กระดานสุขภาพ

การทานยา (ยาแก้อักเสบ)
Chuk*****

6 กุมภาพันธ์ 2559 12:52:57 #1

กินยาก่อนอาหารในแต่ละวันไม่ตรงกันเป็นอะไรไหม ครับ
อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 120 กก. ส่วนสูง: 177ซม. ดัชนีมวลกาย : 38.30 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

10 กุมภาพันธ์ 2559 02:51:34 #2

คำถามสั้น ๆแต่ตอบได้ยากนะครับ คงต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ

- สาเหตุที่คุณรับประทานไม่ตรงเวลาทุกวัน - เนื่องจากไม่สะดวกกับเวลา ไม่อยากรับประทานยา ไม่อยากรักษาให้หายขาด หรือเป็นโรคที่คิดว่าไม่มีทางรักษาให้หายขาด จึงหมดกำลังใจในการรับประทานยา

หากเป็นด้วยสาเหตุเรื่องไม่สะดวก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อปรับเปลี่ยนเวลาให้สะดวกกับการปฏิบัติ
แต่หากเป็นด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งต้องปฏิบัติให้ตรงตามเวลาและคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์จากยาสูงสุด และอันตรายจากการใช้ยาน้อยที่สุด
หรือเป็นจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนมื้ออาหาร จะได้บรรเทาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลงได้ หรือหากเป็นอาการที่รุนแรง ไม่สามารถทนได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาให้สะดวกและเหมาะสมกับอาการของโรคคุณต่อไป

- ยาแก้อักเสบในที่นี้ เข้าใจว่าคุณคงหมายถึงยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อ ที่ไม่ใช่ยาต้านอักเสบ ลดปวด บวมที่ใช้กับอาการปวดข้อ หรือกล้ามเนื้อที่คนทั่วไปมักสับสนในการเรียกชื่อ ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่ใช้ลดปริมาณเชื้อที่ทำให้เกิดโรค จนภูมิต้านทานของร่างกายช่วยกำจัดส่วนที่เหลือออกไปได้ จนหาย มียามากมายหลายกลุ่มนะครับ ที่นิยมใช้กันทั่วไป เช่น เพนิซิลลิน ซัลฟา เตตร้าซัยคลิน และยากลุ่มที่ใช้เมื่อจำเป็น เช่น เซฟาโลสปอรินส์ ควิโนโลน เป็นต้น

การรับประทานยาเพื่อให้ได้ประสิทธิผลที่ดี ควรรับประทานยาให้ได้ตามกำหนด เช่น ถ้าต้องรับประทานยาก่อนอาหาร มักเป็นยาที่อาหารมีผลลดการดูดซึม หรือเป็นยาที่ถูกทำลายได้ด้วยกรดในกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานยาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาได้ถูกดูดซึมไปก่อน

ยาบางชนิดควรรับประทานหลังอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของตัวยา เนื่องจากยาบางรายการละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันสูง หรือละลายได้ดีในภาวะที่เป็นกรด จึงควรรับประทานยาหลังอาหาร หรือยาบางรายการมักทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง การรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้

ส่วนเรื่องจำนวนมื้อที่ต้องรับประทานยาต่อวัน โดยส่วนใหญ่กำหนดจากการที่ระดับยาในเลือดลดระดับลงจนถึงต่ำสุดที่จะออกฤทธิ์ได้ เช่น ยาที่ต้องรับประทานวันละ 4 ครั้ง มักจะออกฤทธิ์ได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง จึงต้องรับประทานยาวันละหลายมื้อ เพื่อให้ระดับยาในเลือดค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดวัน

ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบยา เพื่อให้สะดวกต่อการรับประทานยา จึงสามารถรับประทานยาได้เพียงวันละ 1 - 2 ครั้ง จึงควรรับประทานยาให้ครบทุก 12 ชั่วโมง (สำหรับยาที่รับประทานวันละ 2 ครั้ง) หรือ ทุก 24 ชั่วโมง (สำหรับยาที่รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง) เพื่อให้ระดับยาปฏิชีวนะสม่ำเสมอในกระแสเลือด จะได้ออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เชื้อมีการเจริญเติบโตกลับมาใหม่ หรือสามารถกลายเป็นเชื้อดื้อยาต่อไปได้

จากข้อมูลข้างต้น คงพอทราบถึงผลที่คุณรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ไม่ตรงเวลากันทุกวัน ว่าอาจเกิดผลอย่างใดขึ้นบ้าง โดยทั่วไปมักทำให้อาการติดเชื้อไม่ดีขึ้น หรืออาจเกิดเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา ผลเบื้องต้น คือคุณจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่รุนแรงขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องได้รับยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงขึ้น หรือผลระดับชาติ คือเชื้อที่เกิดการดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนของคุณ กระจายไปทั่วประเทศ

เป็นกำลังใจให้ในการรับประทานยาอย่างถูกต้องครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ (Effective use of antibiotics)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์