคุณ โดยหลักการจะให้รับประทานยาคุมกำเนิดรายเดือน ตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน (หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน) เพื่อให้ตัวยาสามารถยับยั้งไม่ให้มีไข่ตกได้ตั้งแต่รับประทานยาเม็ดแรกครบ 24 ชั่วโมง

ยาคุมกำเนิดที่คุณสอบถามมานั้น จะเป็นตัวยา 21 เม็ด บวกกับเม็ดแป้ง/วิตามินอีก 7 เม็ด (จะมีขนาดเล็กกว่า) การรับประทานยานั้น รับประทานเม็ดยาเม็ดแรก ให้ตรงวันที่ 1 ของแผงยา (ซึ่งอาจไม่ตรงกับปฏิทิน) และควรรับประทานตามลูกศร เพื่อเป็นการช่วยเตือนความจำว่าได้รับประทานยาไปแล้วอย่างถูกต้อง

จากนั้น เมื่อรับประทานยาครบ 28 วัน ก็ให้รับประทานยาแผงใหม่ได้ทันที เริ่มจากวันที่ 1 ของแผงยา โดยไม่ต้องสนใจว่าประจำเดือนจะหมดแล้วหรือไม่ และปฏิบัติตามนี้ไปเช่นเดียวกันกับแผงต่อๆไป

การรับประทานยาแบบนี้ ก็จะช่วยปรับรอบประจำเดือนให้เป็น 28 วัน ในทุกๆเดือน หากไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด ก็สามารถรับประทานยาติดต่อกันไปได้ แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดประจำเดือนมามากกว่าปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน (แม้จะผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว) มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ฯ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

ขอแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานยาคุมกำเนิดรายเดือน

- รับประทานยาสม่ำเสมอทุกคืน เพื่อให้ระดับยาสม่ำเสมอตลอดวัน โดยที่เวลาคลาดเคลื่อนไม่ควรเกิน +/- 1 ชั่วโมง และยังช่วยป้องกันการลืมรับประทานยา การรับประทานยาก่อนเข้านอน จะช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ได้

- รับประทานยา "ทุกชนิด" ด้วยน้ำเปล่าสะอาดเท่านั้น (ยกเว้นว่าแพทย์หรือเภสัชกรจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น) เนื่องจากเครื่องดื่มบางชนิดอาจทำให้ตัวยาตกตะกอน การละลายลดลง ร่างกายไม่สามารถดูดซึมตัวยาได้ เช่น ชา (ชาเขียว ชาขาว ชาแดง) กาแฟ โกโก้ นม (รวมถึงโยเกิร์ตพร้อมดื่ม) น้ำนมถั่วเหลือง โซดา น้ำอัดลม ฯ หรือน้ำผลไม้บางชนิดอาจทำให้ตับที่เป็นแหล่งเผาผลาญหรือกำจัดยา ผลิตเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้กำจัดยาเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงกำจัดยาได้มากหรือเร็วขึ้น เช่น น้ำเกรปฟรุต (จำพวกเดียวกับส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล น้ำแครนเบอร์รี เป็นต้น

- "ก่อน" การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกคร้้ง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา หรือเรียกง่าย ๆว่า "ยาตีกัน" หรืออาจได้รับยาซ้ำซ้อน (ตัวยาเดียวกันแต่คนละยี่ห้อ หรือคนละชื่อการค้า) จนเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกรประจำสถานพยาบาลได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลอื่น ๆเพิ่มเติม เช่น การวินิจฉัยโรค ภาวะการทำงานของตับหรือไต ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่น ๆที่ใช้ร่วมกัน เป็นต้น หรืออาจช้าเกินไป ไม่ท้นเวลา เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม