กระดานสุขภาพ

เท้าบวม กดบุ๋ม ข้างเดียว
Anonymous

18 ตุลาคม 2562 13:47:28 #1

คุณพ่อ เท้าบวมหลังเท้า ข้อเท้า และบวมไล่ขึ้นมาที่หน้าแข้ง อาการบวมคืออยู่ๆก็บวมขึ้นมา ตอนนี้บวมได้สัปดาห์นึงแล้วค่ะ เมื่อกดที่บวมจะบุ๋มลงไป สักพักกว่าจะยุบ อีกข้างไม่เป็นค่ะ ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับโรคไตไหมคะ บวมข้างเดียว หรือเป็นอันตรายไหมคะ บวมไม่ปวด ไม่แดง ไม่มีไข้ค่ะ
อายุ: 60 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.39 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

23 ตุลาคม 2562 04:16:03 #2

เท้าบวม คือ อาการบวมที่เกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณเท้าไปจนถึงข้อเท้า อาการนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงแต่ถือเป็นสัญญาณที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เท้าบวมสามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ โดยแพทย์จะรักษาตามสาเหตุ

แม้อาการเท้าบวมอาจไม่อันตรายแต่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ด้วย หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย

1.มีอาการของโรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต และเคยมีอาการเท้าบวมมาก่อน

2.เท้าที่บวมมีลักษณะแดง หรือสัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น ๆ

3.อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ

4.อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์

5. มีอาการบวมอย่างเฉียบพลัน และรุนแรง

6.หากใช้วิธีบรรเทาอาการด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้ว อาการไม่ทุเลา

หากมีอาการเจ็บ หรือแน่นที่หน้าอกผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ มึนงง รู้สึกเหมือนจะเป็นลม และมีปัญหาในการหายใจ คือหายใจถี่หรือหายใจลำบาก ควรรีบไปโรงพยาบาลในทันที เพราะหากปล่อยไว้อาการอาจยิ่งรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของเท้าบวม

เท้าบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากสาเหตุที่บริเวณข้อเท้าหรือเท้าโดยตรง หรืออาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย ที่พบบ่อยได้แก่

อาการบาดเจ็บที่เท้าหรือข้อเท้า อาการบวมที่เกิดจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ อาการเท้าบวมและข้อเท้าบวมที่เกิดจากข้อเท้าแพลง จากอุบัติเหตุ หรือการสะดุดล้ม ทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อเท้ายืดมากผิดปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วหากหยุดพักการใช้ข้อเท้าหรือเท้าข้างที่บาดเจ็บ และประคบเย็นในระยะแรก รวมถึงพันผ้าเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเท้าจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าอาการไม่ทุเลาลง หรืออาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

หลอดเลือดดำบกพร่อง (Venous Insufficiency) โดยปกติแล้วหลอดเลือดดำจะมีการไหลเวียนของเลือดขึ้นไปที่หัวใจในลักษณะไหลเวียนไปในทางเดียวและมีลิ้นที่คอยกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ แต่หากลิ้นดังกล่าวเสียหาย จะทำให้หลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ และเลือดไหลย้อนกลับไปคั่งที่บริเวณเท้าและขา เลือดไม่เพียงพอที่จะไหลเวียนไปที่หัวใจ จนเกิดอาการบวมที่เท้าในที่สุด

การติดเชื้อ อาการเท้าบวมและข้อเท้าบวมอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการลุกลามไปยังเส้นประสาทส่วนปลายบริเวณเท้า จนเป็นแผลได้ง่าย อีกทั้งแผลที่เกิดอาจลุกลามได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จนก่อให้เกิดอาการบวมอักเสบที่เท้า และอาจทวีความรุนแรงขึ้น

ลิ่มเลือดอุดตัน หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่บริเวณขา ก็อาจทำให้เกิดอาการเท้าบวมได้ ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำมีทั้งชนิดรุนแรง และไม่รุนแรง โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันว่าลึกมากหรือไม่ ทั้งนี้หากไม่รีบรักษา ลิ่มเลือดอาจหลุดเขาไปที่ปอด ซึ่งเป็นอันตรายได้

ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) เป็นอาการที่เกิดจากการคั่งของน้ำเหลืองบริเวณใต้ผิวหนัง อันมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนของน้ำเหลืองโดนขัดขวาง จนทำให้เกิดอาการบวมที่บริเวณเท้า และข้อเท้าจนผิดปกติ หากไม่รักษาจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ภาวะนี้หากเกิดจากโรคมะเร็งสามารถรักษาได้ด้วยการฉายรังสี หรือการผ่าตัดเพื่อนำต่อมน้ำเหลืองออก ดังนั้น หากมีอาการเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

โรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบวมที่เท้าได้ โดยอาการบวมจากสาเหตุนี้เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้หมด และเมื่อร่างกายมีของเหลวส่วนเกินสะสมอยู่มากเกินไป แรงโน้มถ่วงจะดึงให้น้ำส่วนเกินลงมาอยู่ที่เท้า จนทำให้ข้อเท้า และเท้าบวมได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา มียาจำนวนไม่น้อยที่มีผลข้างเคียงทำให้ข้อเท้าและเท้าบวม ได้แก่

ฮอร์โมนต่าง ๆ เอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน

แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blocker) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิต

ยาสเตียรอยด์ เช่น ยาคอร์ติซอลสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

ยาต้านเศร้า (Antidepressants) คือ ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) และยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)

ยาต้านอาการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวด ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น

ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด