กระดานสุขภาพ

Hyperthyroid กับการให้นมบุตร
Aomi*****e

12 มกราคม 2559 06:06:58 #1

ดิฉันอายุ 34-35 ดิฉันและครอบครัวไม่เคยมีประวัติเป็นไทรอยด์เป็นพิษมาก่อน
ตอนนี้คลอดน้องมาได้ 6 เดือนให้นมแม่มาตลอด เพิ่งตรวจเจอว่าเป็น hyperthyroid หมอให้เลือกว่าจะให้นมแม่ต่อไปมั้ย ถ้าให้ก็กินยา ptu แต่ถ้าจะหยุดให้นมแม่ก็กิน mmi
ตอนนั้นเลือกที่จะหยุดให้นมลูกเพราะครบ 6 เดือนแล้วและยังมีนมสต๊อกอีกเดือนกว่าๆ หมอจึงให้ mmi. มาและเริ่มกินได้ 3วันแล้วค่ะ
แต่ 2-3 วันมานี้ ไม่มีความสุขเลย อยากปั๊มนมให้ลูก

ไม่ทราบว่าจะสามรถเปลี่ยนยามาเป็น ptu. เพื่อให้นมลูกต่อได้มั้ย และจะมีผลอะไรต่อลูกมั้ยคะ

อายุ: 35 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 49 กก. ส่วนสูง: 164ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.22 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

13 มกราคม 2559 10:40:47 #2

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขออนุญาตให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวยาที่ใช้ต้านฮอร์โมนธัยรอยด์ คือ

1. Propylthiouracil หรือ เรียกย่อ ๆว่า PTU. ความแรงของตัวยา 50 มิลลิกรัม คุณสมบัติ โมเลกุลตัวยาค่อนข้างใหญ่ ยับยั้งไม่ให้ฮอร์โมนธัยรอยด์เปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างน้อย
ข้อบ่งใช้ สำหรับภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานเกินหรือธัยรอยด์เป็นพิษขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง
ขนาดยาที่แนะนำ คือให้โดยการรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน เริ่มต้นครั้งละ 200-600 มิลลิกรัม ขนาดที่ใช้ควบคุมอาการ คือ 50-200 มิลลิกรัม

ข้อห้ามใช้ ผู้ป่วยโรคหลอดลมตีบ

ข้อควรระวัง ผู้ป่วยโรคไตบกพร่อง หรือหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - ผื่น คัน ปวด/มึนศีรษะ วิงเวียน ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ค่าการทำงานของตับเปลี่ยนแปลง ปวดตามข้อ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเปลี่ยนแปลง เม็ดเลือดขาวลดต่ำลง อาจเกิดภาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ข้อดี คือ ยามีค่าครึ่งชีวิตค่อนข้างสั้น คือ 1-2 ชั่วโมง สามารถหยุดยาได้เร็ว หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือแพทย์อาจพิจารณาเก็บน้ำนมก่อนที่จะให้ยามื้อต่อไป เนื่องจากขนาดโมเลกุลยาค่อนข้างใหญ่ และผ่านออกทางน้ำนมได้ค่อนข้างน้อย

2. Methimazole หรือตัวย่อ คือ MMI. มีความแรงตัวยาต่อเม็ด 5 มิลลิกรัม คุณสมบัติโมเลกุลค่อนข้างเล็ก จับกับต่อมธัยรอยด์ได้เร็วและนาน ค่าครึ่งชีวิตประมาณ 12 ชั่วโมง

ข้อบ่งใช้ สำหรับภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานเกินหรือเป็นพิษ ขั้นปานกลาง-รุนแรง หรือใช้ลดขนาดของต่อมธัยรอยด์ก่อนการผ่าตัด หรือในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

ขนาดที่ใช้ ให้โดยการรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด
ขนาดยาเริ่มต้น 15-60 มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ขนาดที่ใช้ควบคุมอาการ คือ 5-15 มิลลิกรัม ต่อวัน

ข้อห้ามใช้ ผู้ที่แพ้ยานี้หรือหญิงให้นมบุตร

ข้อควรระวัง หญิงมีครรภ์หรือภาวะตับทำงานบกพร่อง หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - คล้ายกับ PTU. แต่อาจพบอาการผื่น คันได้น้อยกว่า เนื่องจากมักขึ้นกับขนาดของยาที่ใช้

ข้อดี คือยาออกฤทธิ์ได้แรงและเร็ว เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะธัยรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง สามารถปรับเป็นวันละ 1 ครั้ง ได้ เนื่องจากมีค่าครึ่งชีวิตนาน 12 ชั่วโมง

ดังนั้นการจะปรับเปลี่ยนเป็นยาชนิดใดนั้น ต้องขึ้นกับสภาวะร่างกายและความรุนแรงของโรค ภาวะการทำงานของตับหรือไต โรคร่วม หรือยาที่ใช้ร่วมกัน แนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์ที่่ทำการรักษาคุณจะดีกว่านะครับ หากแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนยา อาจต้องมีการเว้นช่วงเพื่อให้ร่างกายกำจัดยา MMI. ออกไปจนเกือบหมดก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ประมาณ 4 เท่าของค่าครึ้่งชีวิต หรือประมาณ 48-72 ชั่วโมง ซึ่งหากมีอาการรุนแรง มักไม่แนะนำให้หยุดยาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดภาวะธัยรอยด์เป็นพิษกำเริบขึ้นได้

เป็นกำลังใจให้ครับ
เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่


http://haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%8C/