กระดานสุขภาพ

กิน l-arginine นานๆจะเป็นรัยไหมคราฟฟ
Cjso*****d

5 มีนาคม 2557 07:27:33 #1

การกิน l-arginine นานๆจะเป็นรัยไหมคราฟฟ อยากศึกษาไว้นะครับ

อายุ: 21 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 58 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.94 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

6 มีนาคม 2557 04:55:39 #2

เรียน คุณ cjso.sad,

เนื่องจากคุณไม่ได้แจ้งมาว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบใด มีความเข้มข้นเท่าใด ใช้ในวัตถุประสงค์ใด โดยปกติเป็นกรดอะมิโนประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีน

เป็นกรดไขมันกึ่งจำเป็น ในเด็กต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ส่วนในผู้ใหญ่ ได้รับจากอาหารส่วนหนึ่ง และสามารถสังเคราะห์จากกรดอะมิโนอื่นได้อีกส่วนหนึ่ง ขอตอบรวม ๆนะครับ

เท่าที่มีการทดลองใช้ทางการแพทย์ นะครับ

  1. ใช้เสริมหลังการผ่าตัด ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  2. ใช้เสริมในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเค้นหน้าอก จากโรคหัวใจ เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นของสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด
  3. ไตอักเสบ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่ต้องมีการใช้ติดต่อกันนานหลายเดือน และควรได้รับการตรวจจากแพทย์ก่อน
  4. ใช้เสริมโปรตีนในผู้ป่วยเอชไอวี หรือ เอดส์ ที่รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ พบว่าช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
  5. ปวดขา เนื่องจากมีเส้นเลือดอุดตัน
  6. ใช้เสริมในยาสีฟัน เพื่อให้ช่วยอุดในบริเวณผิวฟันทีสึกหรอ ช่วยลดอาการเสียวฟัน

มีการทดลองใช้ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าได้ผลดีหรือไม่

  1. ปวดไมเกรน
  2. ช่วยเรื่องแผลที่เท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
  3. รักษาความดันโลหิตสูง
  4. ภาวะหมันในเพศชาย
  5. ป้องกันหวัด
  6. เพิ่มสมรรถนะในการออกกำลังกาย

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ แม้ว่าจะเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

  • แพ้ หน้าบวม หลอดลมบวม ภาวะหอบกำเริบ
  • ความดันโลหิตต่ำ เม็ดเลือดผิดปกติ ภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง ครีเอตินินในเลือดสูง เลือดไหลหยุดยาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง ผายลมบ่อย ท้องเสีย
  • อาจทำให้โรคติดเชื้อไวรัสบางประเภทกำเริบขึ้น (เนื่องจากเป็นกรดอะมิโนที่เชื้อจำเป็นต่อการเจริญเติบโตด้วย) เช่น เริม งูสวัด
  • ไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ในความเข้มข้นสูง เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูป (พิการแต่กำเนิด) หรือแท้ง หรือตายในครรภ์

ดังนั้น หากคุณคิดจะซื้อมารับประทานเอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือโภชนากร หรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬาก่อนเริ่มต้นใช้ จะได้ศึกษารายละเอียด ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละผลิตภัณฑ์

จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อสุขภาพ และกระเป๋าเงินของคุณด้วย

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

เอกสารอ้างอิง :

  1. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-875-L-ARGININE.aspx?activeIngredientId=875&activeIngredientName=L-ARGININE
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Arginine
  3. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/arginine/safety/hrb-20058733