กระดานสุขภาพ

แบบนี้เป็นริดสีดวงทวารใช่ไหมคะ
Anonymous

29 มกราคม 2565 18:31:19 #1

ปกติเป็นคนท้องผูกค่ะ ถ้าไม่มีตัวช่วยพวกดีท็อกซ์หรืออะไรต่าง ๆ ก็ถ่ายอาทิตย์ละครั้งสองครั้งค่ะ ติ่งที่ยื่นออกมาคือริดสีดวงใช่ไหมคะ นานๆจะถ่ายแล้วมีเลือดออก ซึ่งติ่งยื่นออกมาสองเดือนได้แล้วค่ะ จำเป็นต้องจี้เอาออกไหมคะ

https://haamor.com/media/create_topic/20220129182734.jpg

อายุ: 26 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

30 มกราคม 2565 22:59:29 #2

โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids หรือPiles) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบ และ/หรือการบวมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด(Vascular structures, เนื้อเยื่อที่ประกอบด้วย หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่มีหน้าที่ช่วยพยุงปากทวารหนักในการปิด-เปิด ถ่ายอุจจาระกลั้นอุจจาระ และลดแรงกดทับในการนั่ง) ที่อยู่ภายในทวารหนักและรอบๆปากทวารหนัก โดยเนื้อเยื่อกลุ่มนี้มีหน้าที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อทวารหนักในช่วงมีการขับถ่ายอุจจาระ และช่วยให้ปากทวารหนักปิดสนิทช่วงไม่ปวดถ่ายอุจจาระ

 

โรคริดสีดวง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

•ริดสีดวงภายนอก เป็นโรคที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะอยู่รอบๆปากทวารหนัก โรคจึงวินิจฉัยได้ง่าย

•ริดสีดวงภายใน เป็นโรคที่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ยกเว้นกรณีที่เป็นมาก และก้อนเนื้อปลิ้นโพล่ออกมานอกทวารหนัก ผู้ป่วยมักมีอาการอุจจาระเป็นเลือดสดโดยมองไม่เห็นว่ามีก้อนเนื้อการวินิจฉัยแพทย์ต้องใช้การส่องกล้องตรวจในทวารหนัก โดยทั่วไป จะมีอาการรุนแรงกว่าริดสีดวงภายนอก

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคริดสีดวงทวาร เกิดจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ และ/หรือมีการหมุนเวียนโลหิต (เลือด) ไม่ดีจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆจนก่อให้เกิดการโป่งพอง บวม อักเสบ หรือเกิดมีลิ่มเลือดในกลุ่มเนื้อเยื่อดังกล่าว ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย คือ

•ท้องผูก ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย

•ท้องเสียเรื้อรัง การอุจจาระบ่อยๆจะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เช่นกัน

•การนั่งนานๆ รวมทั้งนั่งถ่ายอุจจาระนานๆ จะกดทับกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงเพิ่มความดัน/การบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด

•อายุ ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ รวมทั้งของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด หลอดเลือดจึงโป่งพองได้ง่าย

•การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เลือดจึงไหลกลับหัวใจลดลงจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย

•โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเช่นเดียวกับในหญิงตั้งครรภ์

•การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จึงเกิดการกดเบียดทับ/บาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้เรื้อรัง จึงมีเลือดคั่งในหลอดเลือด เกิดโป่งพองได้ง่าย

•โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด(Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือดจึงเกิดภาวะเลือดคั่งในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองง่าย

•อาจจากพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงกว่า เมื่อครอบครัวมีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวาร

 

โรคริดสีดวงทวารมีอาการที่พบบ่อย ดังนี้

•อาการพบบ่อยของโรคริดสีดวงภายนอก คือ

◦มีติ่งเนื้อสีชมพูคล้ำออกมาจากปากทวารหนักเมื่อท้องผูก หรือ ท้องเสีย

◦เมื่อมีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดที่โป่งพองจะก่ออาการปวด เจ็บ บวมและก่ออาการระคายเคืองบริเวณรอบปากทวารหนัก และอาการคัน แต่มักไม่ค่อยพบมีเลือดออกจากติ่งเนื้อนี้

•อาการพบบ่อยของโรคริดสีดวงทวารภายใน คือ

◦อุจจาระเป็นเลือด โดยไม่มีอาการปวดเจ็บ อุจจาระมักเป็นเลือดสดออกหลังอุจจาระสุดแล้ว มักพบเลือดบนกระดาษชำระ เลือดที่ออกจะไม่ปนกับอุจจาระ มักไม่มีมูกปน และมักหยุดได้เองอาการเหล่านี้จะเป็นๆหายๆ

◦เมื่อเป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก รวมทั้งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดเลือดจะบวมออกมาถึงปากทวารหนัก เห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ปลิ้นโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่ออาการเจ็บปวดได้

 

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแบ่งความรุนแรงของโรคริดสีดวงภายใน เป็น 4 ระดับตามความรุนแรง ได้แก่

•ระดับ1 หลอดเลือดที่โป่งพองยังเกิดอยู่ภายในทวารหนักและลำไส้ตรง

•ระดับ2 หลอดเลือด พร้อมเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือดปลิ้นโผล่ออกมาที่ปากทวารหนักในขณะอุจจาระ แต่ก้อนเนื้อนี้สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เองหลังสิ้นสุดอุจจาระ

•ระดับ3 ก้อนเนื้อไม่กลับเข้าภายในทวารหนัก หลังสุดอุจจาระแล้วแต่สามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้

•ระดับ4 ก้อนเนื้อกลับเข้าไปภายในทวารหนักไม่ได้ ค้างอยู่หน้าปากทวารหนัก ถึงแม้จะใช้นิ้วช่วยดันแล้วก็ตาม ซึ่งระยะนี้ผู้ป่วยจะเจ็บปวดมาก และควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน ก่อนที่ก้อนเนื้อจะเน่าตายจากการขาดเลือด

 

 

แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวารได้แก่ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่างๆ เช่นยาทาลดอาการคัน ยาเหน็บทวารลดอาการบวม ปวด และยาแก้ปวด เป็นต้น

แต่เมื่อการรักษาในลักษณะประคับประคองไม่ได้ผลภายในระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ การรักษาขั้นต่อไป คือ การรักษาทางศัลยกรรม ที่มีหลายรูปแบบ เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ เลเซอร์ การฉีดยาเข้าหลอดเลือด เพื่อให้หลอดเลือดยุบแฟบการผูกหลอดเลือด หรือการผ่าตัดหลอดเลือด ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุน แรงของโรคข้อบ่งชี้ และดุลพินิจของแพทย์

 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นริดสีดวงทวารและการพบแพทย์ ได้แก่

•ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ

•ใส่ยาทาบริเวณก้น/บริเวณริดสีดวง หรือ เหน็บยาตามแพทย์แนะนำ

•กินยาต่างๆ รวมทั้งยาแก้ปวดตามแพทย์แนะนำ

•ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น หัวใจล้มเหลว เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่ม และขับถ่ายออกได้ง่าย

•กินผัก ผลไม้ชนิดมีกากใยสูงมากๆ เช่น ฝรั่ง แอบเปิล มะละกอสุกเพื่อป้องกันท้องผูก

•ฝึกอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้นและไม่เบ่งอุจจาระ

•นั่งแช่น้ำอุ่นเสมอ อาจเป็นเพียงน้ำอุ่นธรรมดา หรือ น้ำด่างทับทิมอุ่น หรือ อื่นๆ ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำครั้งละ 10-15 นาที่ วันละประมาณ 2-3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และอาการบวมได้ดี

•เมื่อมีก้อนเนื้อบวมออกมาบริเวณก้น อาจประคบด้วยน้ำเย็น ซึ่งอาจช่วยลดบวมได้

•ล้างบริเวณก้นด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำสะอาด รักษาให้สะอาดเสมอ แพทย์หลายท่านแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่แต่ถ้าผู้ป่วยอยากใช้สบู่ ควรเป็นสบู่เด็กอ่อนเพื่อลดการระคายเคืองต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่กำลังบวม หรือมีการอักเสบ

•เมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะ ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระที่แข็งควรชุบน้ำ หรือ ใช้กระดาษชำระชนิดเปียก (มีขายในท้องตลาดแล้ว)

•พยายามฝึกไม่เบ่งอุจจาระ

•ไม่ควรนั่ง หรือ ยืนนานๆ รวมทั้งนั่งส้วมนานๆ ไม่นั่งอ่านหนังสือนานๆขณะอุจจาระ

•ลดความอ้วน

•เมื่อเลือดออกมาก ใช้ผ้าขนหนูสะอาดกดบริเวณก้นไว้ให้แน่น ถ้าเลือดไม่หยุด ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน

•พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ

•พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเสมอเมื่อ เลือดออกทางก้นไม่หยุด หรือ เมื่อก้อนเนื้อไม่สามารถกลับเข้าไปในทวารได้ อย่าพยายามออกแรงดันก้อนเนื้อ เพราะจะทำให้ก้อนเนื้อได้รับบาดเจ็บและบวมมากขึ้น