กระดานสุขภาพ

ยายูนีซันและยาเหน็บกลีเซอรีน
Nono*****7

5 มกราคม 2556 14:49:11 #1

1.อยากทราบว่าการใช้ยายูนีซันและยาเหน็บกลีเซอรีนต่างกันอย่าไรค่ะ(ทานตามสุขบัญญัติ10ประการ)และเน้นผักผลไม้ยังท้องผูกเช่น4วันถ่ายทีค่ะ

2.ขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ยา2ตัวนี้หน่อยค่ะ

3.อยากทราบว่านมบางชนิดสามารถทำให้ท้องผูกจริงหรือไม่ค่ะ

4.อยากทราบอาการริดสีดวงทวารและอาการท้องผูกเหมือนกันหรือไม่ค่ะพอดีเวลาถ่ายเลือดชอบออกแต่อุจจาระไม่แข็งค่ะ

*ขอบคุณค่ะ*

อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 43 กก. ส่วนสูง: 157ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.44 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Haamor Admin

(Admin)

6 มกราคม 2556 05:07:33 #2

เรียน คุณ nonoon54897

ทางทีมงานขอชี้แจงเรื่องคำถามค่ะ

เนื่องจาก คุณ nonoon54897 ได้ตั้งคำถามหลายข้อที่มีประเด็นแตกต่างกัน ซึ่งคำถามแต่ละข้อจะมีคุณหมอทั้งหมด 2 ท่านมาให้คำตอบ ดังนั้นคุณสามารถติดตามคำตอบได้จากกระทู้นี้เท่านั้นนะค่ะ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

(วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)

6 มกราคม 2556 05:09:00 #3

ตอบข้อ 3,4

3. จริงคะ ทั้งนี้นอกจากขึ้นกับชนิดของนมที่อาจมีบางส่วนผสมที่แตกต่างกัน ยังขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละคนด้วย ดังนั้นแต่ละคน จึงต้องสังเกตเองว่า กินอะไร ปริมาณมากน้อยแค่ไหน แล้วส่งผลให้เกิดอาการอย่างไร แล้วปรับตัวไปตามนั้น

4. ริดสีดวงทวาร และท้องผูก เป็นคนละโรคกัน แต่ท้องผูก เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิด ริดสีดวงทวารได้ และริดสีดวงทวาร ก็อาจเป็นสาเหตุให้ท้องผูกได้ เพราะถ้าอักเสบและก่อให้เกิดอาการเจ็บเวลาอุจจาระ ผู้ป่วยก็อาจกลั้นอุจจาระ จึงเกิดท้องผูกได้ แนะนำคุณอ่าน บทความเรื่อง ริดสีดวงทวาร และเรื่อง ท้องผูก จาก เว็บhaamor.com ของเรา จะได้ช่วยให้คุณเข้าใจทั้ง 2 เรื่อง/โรคเพิ่มขึ้นคะ

อย่างไรก็ตาม ตามที่คุณเล่ามา ถ้าคุณถ่ายอุจจาระเป็นเลือดบ่อย ควรพบแพทย์ เป็นศัลยแพทย์ทั่วไป เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมคะ

 

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

6 มกราคม 2556 16:12:14 #4

ตอบข้อ 1,2

เรียน คุณ nonoon54897

ขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติมที่ว่า 4 วันถ่ายครั้ง

  • เป็นแบบนี้มานานหรือยังครับ
  • ลักษณะของถ่าย เป็นก้อนแข็ง หรือ ว่าถ่ายปกติ
  • การถ่ายมีปวดท้อง หรือปวดหน่วง หรือต้องเบ่งจึงจะออกหรือไม่ครับ
  • สุขบัญญัติ 10 ประการ ช่วยแจ้งรายละเอียดได้ไหมครับ เช่น รับประทานให้ครบ 5 หมู่ รับประทานผัก ผลไม้ มากน้อยขนาดไหน
  • ส่วนใหญ่ชอบผัก ผลไม้ ประเภทใด เนื่องจากผัก ผลไม้บางประเภท มีแต่น้ำ ไม่ค่อยมีกากใย จะได้เพิ่มคำแนะนำให้ถูกต้อง
  • ดื่มน้ำสะอาดมากน้อยเพียงใด

ส่วนเรื่องสาเหตุของอาการท้องผูก แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมจากบทความของอาจารย์พวงทอง นะครับ

http://haamor.com/th/ท้องผูก/

ขอให้ข้อมูลรวม ๆของยาระบายที่มีจำหน่ายนะครับ

ยาระบาย (laxative) เป็นยาที่ใช้เพื่อกำจัดกากอาหาร (defecation) หรืออุจจาระ (feces) ออกจากร่างกาย ส่วนใหญ่จะใช้รักษาโรคท้องผูก (constipation) โดยการกระตุ้น หล่อลื่น และสร้างปริมาณอุจจาระ

คุณสมบัติที่ดีของยาระบาย

  1. ใช้บรรเทาอาการท้องผูกได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
  2. มีผลปรับเปลี่ยนการทำงานของลำไส้ใหญ่ให้กลับสู่ภาวะปกติ
  3. มีผลลดอาการปวดท้องหรืออึดอัดภายในท้องได้
  4. มีผลข้างเคียงต่ำและความปลอดภัยในการใช้สูง
  5. มีความคุ้มค่าในการรักษา หากต้องใช้ยาในระยะยาว

ยาระบายแบ่งเป็นประเภทต่างๆดังนี้

1. เพิ่มปริมาณอุจจาระ (Bulk-forming agents)
ยาออกฤทธิ์ที่ลำไส้เล็ก และ ลำไส้ใหญ่ ช่วงเวลาออกฤทธิ์ 12 - 72 ชม. โดยยาจะเพิ่มการกักเก็บน้ำไว้ภายในอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีมวลมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีปัญหาการอุดตันของระบบทางเดินอาหาร (1) ยานี้จัดว่ามีความปลอดภัยในการใช้สูง เมื่อใช้ยานี้แล้วอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ได้เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อหรือรู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง ตัวอย่างยาเช่น

  • กากอาหารไฟเบอร์ (dietary fiber)
  • สารที่เมื่อถูกน้ำแล้วจะเพิ่มปริมาตรเป็นเจล เช่น psyllium, psyllium hydrophilic mucilloid, polycarbophil

2. ยาประเภททำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (Stool softeners / Surfactants)
ยานี้จะลดแรงตึงผิวระหว่างอุจจาระกับของเหลวภายในลำไส้ใหญ่ นิยมใช้ในผู้ป่วยที่เป็นริดสีดวงทวาร ยาออกฤทธิ์ที่ลำไส้เล็ก และ ลำไส้ใหญ่ ตัวอย่างยาเช่น docusate sodium

3. ยาประเภทหล่อลื่น (Lubricants / Emollient)
ยาออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ ระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ 6-8 ชม. ตัวอย่างยาเช่น mineral oil ผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้คือ ทำให้การดูดซึมไวตามินประเภทที่ละลายในน้ำมัน ได้น้อยลงอาจทำให้ร่างกายขาดไวตามินเหล่านี้ได้

4. ยาประเภทเพิ่มปริมาตรน้ำ (Hydrating agents (osmotics))
ยาออกฤทธิ์ที่ลำไส้เล็ก และ ลำไส้ใหญ่ ระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ 0.5 - 3 ชม. ตัวอย่างยาเช่น monobasic sodium phosphate, dibasic sodium phosphate, magnesium citrate, milk of magnesia, magnesium sulphate และ sodium biphosphate, sodium chloride เข้มข้น (U-Enema หรือ unison enema)

5. ไฮเปอร์ออสโมติก เอเจนต์ (Hyperosmotic agents)
ยาออกฤทธิ์โดยการดึงน้ำเข้ามาที่ลำไส้ใหญ่ ประสิทธิภาพของยาขึ้นกับปริมาณน้ำที่มีภายในทางเดินอาหาร นิยมใช้หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องผ่าตัดลำไส้ หรือฉายภาพรังสี หรือส่องกล้องภายในระบบทางเดินอาหาร ยากลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการอุดตันของ ลำไส้
ยาออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ ระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ 0.5 - 3 ชม. ตัวอย่างยาเช่น ยาเหน็บ (suppositories) glycerin, lactulose, polyethylene glycols, rectal phosphates

6. ประเภทกระตุ้น (Stimulant / Irritant)
ยาสามารถกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในทางเดินอาหารเมื่ อใช้ยานี้อาจทำให้ปวดเกร็งในช่องท้องอย่างมาก หากใช้ยาในขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
ยาออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ ตัวอย่างยาเหล่านี้เช่น bisacodyl, senna (มะขามแขก)

หลักการเลือกใช้ยา

  • ผู้สูงอายุ แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เช่น senna มากกว่ากลุ่มที่เพิ่มปริมาณอุจจาระ เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงในการเกิดการอุดตันของลำไส้ หรือมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่น้อยกว่าประชากรปกติ
  • สตรีมีครรภ์ ไม่แนะนำให้ใช้ยาระบาย หากมีความจำเป็นสามารถเลือกใช้ ยากลุ่มที่เพิ่มปริมาณอุจจาระ โดยให้ยาในช่วงสั้นๆ ไม่แนะนำให้ใช้ senna หรือยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากอาจทำให้มีการคลอดทารกก่อนกำหนดได้
  • เด็ก แนะนำให้ใช้ยาที่เพิ่มปริมาณอุจจาระ หากมีอาการต่อเนื่องยาวนาน อาจพิจารณายาในกลุ่มที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มที่เพิ่มปริมาณอุจจาระ และควรหลีกเลี่ยงยา lactulose และ sorbitol เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถ metabolism ไปเป็น glucoseได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มที่มีผลรบกวนสมดุล อิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย เช่นยาในกลุ่มที่เพิ่มปริมาตรน้ำในทางเดินอาหาร hyperosmotic agents และยาในกลุ่มไฮเปอร์ออสโมติกเอเจนต์ (Hyperosmotic agents) เนื่องจากอาจมีผลกับจังหวะการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยได้
  • ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว หากมีภาวะท้องผูก แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มที่เพิ่มปริมาตรน้ำในทางเดินอาหาร

สรุป

ยาระบายมีทั้งหมด 6 กลุ่ม การพิจารณาเลือกใช้ยานั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย ภาวะโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ หรือความรุนแรงของอาการท้องผูก

ในผู้ป่วยที่จะมีการทำหัตถการหรือถ่ายภาพรังสีของระบบทางเดินอา หาร แนะนำให้ใช้ยาระบายในกลุ่มไฮเปอร์ออสโมติก เอเจนต์ อาจใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน หรือยาเหน็บทวารหนักก็ได้

ในผู้ป่วยเด็ก แนะนำให้ใช้ยาที่เพิ่มปริมาณอุจจาระ หากมีอาการต่อเนื่องยาวนาน อาจพิจารณายาในกลุ่มที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม

ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มที่มีผลรบกวนสมดุล อิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย เช่น ยาในกลุ่มที่เพิ่มปริมาตรน้ำในทางเดินอาหารและยาในกลุ่มไฮเปอร์ ออสโมติก เอเจนต์
ในผู้ป่วยผู้สูงอายุแนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

ส่วนคำแนะนำวิธีใช้โดยทั่วไป

คือ ใช้เมืื่อจำเป็นเท่านั้น หากรู้สึกว่าท้องผูก "ผิดปกติ" หากปกติของคุณคือ 4 วัน ครั้ง ถ้ากลายเป็น 7-10 วัน ต่อครั้ง นั้่นคือ ผิดปกติเพราะคงไม่สามารถบังคับให้ทุกคนถ่ายทุึกวันได้ ยกเว้นจะต้องใช้ยาซึ่งไม่ใช่วิถึธรรมชาติ

1. Glycerin ชนิดเหน็บทวารหนัก ที่ดีควรเก็บยาในตู้เย็น เพื่อให้คงรูปทรงเป็นแท่ง ใช้งานได้ง่าย

  • ก่อนใช้ยาควรฉีกแผงฟอยล์ออก และนำเม็ดยาจุ่มน้ำสะอาด (น้ำประปาก็ใช้ได้ครับ) เล็กน้อย เพื่อช่วยในการหล่อลื่น
  • นั่งยองๆ หรือนอนงอเข่า ค่อย ๆใช้นิ้วคีบเม็ดยาสอดเข้าไปในทวารหนักช้า ๆ เพื่อให้ความร้อนของร่างกายทำให้เม็ดยาหลอมละลาย เพื่อช่วยหล่อลื่นในการสอด
  • ค่อย ๆดันเม็ดยาเข้าไปให้สุด
  • นอนนิ่ง ๆ หรือนอนหลับไปเลยก็ได้ ส่วนใหญ่ตอนเช้ามักจะช่วยให้รู้สึกปวดถ่ายได้

2. ยาสวนทวารหนัก U-Enema 100 ML
ใช้เฉพาะกรณีถ่ายหนักมาก หรือต้องล้างลำไส้ให้สะอาด ก่อนผ่าตัดหรือส่องกล้อง

  • นอนหงาย งอเข่า
  • ค่อยสอดปลายของหลอดยาสวนเข้าไปในทวารหนัก (ส่วนใหญ่จะมีน้ำยาหล่อลื่น ช่วยให้สอดง่าย ไม่เจ็บ)
  • เมื่อปลายหลอดเข้าไปในทวารหนักแล้ว ค่อย ๆบีบน้ำยาเข้าไปในให้หมด นอนหงายนิ่ง ๆไว้ประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง
  • เพื่อให้น้ำยากระตุ้นให้มีน้ำเข้ามาในลำไส้ใหญ่ อุจจาระจะได้นิ่มขึ้น
  • พยายามอั้นถ่ายไว้ก่อน จนกว่าจะรู้สึกทนไม่ไหว จึงจะลุกขึ้นไปถ่าย

 

เป็นกำลังใจให้นะครับ
เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล