กระดานสุขภาพ

การใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์
Ratt*****2

26 ตุลาคม 2555 13:51:16 #1

อยากจะปรึกษาคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญค่ะ ในเรื่องการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ คือปัจจุบันดิฉันตั้งครรภ์ได้ 9 สัปดาห์แล้ว มีเรื่องกังวลใจค่ะ ตอนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองท้อง ดิฉันมีผื่นคันที่คางแล้วก็ได้ใช้ยาทาแก้คัน ชื่อ BETNOVATE-N cream ใช้จนรู้ว่าตัวเองท้องได้ 1เดือนแล้ว จึงเข้าไปSearch ดูชื่อยาซึ่งยานี้จัดอยู่ใน Pregnancy Category C ค่ะ จึงอยากจะทราบรายละเอียดค่ะว่า ทารกในครรภ์ดิฉันจะเป็นอันตรายระดับไหน แล้วจะพิการไหมค่ะ สามารถแก้ไขทันไหม(ยานี้เลือกใช้แล้ว) แล้วควรที่จะไปปรึกษาคุณหมอโดยด่วนเลยไหมค่ะ

อายุ: 30 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 51 กก. ดัชนีมวลกาย : 0.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

27 ตุลาคม 2555 07:15:07 #2

ระหว่างรอคำตอบจากคุณหมอ ขอตอบในส่วนของเภสัชกรนะครับ


ข้อมูลที่คุณให้มา การที่ตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนถึงระดับที่ส่งผลกับทารกได้นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

 

  1. ความกว้างของพื้นที่ที่ทา - คาง น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งร่างกาย
  2. ความแรงของยา betamethasone ซึ่งเป็นตัวยาความแรงปานกลาง
  3. ปริมาณยาที่ทา หากต้องการให้มีผลต่อทั้งร่างกาย ต้องสูงถึงสัปดาห์ละ 100 กรัม
  4. ความถี่ของการทายา มากกว่าปกติ คือ 4 ครั้งต่อวัน
  5. ระยะเวลาการทายาอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
  6. การคลุมทับผิวหนังบริเวณที่ทา หรือ อบไอน้ำ จะทำให้ผิวขยายและดูดซึมตัวยาได้เพิ่มขึ้น

 

จากปัจจัยที่แจ้งไป หากคุณตอบว่า "ไม่" เกินครึ่งหนึ่ง และผิวหนังจะมีการกำจัดยาอีกประมาณ 50% คุณคงพอสบายใจได้ว่า ยาครีมที่ทา ไม่น่าจะได้ระดับสูงเท่าการกินเข้าไปโดยตรง

 

ส่วนที่ทางวิชาการจัดให้ยาอยู่ในประเภท C คืออาจมีผลต่อสัตว์ทดลอง จะเป็นการใช้ที่ระดับสูงกว่าปกติมาก ๆ เช่น 50-100 เท่า และไม่ต้องการให้มีการใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น หรือไม่ได้กำจัดสาเหตุของการแพ้นั้น ๆ ต้องการมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเริ่มใช้ยาดังกล่าว

 

แพทย์ผิวหนัง ก็มักจะเลือกใช้ยาทาก่อนที่จะให้ยารับประทาน ซึ่งส่งผลทั้งร่างกาย ดังนั้น ช่วงนี้คุณควรทำใจให้สบาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีอื่น ๆโดยไม่จำเป็น เช่น สารกำจัดแมลง น้ำยาขัดล้างห้องน้ำ ซึ่งเราใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า

 

ส่วนทารกจะพิการหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ทั้งเรื่องกรรมพันธุ์ อายุของบิดา มารดา การงาน (ต้องสัมผัสสารเคมีบ่อย ๆ) การเลือกรับประทานอาหาร ฯลฯ ซึ่งทางอาจารย์แพทย์ทางสูติ-นรีเวช จะเป็นผู้ให้ข้อมูลได้มากกว่า

 

เป็นกำลังใจให้นะครับ

 

 

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

พ*****

28 ตุลาคม 2555 02:53:25 #3

ยาในกลุ่ม Betamethasone จัดอยู่ใน FDA pregnancy category C สำหรับการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2และ 3 คือ พบว่ายาผ่านรกได้และทำให้เกิดความพิการในสัตว์ทดลอง เท่าที่พอจะทราบคือ ปากแหว่งเพดานโหว่ ผนังหน้าท้องปิดไม่สนิททำให้มีถุงลำไส้ออกมาอยู่นอกท้อง (Omphalocele) แต่ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในมนุษย์ ถือว่ายาอาจจะทำให้เกิดความพิการต่อทารก ดังนั้นถ้่าไม่จำเป็นไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์ แต่สำหรับในไตรมาสที่ 1 ( 3 เดือนแรก) ถือเป็น category D คือยาทำให้เกิดความพิการต่อทารก ไม่ควรใช้ยานี้ยกเว้นมารดามีความจำเป็นอย่างมากคือมีอันตรายถึงชีวิต

 

แต่ขอให้คุณแม่ใจเย็นๆก่อนนะคะ เพราะส่วนใหญ่ความผิดปกติที่บอกมานั้นพบในยารูปแบบกินหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สำหรับยาชนิดทาผิวหนังยังไม่มีรายงานว่าความเข้นข้นของยาที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดนั้นมากเพียงพอจะทำให้เกิดความผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ค่ะ

 

แก้ไขอะไรตอนนี้คงไม่ทันแล้วค่ะ ที่ทำได้ตอนนี้คือ ควรรีบไปฝากครรภ์และเล่าเรื่องการใช้ยานี้ให้คุณหมอฟังด้วย คุณหมอสามารถตรวจหาความผิดปกติที่รุนแรงบางอย่างได้จากการทำอัลตร้าซาวน์แต่ต้องรอตอนอายุครรภ์ประมาณ 5 เดือนจึงจะเริ่มตรวจได้ เพราะตอนนี้ทารกในครรภ์ยังตัวเล็กมาก ตรวจอายุครรภ์และดูหัวใจทารกเต้นได้แต่ยังมองไม่เห็นความผิดปกติค่ะ เอาใจช่วยขอให้น้องปลอดภัยนะคะ

Ratt*****2

29 ตุลาคม 2555 04:45:20 #4

- ขอบคุณ ภบ.ประดิษฐ์ งามศิริผล(เภสัชกร) ดิฉันใช้ยา 

ปริมาณยาที่ทา หากต้องการให้มีผลต่อทั้งร่างกาย ต้องสูงถึงสัปดาห์ละ 100 กรัม (หลอดยาที่ดิฉันใช้มี15กรัม ทาเช้าเย็นค่ะ)

 

ความถี่ของการทายา มากกว่าปกติ คือ 4 ครั้งต่อวัน (ทาวันละ 2 ครั้ง/เช้า-เย็นค่ะ)

 

ระยะเวลาการทายาอย่างต่อเนื่องมากกว่า3เดือนขึ้นไป (ดิฉันทาก่อนจะท้องมาหลายเดือน พอรู้ว่าท้องเลยหยุดใช้ทันทีค่ะ)

 

 

การคลุมทับผิวหนังบริเวณที่ทา หรือ อบไอน้ำ จะทำให้ผิวขยายและดูดซึมตัวยาได้เพิ่มขึ้น (ดิฉันทายาหลังอาบน้ำมีผลมากไหมค่ะ เพราะหลังอาบน้ำผิวจะขยายขึ้น)

 

- ขอบคุณ พญ. ศิริฤทัย อำนาจบุดดี ที่ให้คำปรึกษา

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

29 ตุลาคม 2555 14:08:58 #5

จากข้อมูลที่คุณให้มา ปริมาณตัวยาที่ถูกดูดซึมผ่านเข้าระบบร่างกาย มีปริมาณน้อยมากนะครับ โดยทั่วไปปริมาณยาที่ดูดซึมผ่านผิวหนัง จะมีปริมาณ 10-20% เนื่องจากตัวยามีขนาดค่อนข้างใหญ่ จะดูดซึมผ่านกระแสเลือดได้ค่อนข้างน้อย

 

นอกจากนั้นคุณคงไม่ได้ทาผื่นที่คาง วันละ 15 กรัม ( 7 วัน ๆละ 15 กรัม ประมาณ 100 กรัม)

 

ปัจจุบันพบรายงานยาบางชนิด ไม่พบอันตรายในสัตว์ทดลอง แต่กลับพบในคน เช่น ยาแก้แพ้ท้องรุ่นเก่า ๆ ที่อ.ย.ยกเลิกสูตรตำรับไปแล้ว แต่ยาบางชนิดอย่างยาคลายเครียด ที่สมัยก่อน ไม่แนะนำให้ใช้ในคนท้อง จัดอยู่ประเภท D กลับลดระดับลงมาอยู่ระดับ B หรือ C ได้

 

ปัจจัยอื่น ๆจากตัวคุณแม่สำคัญกว่ามาก ทั้งเรื่องอายุที่เพิ่มขึ้น การรับประทานอาหารที่อร่อย แต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และอื่น ๆรวมถึงฝั่งคุณพ่ออีกด้วย เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ฯ

 

ดังนั้น อยากให้คุณทำใจให้สบาย อย่าเครียด เพราะว่าความเครียดจะส่งผลต่อทารกได้มากกว่า ตัวยาที่คุณทาที่ผิวหนังเสียอีก

 

เนื่องจากฮอร์โมนความเครียด จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะอักเสบเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายกว่าปกติ
ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์ศิริฤทัย ไปฝากครรภ์ เพื่อรับประทานยาบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด รับประทานโฟเลต จะช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็ก คุณเองก็ต้องดื่มนมพร่องมันเนย หรือรับประทานแคลเซียมเสริม หรือหากไม่แน่ใจ ลองปรึกษาอาจารย์หมอที่คุณไปฝากครรภ์ก็ได้ แจ้งรายละเอียดเรื่องยาทา พื้นที่ที่ทายา ขนาดที่ใช้ยา ระยะเวลาที่ใช้ยา ให้ละเอียด

 

ช่วง 5 เดือน คุณหมอจะอัลตราซาวนด์ เพื่อเป็นการติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์

 

เป็นกำลังใจให้นะครับ

 

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

Ratt*****2

30 ตุลาคม 2555 03:20:10 #6

ขอบคุณมากๆๆๆเลยค่ะ ทำให้สบายใจขึ้นมาเยอะเลย ^^  ดิฉันไปฝากครรภ์มาแล้วค่ะ ก่อนที่จะมาตั้งกระทู้ถาม แต่พอดีว่าดิฉันลืมถามเรื่องยานี้กับคุณหมอที่ไปฝากครรภ์ ดิฉันก็กังวลมากไป เลยอยากจะถามผู้รู้ให้แน่ใจก่อนที่จะไปหาหมออีกครั้งตามที่นัดในเดือนหน้านะค่ะ (ขอบคุณ ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล) ที่ให้คำปรึกษาที่ดี ^^

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

30 ตุลาคม 2555 09:44:40 #7

ขอบคุณที่ช่วยส่งข่าวครับ ทางทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ของเรา ยินดีช่วยเหลือเสมอนะครับ บางครั้งอาจต้องสอบถามรายละเอียดจุกจิกบ้าง เพื่อตอบคำถามให้ตรงจุด

 

เป็นกำลังใจให้ครับ
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล