กระดานสุขภาพ

มักจะมีอาการอาเจียรในที่คนเยอะ
Ccbc*****c

11 เมษายน 2562 05:39:07 #1

ดิฉันมักจะมีอาการรู้สึกอยากจะอาเจียร ใจเต้นแรง มือสั่นเวลาอยู่ในที่ๆคนเยอะๆ เช่น ในห้องสอบ ในหอประชุมที่มักจะจัดงานสำคัญและผู้คนเงียบ หรือแม้กระทั้งในร้านอาหาร (บางครั้ง) โรงหนัง คอนเสริต์ ทำให้บางครั้งต้องเลี่ยงที่จะไปเจอในสถานการณ์แบบนี้ ดิฉันอยากทราบว่านี้คืออาการอะไรคะ? แล้วจะมีวิธีแก้อย่างไรบ้างคะ?
อายุ: 22 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 156 กก. ส่วนสูง: 54ซม. ดัชนีมวลกาย : 534.98 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

11 เมษายน 2562 08:26:39 #2

โรคกลัว

ความกลัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในมนุษย์แทบทุกคน เป็นสันชาตญาณที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตรอดอยู่ได้ เพราะเมื่อเกิดความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวความสูง กลัวสัตว์ร้าย หรือกลัวคนแปลกหน้า มนุษย์จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนั้นซึ่งเท่ากับลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับตัวเองลง

ความกลัวในสิ่งที่น่ากลัวและกลัวอย่างพอดีจึงจำเป็นและมีประโยชน์ แต่ความกลัวสิ่งของหรือสถานการณ์บางอย่างที่มากเกินไปทั้งที่ไม่น่ากลัวและคนทั่วไปก็ไม่กลัวกัน แต่ก็เกิดความกลัวจนทำให้เป็นทุกข์มาก ทำให้เสียงานเสียการ และทำให้เกิดพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ในกรณีนี้ถือว่าเป็นโรคกลัว (phobia) ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง

อาการของโรคกลัว

ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติเมื่อพบกับสิ่งที่กลัว เช่น กล้ามเนื้อตึงตัว ปวดศีรษะ ใจสั่น หายใจไม่ทัน รู้สึกซ่าวูบขึ้นมาทั้งตัว มือสั่น ปากสั่น บางรายอาจรู้สึกวิงเวียนและหมดสติได้

การวินิจฉัย

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกลัวได้จากการซักประวัติและพูดคุยกับผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องเล่าอาการต่างๆ ให้แพทย์ฟังให้มากที่สุด และตอบคำถามที่แพทย์ถามเพิ่มเติมอย่างละเอียดและตรงไปตรงมาเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคกลัวจะกลัวบางสิ่งบางอย่างอย่างรุนแรง ไม่สมเหตุสมผล โดยที่ผู้ป่วยรู้ตัวดีว่าไม่จำเป็นจะต้องกลัวขนาดนั้นแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อพบเจอสิ่งที่กลัวก็จะมีอาการดังกล่าวข้างต้นจนก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลให้คิดทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น พยายามฆ่าตัวตาย โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันมาอย่างน้อย 1 เดือน

ประเภทของโรคกลัว

โรคกลัวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1. โรคกลัวเฉพาะอย่าง (specific phobia) เป็นชนิดของโรคกลัวที่พบได้บ่อย เช่น กลัวงู แมลงสาบ ผีเสื้อ ของมีคม กลัวเลือด กลัวความสูง ความมืด

2. โรคอะโกราโฟเบีย (agoraphobia) เป็นกลุ่มอาการกลัว (cluster of phobias) สถานการณ์หลายๆ อย่างที่มีลักษณะร่วมกัน คือหลบออกไปจากตรงนั้นได้ยาก หรือความช่วยเหลือเข้ามาถึงได้ยาก เช่น กลัวที่ชุมชนที่มีคนเบียดเสียด กลัวที่แคบ ห้องไม่มีหน้าต่าง กลัวการนั่งรถตู้ด้านหลัง การเข้าเครื่อง MRI การขึ้นเครื่องบิน

3. โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (social phobia) ผู้ป่วยจะกลัวเมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าความสนใจของผู้อื่น เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดผ่านไมโครโฟน หรือแม้แต่การขึ้นรถเมล์ประตูด้านหน้า

การรักษาโรคกลัว

แพทย์รักษาโรคกลัวด้วยวิธีหลักๆ 2 วิธี ได้แก่

พฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) จัดเป็นการรักษาหลัก วิธีการคือให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (graded exposure) โดยเริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวน้อยๆ ก่อน เมื่อหายกลัวแล้วจึงค่อยเผชิญกับสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเป้าหมายที่ผู้ป่วยตั้งใจไว้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยอย่างมาก

การรักษาด้วยยา (pharmacotherapy) เป็นการรักษารองเนื่องจากผลที่ได้จะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป โดยยาที่นำมาใช้ เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้าบางชนิด ยาแก้โรคจิตบางชนิด และยาระงับอาการสั่น หรือ เบต้าบล็อกเกอร์ (betablockers) โดยแพทย์จะใช้ยาในผู้ป่วยที่กลัวมากจนไม่ยอมทำพฤติกรรมบำบัด เนื่องจากยาจะช่วยให้ผู้ป่วยกลัวน้อยลงและกล้าฝึก เมื่อผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการทำพฤติกรรมบำบัดแพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ เพราะการให้ยาอย่างเดียวไม่ทำให้หายขาด เมื่อหยุดยาอาการกลัวก็จะกลับมาอีก