กระดานสุขภาพ

ปวดกระบอกตาแล้วก็ลามไปปวดหู
Cutt*****e

8 สิงหาคม 2562 08:32:08 #1

มีอาการปวดช่วงเบ้าตาข้างซ้ายและปวดหัวช่วงบนค่ะ ทีแรกคิดว่าเป็นเพราะจ้องโทรศัพท์นานมากไป ก็พยายามจับโทรศัพท์ให้น้อยลง แต่ก็กินยาพาราไปนะคะ ทีนี้มันเป็นต่อเนื่องอยู่2วัน ก็กินยาไปตอนที่ปวด แต่พอหาย ก็ดันมีอาการปวดหูขึ้นมา ข้างเดียวกับที่ปวดกระบอกตาอะค่ะ อันนี้มันเกิดจากอะไรคะ คืนแรกที่ปวดมีไจ้ต่ำๆด้วยค่ะ ทีแรกว่าถ้ายังมีอาการก็จะไปหาหมอ แต่ตอนนี้ดันหายซะก่อน ก็เลยยังไม่ได้ไปค่ะ มีอาการอยู่4วันค่ะ
อายุ: 35 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 84 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 30.85 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

10 สิงหาคม 2562 19:02:32 #2

ปวดศีรษะ หรือ ปวดหัว (Headache) เป็นอาการไม่ใช่โรค เป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดย 2 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด และ 9 ใน 10 ของผู้ใหญ่ทั้งหมด เคยมีอาการปวดศีรษะ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เท่าๆกัน

สมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society: IHS) และองค์ การอนามัยโลก (WHO, World Health Organization) แบ่งการปวดศีรษะตามสาเหตุออกเป็น 3 กลุ่ม/ประเภทใหญ่คือ อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headache), อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary headache), และอาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches) เรียกว่า เป็นการแบ่งแบบ IHS Classification ICHD 3 โดย ICHD ย่อมาจาก International Classification of Headache Disorders

ก. อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headache): คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นเองจากความผิดปกติในการทำงานของสมองโดยไม่ได้เกิดจากโรค ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดศีรษะปฐมภูมิยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากกระบวนการที่เกี่ยวพันกันระหว่างหลอดเลือดในส่วนของศีรษะและเส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) รวมทั้งสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น อาการปวดศีรษะในกลุ่มนี้ เช่น

* โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine), โรคปวดศีรษะจากเครียด (Tension-type headache) ซึ่งอาการ เช่น การปวดศีรษะข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง โดยอาการปวดมักไม่รุนแรง เป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยที่สุดถึงประมาณ 90% ของการปวดศีรษะทั้งหมด เพราะเป็นอาการปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จากนอนไม่หลับ หิว เครียด ใช้สายตามาก ขาดน้ำ หรือ อดกาแฟ ทั้งนี้จัดเป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงน้อยถึงรุนแรงปานกลาง และ

* ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache) ซึ่งอาการเช่น ปวดศีรษะด้านเดียว ร่วมกับปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูก มักเป็นอาการปวดรุนแรง แต่เป็นโรคพบได้น้อยประมาณ 0.1% ของอาการปวดศีรษะในผู้ใหญ่

ข. อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary headache): ได้แก่ อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย เป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยความรุนแรงของอาการขึ้นกับสาเหตุ เช่น

* ปวดศีรษะจากการติดเชื้อทั้งจากภาย นอกและภายในสมอง

* ปวดศีรษะจากมีไข้

* ปวดศีรษะจากหลอดเลือดบริเวณศีรษะอักเสบ

* ปวดศีรษะจากดื่มสุรา

* ปวดศีรษะจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง เช่น ในโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), โรคเนื้องอกสมองและโรคมะเร็งสมอง, ปวดศีรษะจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ปวดศีรษะจากโรคต้อหิน, ปวดศีรษะจากโรคทางจิตเวช, และปวดศีรษะจากอุบัติเหตุต่อศีรษะและสมอง

ค. อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches): เช่น อาการปวดศีรษะที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่กำกับดูแลใบหน้า (Trigeminal neuralgia หรือ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า)ที่มักเป็นอาการปวดศีรษะปานกลางเรื้อรัง และมีการปวดใบหน้าร่วมกับอาการปวดศีรษะด้วย ส่วนใหญ่มักเกิดด้านเดียว แต่ประมาณ 10% พบเกิดทั้งสองข้าง ทั้งนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ จากมีหลอดเลือดกดทับประสาทเส้นนี้

แนวทางรักษาอาการปวดศีรษะ ได้แก่

ก. เมื่อเป็นการปวดศีรษะในกลุ่มปฐมภูมิ:

* การรักษาคือบรรเทาอาการปวดขณะปวดศีรษะ โดยการกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และ

* การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดฯ ซึ่งการรักษามักเป็นการกินยาซึ่งมีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของสาเหตุ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น ในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น

ข. การรักษาอาการปวดศีรษะในกลุ่มทุติยภูมิ: คือ การรักษาสาเหตุ เช่น

* รักษาปวดศีรษะจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะ

* รักษาโรคเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองด้วยการผ่าตัด และ/หรือร่วมกับรังสีรักษา

* รักษาอาการปวดศีรษะจากสายตาสั้นหรือสายตาเอียงด้วยการใส่แว่นตา

* การเลิกสุราเมื่อปวดศีรษะมีสาเหตุจากการดื่มสุรา เป็นต้น

ค. การรักษาอาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ: เป็นการรักษาตามสาเหตุ เช่น การผ่าตัดเมื่อมีหลอดเลือดกดประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นต้น

ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น การให้ยาแก้ปวดขณะมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งมียาแก้ปวดหลากหลายชนิด แต่ที่เป็นยาประจำบ้าน ผู้ป่วยซื้อยากินได้เองคือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาแก้ปวดชนิดอื่นๆควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์พยาบาลและเภสัชกร