กระดานสุขภาพ

ตอนนอนรู้สึกปวดๆตึงๆสะดือ
Anonymous

31 กรกฎาคม 2563 09:42:37 #1

สวัสดีครับคือว่าเมื่อวันก่อนผมตื่นมาตี5แล้วรู้สึกว่ามันปวดๆตึงๆสะดือยังไงไม่รู้อะครับ แล้วตอนนั้นผมนอนคดตัวอยู่ถ้าเกิดผมจะนอนยืดตัวมันก็จะปวดมากเลยครับเหมือนมีไรมาจิ้มสะดือครับ แล้วมัน ปวดแบบเป็นเส้นตรงตั้งแต่ตรงอวัยเพศขึ้นมาอะครับ(ไม่ได้ปวดตรงอวัยเพศนะครับแต่ปวดตรงส่วนที่ขนมันขึ้นเยอะๆอะครับผมเรียกว่าโหนก) ผมก็เลยนอนหลับไปตื่นมาอีกทีตอน10โมงก็หายแล้วครับ ปกติผมเป็นคนช่วยตัวเองทุกวันไม่ทราบว่ามันจะเกี่ยวกันเปล่า แล้วผมเป็นไรครับ
อายุ: 16 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 46 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 15.92 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

2 สิงหาคม 2563 09:05:37 #2

  • ปวดท้อง (Abdominal pain หรือ Stomach pain หรือ Stomach ache) ได้แก่ อาการปวดที่เกิดขึ้นในบริเวณช่องท้องส่วนใดก็ได้ เป็นอาการพบบ่อยมากอาการหนึ่ง พบได้บ่อยในทุกอายุ และทุกเพศ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้เท่าๆกัน โดยทั่วไปเป็นอาการไม่รุนแรง มักดูแลรักษาตนเองได้
  • สาเหตุของอาการปวดท้องอาจเกิดได้ทั้งจากโรคของอวัยวะต่างๆในช่องท้อง หรือ โรคของอวัยวะนอกช่องท้อง
  • • ปวดท้องสาเหตุจากอวัยวะในช่องท้อง ที่พบบ่อย คือ
  • ◦ อาหารไม่ย่อย หรือ มีก๊าซ/แก๊ส/ลม ในกระเพาะอาหาร และลำไส้
  • ◦ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ◦ โรคกรดไหลย้อน (โรคกรดไหลกลับ)
  • ◦ ท้องเสีย
  • ◦ ท้องผูก
  • ◦ การอักเสบ ทั้งชนิดติดเชื้อและชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น จากไส้ติ่งอักเสบ หรือ ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ◦ โรคนิ่ว เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือ นิ่วในไต หรือ นิ่วในท่อไต
  • ◦ ตับอักเสบ เช่น จาก โรคไวรัสตับอักเสบ
  • ◦ ตับอ่อนอักเสบ
  • ◦ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ◦ กระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้อุดตัน
  • ◦ ท่อเลือดแดงใหญ่ส่วนช่องท้องโป่งพอง (Abdominal aorta aneurysm)
  • ◦ ปวดประจำเดือน หรือ มดลูกอักเสบ หรือ ปีกมดลูกอักเสบ หรือ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ◦ โรคมะเร็งของอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งปากมดลูก
  • ◦ บ่อยครั้งไม่ทราบสาเหตุ เพราะมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยจึงดูแลรักษาตนเองที่บ้าน ไม่ได้มาโรงพยาบาลจึงไม่ทราบสาเหตุ หรือ เมื่อมาโรงพยาบาลแพทย์เพียงให้ยาบรรเทาตามอาการ อาการปวดท้องก็ดีขึ้น จึงไม่มีการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ
  • • ปวดท้องสาเหตุจากอวัยวะนอกช่องท้อง เรียกว่า อาการปวดที่ปวดร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ (Referred pain) ที่พบบ่อย คือ จากโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ จากโรคปอดบวม ซึ่งส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งบางคนอาจมีปวดเจ็บ แน่นท้องร่วมด้วย หรือจากโรคกล้ามเนื้อของผนังช่องท้อง เช่น จากหน้าท้องถูกกระแทก
  • แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดท้องได้จาก ประวัติลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่เกิดอาการ อาการร่วมอื่นๆ ร่วมกับ การตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรือ อัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การส่องกล้องตรวจอวัยวะในช่องท้อง และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • • วินิจฉัยจากลักษณะอาการปวดท้อง เช่น
  • ◦ เมื่อปวดแบบปวดบิด เป็นพักๆ มักเกิดจากโรคของอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ลำไส้ หรือ ท่อไต
  • ◦ เมื่อปวดเป็นพักๆ ปวดแน่น อาการหายไปเมื่อผายลม หรือ เรอ หรืออาการปวดเคลื่อนที่ได้ มักเกิดจากการมีก๊าซในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ลำไส้
  • ◦ เมื่อปวดแสบ ใต้ลิ้นปี่ และอาการปวดดีขึ้นเมื่อกินอาหาร หรือ อาการปวดสัมพันธ์กับการกินอาหาร มักเกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ◦ อาการปวดร้าว เช่น ปวดร้าวขึ้นอก หรือ ขึ้นในบริเวณกระดูกกราม แพทย์มักนึกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ◦ เมื่อปวดเฉพาะจุด หรือ กดเจ็บเฉพาะจุด มักเกิดจากการอักเสบของอวัยวะในตำแหน่งนั้น เช่น โรคตับอักเสบ หรือ โรคไส้ติ่งอักเสบ
  • ◦ เมื่อปวดท้องเหนือกระดูกหัวหน่าว ปวดเบ่งปัสสาวะ หรือปวดแสบเมื่อสุดปัสสาวะ มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ◦ เมื่อปวดเบ่งอุจจาระ มักเกิดจากโรคของลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือ ท้องเสีย
  • • ตำแหน่งที่ปวดท้อง คือ โดยทั่วไปมักแบ่งตำแหน่งของช่องท้องได้เป็น 7 ส่วน คือ เมื่อใช้สะดือเป็นจุดศูนย์กลาง จะแบ่งช่องท้องเป็น ช่องท้องส่วนบน(ส่วนอยู่เหนือสะดือ) และช่องท้องส่วนล่าง (ส่วนอยู่ต่ำกว่าสะดือ) ซึ่งเมื่อร่วมกับการแบ่งช่องท้องตามยาว จากเส้นสมมุติกลางลำตัว ที่จะแบ่งช่องท้องเป็นซีกซ้าย และซีกขวา ดังนั้นเมื่อร่วมการแบ่งด้วยสะดือ และเส้นแบ่งกลางลำตัวเข้าด้วยกัน ช่องท้องจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนด้านซ้ายตอนบน ส่วนด้านซ้ายตอนล่าง ส่วนด้านขวาตอนบน และส่วนด้านขวาตอนล่าง และเพิ่มอีก 3 ส่วน คือ ส่วน หรือ บริเวณ ใต้ลิ้นปี่ หรือ ยอดอก (Epigastrium) บริเวณรอบสะดือ และบริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว (กระดูกตรงกลางด้านหน้า และอยู่ล่างสุดชองช่องท้อง) ซึ่งเมื่อมีอาการปวดท้องในตำแหน่งเหล่านี้ มักเป็นตัวชี้นำว่า น่ามีโรคของอวัยวะต่างๆที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้
  • ◦ เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนบน (อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ กระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ ตับอ่อน และไตซ้าย) โรคที่เป็นสาเหตุ อาจเป็น กระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ที่อยู่ในส่วนด้านซ้ายตอนบน ตับอ่อน (ซึ่งอาการปวดมักร้าวไปด้านหลัง เพราะตับอ่อนอยู่ติดทางด้านหลัง) และไตซ้าย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ การบาดเจ็บของม้ามจากถูกกระแทก ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไตอักเสบ หรือ นิ่วในไต
  • ◦ เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง (อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ ลำไส้ และในผู้หญิง จะมีปีกมดลูกซ้าย และรังไข่ซ้าย) โรคที่เป็นสาเหตุ อาจเกิดจากโรคของลำไส้ในส่วนด้านซ้ายตอนล่าง ปีกมดลูก และรังไข่ซ้าย เช่น ลำไส้อักเสบ ปีกมดลูก หรือ รังไข่ด้านซ้ายอักเสบ
  • ◦ เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนบน โรคอาจเกิดจาก ตับ ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี ลำไส้ส่วนที่อยู่ในช่องท้องด้านขวาตอนบน และไตขวา
  • ◦ เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนล่าง โรคอาจเกิดจาก ไส้ติ่ง ลำไส้ส่วนด้านขวาตอนล่าง ปีกมดลูก หรือ รังไข่ขวา
  • ◦ เมื่อปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเกิดจากโรคกระเพาะอาหาร
  • ◦ เมื่อปวดรอบๆสะดือ มักเกิดจากโรคของไส้ติ่ง
  • ◦ เมื่อปวดบริเวณเหนือหัวหน่าว มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือ ของมดลูก
  • • อาการร่วมอื่นๆ อาการปวดท้องอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆได้ ที่พบบ่อย คือ
  • ◦ คลื่นไส้ อาเจียน มักเกิดจากโรคของ ลำไส้ หรือ ตับ หรือ ลำไส้อุดตัน
  • ◦ อาการไข้ มักเกิดจากมีการอักเสบ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ
  • ◦ อาเจียนเป็นเลือด มักเกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ◦ ไม่ผายลม มักเกิดจากลำไส้อุดตัน เช่น จากท้องผูกมาก หรือ มีก้อนเนื้ออุดตันในลำไส้
  • ◦ อุจจาระเป็นเลือด มักเกิดจากโรคของลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายล่าง เช่น มีแผลอักเสบ
  • ◦ อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย มักเกิดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ◦ การคลำได้ก้อนเนื้อ มักเกิดจากโรคมะเร็ง หรือโรคเนื้องอกรังไข่
  • ◦ ร่วมกับมีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเบ่งปัสสาวะ มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือ ไตหรือ ต่อมลูกหมาก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ หรือ นิ่วในไต
  • ◦ เมื่อปวดร้าวไปด้านหลัง อาจเป็นโรคของ ตับอ่อน หรือ ไต หรือ ท่อไต เช่น ตับอ่อนอักเสบ นิ่วในไต หรือ นิ่วในท่อไต
  • ◦ ตัว ตาเหลือง อาจเป็นโรคของ ตับ ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคถุงน้ำดีอักเสบ
  • ◦ มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ ตกขาว มักเกิดจากโรคของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น โรคของ ช่องคลอด ปากมดลูก ปีกมดลูก และมดลูก เช่น ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ หรือ มะเร็งปากมดลูก
  • ควรพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อปวดท้องร่วมกับ
  • ◦ เพิ่งได้รับอุบัติเหตุที่ช่องท้อง
  • ◦ มีไข้ (ได้ทั้งไข้ต่ำ หรือ ไข้สูง) โดยเฉพาะเมื่อปวด/เจ็บท้องเพียงจุดเดียว อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
  • ◦ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับ ไม่ผายลม และ/หรือ ท้องผูก
  • ◦ อาเจียนเป็นเลือด
  • ◦ อุจจาระเป็นเลือด
  • ◦ ปวดท้องมากไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง
  • ◦ ท้องแข็ง กดเจ็บมาก อาจเพียงตำแหน่งเดียว หรือ ทั่วทั้งช่องท้อง
  • ◦ ปวดแน่นหน้าอก ร้าวไปแขน และ/หรือ กระดูกกราม ซึ่งมักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ