กระดานสุขภาพ

อยากทราบเกี่ยวกับโรคเท้าช้าง ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
Mekt*****t

14 มิถุนายน 2564 05:41:08 #1

สวัสดีครับ คือผมกังวลเกี่ยวกับโรคนี้มากครับ เพราะผมเป็นคนชอบโดนยุงกัดบ่อยเลยไปหาข้อมูลดูแล้วก็ไปเจอโรคเท้าช้าง ซึ่งผมกังวลมากครับ เพราะเมื่อคืนนี้ผมโดนยุงกัดที่อัณฑะ(ไม่รู้ว่ายุงหรือเปล่านะครับตอนนั้นผมนอนหลับแล้วตื่นมาเพราะมันคันมาก จับๆดูมันบวมเหมือนเวลาโดนยุงกัดตื่นเช้ามาก็หาย)เลยอยากจะถามคุณหมอว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีโรคนี้อยู่ไหมครับ ถ้ามีจะมีอยู่แถวจังหวัดไหน ผมอยู่ กทม.

อายุ: 17 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 51 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.24 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

24 มิถุนายน 2564 19:43:31 #2

โรคเท้าช้าง เป็นโรคที่เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย มีลักษณะคล้ายเส้นด้ายอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค มีอาการที่เห็นได้ชัด คือ ขา แขน หรืออวัยวะเพศบวมโตผิดปกติ เนื่องจากภาวะอุดตันของท่อน้ำเหลือง

สาเหตุและแหล่งระบาด

โรคเท้าช้างในประเทศไทยมี 2 ชนิด ชนิดแรกเกิดจากเชื้อ Brugia malayi มักมีอาการแขนขาโต พบมากในบริเวณที่ราบทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส โดยมียุงลายเสือ (Mansonia) เป็นพาหะ ยุงชนิดนี้กัดกินเลือดของสัตว์และคน ชอบออกหากินเวลากลางคืน มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามแอ่งหรือหนองน้ำที่มีวัชพืชและพืชน้ำต่างๆ เช่น จอก ผักตบชวา แพงพวยน้ำ หรือหญ้าปล้อง ชนิดที่สองเกิดจากเชื้อ Wuchereria bancrofti มักทำให้เกิดอาการบวมโตของอวัยวะสืบพันธุ์และแขนขา พบมากในบริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น ที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี; อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก; อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นต้น ยุงพาหะนำโรคเท้าช้างชนิดนี้ได้แก่ยุงลายป่า (Aedes niveus group) เพาะพันธุ์ตามป่าไผ่ ในโพรงไม้ และกระบอกไม้ไผ่

ปัจจุบันพบว่าเชื้อโรคเท้าช้างชนิด Wuchereria bancrofti สายพันธุ์ที่นำเข้าโดยผู้อพยพจากชายแดนไทยพม่า มียุงพาหะหลายชนิดรวมทั้งยุงรำคาญ (Culex) ซึ่งเป็นยุงบ้านที่พบได้ทั่วไป

วงจรชีวิต

เมื่อยุงที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างระยะติดต่อกัดคน เชื้อจะเคลื่อนตัวออกจากส่วนปากของยุงมาที่บริเวณผิวหนัง ไชเข้าสู่ผิวหนังตรงรอยยุงกัด และเข้าไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในต่อมน้ำเหลือง มีระยะฟักตัว 3-9 เดือน จากนั้นพยาธิตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์กัน และออกลูกเป็นตัวอ่อนเรียกว่า ไมโครฟิลาเรียซึ่งจะออกมาอยู่ในกระแสเลือด เมื่อยุงมากัดก็จะรับเชื้อตัวอ่อนเข้าไปและเจริญเป็นพยาธิระยะติดต่อภายใน 1-2 สัปดาห์

อาการของโรค

คนที่มีอาการมักจะเกิดจากการที่ถูกยุงที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างกัดซ้ำหลายครั้ง อาการในระยะแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรืออัณฑะ เนื่องจากพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในท่อน้ำเหลืองสร้างความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อภายใน รวมทั้งมีการปล่อยสารพิษออกมาด้วย อาการอักเสบจะเป็นๆ หายๆ อยู่เช่นนี้ และจะกระตุ้นให้เกิดอาการบวมขึ้น หากเป็นนานหลายปีจะทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวรและผิวหนังหนาแข็งขึ้นจนมีลักษณะขรุขระ


การวินิจฉัย

ผู้ป่วยที่มีประวัติเข้าไปอยู่ในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ถ้ามีไข้ ท่อน้ำเหลืองอักเสบ ขา แขน หรืออัณฑะบวม ควรตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการโดยการตรวจเลือด (ในประเทศไทย มักพบเชื้อนี้ในเวลากลางคืน) นอกจากนี้อาจตรวจวินิจฉัยทางน้ำเหลืองได้ด้วย

  • - วินิจฉัยจากอาการทางคลินิกข้างต้น
  • - จากประวัติการรับประทานอาหารดิบๆ สุกๆ เช่น หอยพาหะ กุ้ง และสัตว์พาหะอื่นๆ
  • - ตรวจพบพยาธิในน้ำไขสันหลังหรือจากตา
  • - ตรวจพบเม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนฟิลจำนวนมากในน้ำไขสันหลัง
  • - ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อพยาธิโดยวิธีอิมมิวโนวินิจฉัย

การป้องกันและควบคุม

  • - ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดโดย
  • - นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด
  • - ทายากันยุง
  • - ควบคุมและกำจัดยุงพาหะโดย
  • - พ่นสารเคมีกำจัดยุงตามฝาผนังบ้าน
  • - กำจัดลูกน้ำตามแหล่งต่างๆ
  • - กำจัดวัชพืชและพืชน้ำที่เป็นแหล่งเกาะอาศัยของลูกน้ำในแหล่งน้ำ
  • - ประชาชนที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคเท้าช้าง อาจกินยาป้องกัน ได้แก่ Diethylcarbamazine (DEC) ติดต่อขอรับ

ยาได้ที่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณะสุข