กระดานสุขภาพ

สอบถามเรื่องการทานยาในกรณีเป็นลมพิษเรื้อรัง
Anonymous

10 ตุลาคม 2559 17:32:41 #1

เริ่มเป็นผื่นลมพิษตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นติดต่อกันมา 3 อาทิตย์ จึงได้เข้าพบแพทย์ค่ะ และได้ทราบว่า เป็นโรคลมพิษเรื้อรัง
หลักจากนั้น แพทย์ได้จ่ายยา Atarax ให้รับประทาน วันละ 1 เม็ด ก่อนนอน เป็นเวลา 2 อาทิตย์
นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุอาการแพ้ และตรวจสอบไวรัสตับอักเสบ ซึ่งผลออกมา คือ ไม่แพ้อะไร และไม่ได้เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ
(ได้สอบถามคุณหมอเพิ่มเติม คุณหมอบอกว่า อาจแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งต้องกินยาตลอด เมื่อมีอาการ สามารถไปซื้อยารับประทานเองได้ )

ดิฉันเองก็เชื่อว่าแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะในช่วง 3 อาทิตย์ที่ได้เป็นติดต่อกันก่อนที่จะเข้าพบแพทย์
ได้ย้ายที่อยู่มา 3 ที่ โดยอยู่อาทิตย์ละที่เลยค่ะ เปลี่ยนการรับประทานทานอาหาร เปลี่ยนน้ำยาซักผ้า สบู่ สภาพแวดล้อม แต่ผื่นก็ยังไม่หายไป

เมื่อรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ครบ2อาทิตย์ อาการก็ดีขึ้น ผื่นหายไป จึงไม่ได้กินยาต่อ และเมื่อกลับไปพบแพทย์ แพทย์บอกว่าโอเคแล้วจึงไม่ได้ไปพบอีก
หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ ผื่นกลับมาอีกแล้วค่ะ จึงได้ซื้อยารับประทานเอง เป็นยา Atarax แบบเดียวกับที่แพทย์จ่ายให้

ปัจจุบัน รับประทานยาเอง มาได้ประมาณ 2 เดือนแล้วค่ะ
โดยเมื่อรับประทานยาแล้ว ผื่นจะหายไป 2 วัน และมีผื่นใหม่ในวันที่ 3 ซึ่งก็จะกินยาเมื่อมีอาการ วนแบบนี้ไปตลอด

อยากทราบว่า
-การรับประทานยาในรูปแบบนี้ จะส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายไหมคะ เช่น เกิดการสะสมในตับ เพราะรับประทานยาค่อนข้างถี่
-มียาชนิดอื่นแนะนำที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่า หรือผลข้างเคียงน้อยกว่า Atarax หรือไม่คะ
-มีข้อแนะนำ และข้อควรระวังในการรับประทานยาชนิดนี้ไหมคะ เช่น ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเท่าไหร่
-มีวิธีอื่นป้องกันการเกิดอาการลมพิษเรื้อรังหรือไม่คะ
-ข้อแนะนำอื่นๆ

อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 40 กก. ส่วนสูง: 152ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

31 ตุลาคม 2559 05:32:14 #2


เรียน คุณ 9ee58,

ขออนุญาตตอบคำถามเป็นข้อ ๆตามที่คุณสอบถามมาครับ
1. ยาบรรเทาอาการแพ้ดังกล่าว ขับออกทางไตนะครับ หากภาวะการทำงานของตับหรือไตเป็นปกติ ก็จะไม่มีการตกค้าง แต่กรณีของคุณที่เป็นผื่นแพ้เรื้อรัง ควรรับประทานยาติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ควบคุมอาการได้ แล้วจึงค่อย ๆปรับลดยาลง
2. ยาในกลุ่มนี้มีมากมายหลายชนิด แต่ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาปรับเลือกใช้ให้เหมาะสมกับภาวะการทำงานของตับหรือไต โรคประจำตัวอื่น หรือยาอื่น ๆที่ใช้ร่วมกัน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน (ยาตีกันกับโรค หรือตีกันกับยา)
3. ขึ้นกับสภาะและความรุนแรงของโรคครับ และภาวะการทำงานของตับหรือไต ดังนั้นหากต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองติดต่อกันนาน โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์
4. วิธีป้องกันดีที่สุด คือหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ คัน ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตว่าเกิดอาการดังกล่าวขึ้่นเมื่อใด หลังได้รับประทานอาหารหรือสัมผัสสารเคมีใด ๆ ควรมีสมุดจดบันทึกรายวัน ระบุเวลา เพื่อให้สะดวกกับการตรวจโรคของแพทย์ หากสะดวก ควรมีการถ่ายรูปผื่นไว้ในโทรศัพท์มือถือ พร้อมวางไม้บรรทัดไว้ จะได้ทราบว่าอาการเป็นมากน้อย วงกว้างขนาดไหน จะได้ทราบรายละเอียดของโรค
สุดท้ายจะพอสังเกตได้จากการจดบันทึกว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ หรือรับประทานอาหารใด

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

โรคภูมิแพ้ (Allergy)
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล
กุมารเวชศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน

ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
แพทย์ผิวหนัง