กระดานสุขภาพ
ขอคำแนะนำด้านการทานยาลดความดัน Amlopine,Conor | |
---|---|
16 มิถุนายน 2559 02:18:47 #1 ผมมีอาการความดันสูง ได้เข้าตรวจรักษาและหมอได้จัดยา Amlopine 10 ขนาด 10 mg. ทานครึ่งเม็ด และทานควบคู่กับ ยา Conor 5 ขนาด 5 mg. ทานมาหลายปีแล้ว (วัดความดันด้วยตัวเองโดยใช้เครื่องแบบพกพา วัดได้ประมาณ 140/90 บางที 138/85 หรือบางครั้งก็ต่ำกว่านี้ แต่หัวใจเต้นถี่ ราวๆ 80-90) ช่วงหลังประมาณเกือบปีแล้วไม่ได้ไปพบหมอเพื่อรับยาทั้งสองตัว แต่ไปซื้อจากร้านขายยามาทาน แต่บางครั้งก็ลืม (ร้านขายยา มีแค่ Amlopine 10 ขนาด 10 mg ตัวเดียว ส่วน conor บอกหายากไม่ค่อยนำมาขาย) ปัจจุบันก็ออกกำลังกายมากขึ้น แล้วก็ควบคุมการทานอาหารตามหมอสั่ง แต่ที่แก้ไม่หายคือ ชอบนอนดึกประมาณเที่ยงคืน อยากเรียนถามดังนี้คับ - การทานยาทั้งสองตัวไปนานๆมีผลข้างเคียงอะไรมั๊ยครับ (เช่นผลต่อการนอน เป็นคนนอนหลับยาก) - ถ้ายังต้องทานยาต่อไป สามารถทาน Amlopine 10 ขนาด 10 mg ตัวนี้ตัวเดียวได้หรือเปล่าครับ - ถ้าไม่ทาน Conor จะมีผลอะไรมั๊ยครับ ขอขอบคุณมากครับ |
|
อายุ: 45 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.83 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผลเภสัชกร |
17 มิถุนายน 2559 10:06:59 #2 คำถามนี้คงตอบได้ยากนะครับ เนื่องจากขาดข้อมูลเรื่องการตรวจร่างกาย ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ภาวะการทำงานของตับ/ไตด้วย รวมถึงโรคที่เป็นร่วมด้วย ขอตอบตามประเด็นคำถามเท่าที่มีข้อมูลนะครับ 1. ยาทั้งสองตัวหากมีความจำเป็นต้องรับประทานไปตลอดชีวิตนะครับ เนื่องจากพบว่าหากไม่ได้รับประทานยา จะมีอัตราตายสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานยา และตัวยาทั้งสองตัวมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ไม่มีการตกค้างภายในร่างกาย หากมีการทำงานของตับ/ไตเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ตัวยา amlodipine เป็นยาในกลุ่มต้านแคลเซียม มีข้อบ่งใช้สำหรับโรคความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจขาดเลือด กลไกการออกฤทธิ์คือยับยั้งไม่ให้แคลเซียมเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อหลอดเลือด จึงคลายตัว ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ กลไกการออกฤทธิ์คือต้านกับตัวรับเบต้า ช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว และลดการทำงานหนักของหัวใจ 2. และ 3. ต้องขึ้นกับแพทย์ผู้ตรวจนะครับ และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ มีหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตันร่วมด้วย เป็นต้น ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้เกินเท่าใด แต่จากข้อมูลที่ให้มายังคงค่อนข้างสูงนะครับ หากมีปัจจัยเสี่ยงด้วย ยิ่งต้องควบคุมให้ระดับลดลงอีก ให้อยู่น้อยกว่า 130/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นการดีที่คุณมีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น แต่ควรควบคุมอาหารร่วมด้วย เน้นผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด งดอาหารเค็ม (เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไตอีกหนึ่งโรคด้วย นอกจากทำให้ความดันโลหิตสูง) รับประทานโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่เอาหนัง ส่วนแป้งเน้นที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ส่วนเรื่องการนอน ควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และไม่ควรเข้านอนดึกเกิน 23.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่ต่อมใต้สมอง มีการหลั่งฮอร์โมน Growth Hormone ที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ลดการเสื่อมสลายของคอลลาเจน เพิ่มการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง มีการเรียบเรียงความจำเข้าสู่สมองส่วนกลาง นอกจากนี้การเข้านอนดึก หรืออดนอน ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด จะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล จากต่อมหมวกไต ทำให้เกิดสะสมเกลือโซเดียม (ความดันโลหิตสูง) น้ำตาล (เบาหวาน/ไขมันในเลือดสูง) ดึงแคลเซียมจากกระดูก (กระดูกบาง/พรุน) จึงควรปรับพฤติกรรมสุขภาพร่วมด้วย เพื่อช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตสูง เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่ ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) |
Mist*****n |
20 มิถุนายน 2559 00:55:34 #3 ขอบคุณมากครับ |
Mist*****n