กระดานสุขภาพ

แม่เป็น chf กังวล
Yama*****a

22 มกราคม 2562 08:12:52 #1

สวัสดีค่ะ คือมีเรื่องอยากรบกวนปรึกษาค่ะ คือก่อนหน้านี้แม่เป็นน้ำท่วมปอด ค่ะตอนนี้มันเรื่มแห้งนิดหน่อยแล้ว 

และหมอที่อำเภอวินิจฉัยแม่เป็นโรค  chf   และออกซืเจนแม่ต่ำ มันอันตรายไหมค่ะ เพราะแม่ไม่มีอาการเหนื่อยเลย  มีแต่แน่นหน้าอก เพลีย  และใจสั่น อยากขอวิธีการรักษาและปรนิบัติค่ะ

 

อายุ: 58 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 76 กก. ส่วนสูง: 150ซม. ดัชนีมวลกาย : 33.78 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

22 มกราคม 2562 18:23:39 #2

ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ ภาวะหัวใจวาย (Heart failure) คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้อย่างพอเพียง ส่งผลให้เกิดอาการที่สำคัญคือ อา การเหนื่อย ภาวะนี้เป็นผลมาจากการเป็นโรคต่างๆ อาการมีทั้งชนิดที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือเรื้อรัง และอาจมีปัจจัยส่งเสริมต่างๆที่ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ หลักการรักษาคือ ต้องรักษาภาวะของหัวใจวายและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ รวมถึงกำจัดปัจจัยส่งเสริมต่างๆ

ภาวะหัวใจล้มเหลว พบได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่สาเหตุของการเกิดจะแตกต่างกันไป โดยรวมแล้ว ยิ่งอายุมากขึ้นจะพบได้มากขึ้น โดยในภาพรวมในประเทศที่กำลังพัฒนา พบความชุกของภาวะหัวใจล้มเหลวได้ประมาณ 2 - 3% ของประชากรทั้งหมด แต่หากอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป จะพบความชุกของภาวะนี้ได้ 20 - 30%

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่

โรคหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น

โรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Dilated cardiomyopathy

โรคลิ้นหัวใจต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ

โรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุอื่นๆที่พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การได้รับยาหรือสารบางประ เภทเกินขนาด เช่น โคเคน แอลกอฮอล์ การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคที่มีโปรตีนชื่อ Amyloid เข้าไปสะสมที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Amyloidosis) เป็นต้น

ภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการอย่างไร?

ในทางการแพทย์ มีวิธีการแบ่งอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่หลายแบบเพื่อให้ง่ายต่อการหาสาเหตุ เช่น

การแบ่งว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากหัวใจห้องล่างบีบตัวไม่ดี จึงนำเลือดไปเลี้ยงร่าง กายไม่เพียงพอ (Systolic failure) หรือเกิดจากหัวใจห้องล่างขยายตัวเพื่อรับเลือดเข้ามาได้แต่ไม่เพียงพอ (Diastolic failure) จึงทำให้ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ และทำให้เกิดเลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆ

การแบ่งว่าภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากหัวใจห้องด้านขวาหรือห้องด้านซ้าย (Right-sided, Left-sided heart failure)

การแบ่งว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดที่มีเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายน้อยลง (Low-output heart failure) ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย หรือเป็นชนิดที่มีเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายมาก (High-output heart failure) แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่อง จากมีการขยายตัวของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายและทำให้ความดันโลหิตต่ำลง

การแบ่งว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดที่ทำให้เกิดเลือดคั่งในหลอดเลือดดำ (Backward heart failure) หรือชนิดที่ส่งเลือดออกไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ (Forward heart failure)

หากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมาไม่นาน (หรือแบบเฉียบพลัน) การจัดว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มไหนในการแบ่งแต่ละอย่างจะค่อนข้างชัดเจน โดยอาศัยจากอาการผู้ป่วยและความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบซึ่งจะแตกต่างกัน แต่หากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมานานแล้ว (หรือเรื้อรัง) อา การผิดปกติต่างๆจะคล้ายๆกัน ทำให้การแบ่งผู้ป่วยจะทำได้ค่อนข้างยาก และอาจไม่มีความจำ เป็นแล้ว

ดังนั้น เพื่อความใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป อาการโดยรวมของภาวะหัวใจล้มเหลว คือ

อาการเหนื่อย/หายใจลำบาก (Dyspnea) ในช่วงแรกของการเกิดภาวะนี้ อาการเหนื่อยจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อออกแรงทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือออกกำลังกาย ซึ่งผู้ป่วยจะ ต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตนเอง เนื่องจากความรู้สึกเหนื่อยของแต่ละคนเมื่อออกแรงทำกิจกรรมเดียวกันอาจไม่เท่ากัน แต่เมื่อภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาการเหนื่อยก็จะเป็นมากขึ้น จนกระทั่งทำกิจวัตรประจำวันธรรมดา เช่น กวาดบ้าน อาบน้ำ กินข้าว ก็จะเหนื่อยง่ายจนผิดสังเกต และเมื่อภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงมาก ผู้ป่วยก็จะรู้สึกเหนื่อยแม้ว่ากำลังนั่งเฉยๆก็ตาม

อาการเหนื่อยเหล่านี้เกิดจากการที่หัวใจบีบเลือดออกไปสู่อวัยวะต่างๆได้ไม่เต็มที่ เลือดจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือดของปอด ทำให้ค่าความดันของหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดดำเล็กๆในปอดเพิ่มขึ้น น้ำจากหลอดเลือดปอดเหล่านี้จึงซึมออกมาและเข้าไปอยู่ในถุงลม ทำให้ถุงลมของปอดมีน้ำคั่ง เรียกว่า ภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) การแลกเปลี่ยนก๊าซจึงลดลง ผู้ป่วยจึงรู้สึกเหนื่อย อีกทั้งการที่หัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆลดลง ซึ่งรวมไปถึงกล้าม เนื้อที่ใช้ในการหายใจเข้าออก ก็มีส่วนทำให้รู้สึกเหนื่อยด้วยเช่นกัน

อาการนอนราบไม่ได้ (Orthopnea) กล่าวคือ ผู้ป่วยจะต้องใช้หมอนหนุนหลายใบเพื่อให้ศีรษะยกตัวสูงขึ้น ในรายที่อาการรุนแรงจะไม่สามารถล้มตัวลงนอนราบตามปกติได้เลย ต้องนอนหลับในท่านั่งเท่านั้น สาเหตุเกิดจากเมื่อนอนราบลง น้ำที่อยู่ในช่องว่างระหว่างเนื้อเยื่อและในหลอดเลือดของขาและช่องท้อง จะไหลเทกลับเข้าสู่หัวใจ แต่เนื่องจากหัวใจไม่สามารถบีบเลือดออกไปสู่ร่างกายได้เหมือนปกติ เลือดจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือดของปอด และทำให้เกิดอาการเหนื่อยตามมาดังได้กล่าวแล้วนั่นเอง อีกทั้งในท่านอน กะบังลมจะยกตัวสูง ทำให้ปริ มาตรปอดลดลงด้วย อาการนี้มักจะปรากฏช้ากว่าอาการเหนื่อย

อาการเหนื่อยฉับพลันขณะหลับ (Paroxysmal nocturnal dyspnea) คือ ขณะที่ผู้ ป่วยนอนหลับ อยู่ๆก็จะตื่นขึ้นมากะทันหันเพราะรู้สึกเหนื่อย เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ หรืออาจตื่นขึ้นมาและมีอาการไอติดๆกัน (Nocturnal cough) จนผู้ป่วยต้องลุกขึ้นนั่งห้อยขา เพื่อให้อา การเหนื่อยหรือไอบรรเทาลง สาเหตุเกิดจากขณะนอนหลับ ศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองจะทำงานลดลง ทำให้การหายใจช้าลง และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการบีบตัวของหัวใจก็ทำงานลดลงด้วย ซึ่งในคนปกติจะไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ก็จะมีอาการเหนื่อยขึ้นมา

อาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ เกิดจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆทั่วร่างกายลดลง

น้ำหนักลด ผอมลง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเป็นมานาน จะมีน้ำหนักตัวลดลงได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจทำงานหนักขึ้น มีอาการเบื่ออาหาร การดูดซึมอาหารของลำไส้ลดลง ซึ่งเป็นผลจากมีเลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำของผนังลำไส้ และมีการเพิ่มขึ้นของสารเคมีชื่อ Tumor necrotic factor (TNF) ในเลือด ทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น

เกิดน้ำคั่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ สาเหตุเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถบีบเลือดเข้าสู่หลอดเลือดแดงได้เพียงพอ เลือดจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดฝอย ทำให้ความดันของหลอดเลือดดำสูงขึ้น น้ำในหลอดเลือดจึงซึมออกจากหลอดเลือด ออกมาคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆหลอดเลือด และทำให้เกิดอาการต่างๆ นอกจากนี้ภาวะหัวใจวาย ยังทำให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงไตลดลง เซลล์ของไตที่ผลิตฮอร์โมนจึงถูกกระตุ้นและหลั่งฮอร์โมนออกมาเป็นฮอร์โมนกลุ่มเรียกว่า Renin-Angiotensin-aldosterone system ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ไตดูดซึมเกลือโซเดียมและน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายมากกว่าปกติ ร่างกายของผู้ป่วยจึงยิ่งมีปริมาณน้ำคั่งมากขึ้นไปอีก

อาการที่เกิดจากน้ำคั่ง ได้แก่ น้ำที่คั่งในถุงลมของปอด/ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ทำให้เกิดอาการเหนื่อย และหากฟังเสียงปอดจะได้ยินเสียงผิดปกติ (Pulmonary rales) หรือน้ำอาจเกิดการคั่งอยู่ในช่อง/โพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion: ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด) ซึ่งก็ทำให้มีอาการเหนื่อยเช่นกัน น้ำอาจซึมออกมาจากหลอดเลือดดำในท้อง ทำให้เกิดมีน้ำในท้องขึ้น (Ascites: ท้องมาน) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องโต แน่นท้อง นอก จากนี้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอาจเกิดน้ำคั่ง ทำให้เกิด

อาการบวมได้ โดยเฉพาะบริเวณหน้าแข้งและข้อเท้า ซึ่งมักจะเป็นมากขึ้นในช่วงเย็น เมื่อผู้ป่วยเดิน ยืน หรือนั่งห้อยขามาตลอดทั้งวัน แต่หากเป็นผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเตียง จะเห็นเนื้อเยื่อบริเวณก้นกบบวมแทน

อาการอื่นๆ เช่น มีเสียงหัวใจเต้นผิดปกติ คือมีเสียงที่ 3 และ 4 เกิดขึ้น (เสียงหัว ใจในคนปกติมีแค่ 2 เสียง) เรียกว่า S-3 หรือ S-4 gallop ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบความดันโลหิตระหว่างตัวบน (Systolic pressure) กับตัวล่าง (Diastolic pressure) มีค่าแคบลง หรืออาจจับชีพจรได้แรงกับเบาสลับกันไปอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่า Pulsus alternans ในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นฉับพลัน หรือมีอาการกำเริบขึ้นรุนแรง อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกหน้ามืด ใจสั่น ปากเขียว เล็บมือเขียว (ภาวะเขียวคล้ำ) เพราะเนื้อเยื่อต่างๆขาดออกซิเจนได้

แนวทางหรือหลักการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว คือ รักษาอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ และรักษาหรือกำจัดปัจจัยส่งเสริมให้หมดไป ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะการรัก ษาอาการที่เกิดจากภาวะหัวใจวายเท่านั้น เพราะการรักษาสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสาเหตุ/ปัจจัย โดยการรักษาอาการจากภาวะหัวใจวาย แบ่งออกเป็น

การป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: ในภาวะหัวใจวาย ระบบฮอร์โมนระหว่าง Renin-angiotensin-aldosterone system และสารสื่อประสาทในระบบประสาทอัตโนมัติ Sympathetic nervous system จะถูกกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ซึ่งมีผลให้หัวใจบีบตัวทำงานหนักมากขึ้น การรักษาจึงต้องให้ยาที่ไปต้านฮอร์โมนและสารสื่อประสาทเหล่านี้ เช่น ยาในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitors, ยากลุ่ม Angiotensin receptor blockers, ยากลุ่ม Aldosterone antagonist, และยากลุ่ม Beta-adrenoceptor blockers

การควบคุมและกำจัดน้ำส่วนเกิน/น้ำคั่ง: ภาวะหัวใจวายทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำรวมถึงเกลือแร่โซเดียม/เกลือแกงเกินกว่าปกติ และทำให้เกิดอาการบวมในเนื้อเยื่อ/อวัยวะตามมาดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ การรักษาจึงต้องขจัดน้ำและโซเดียมส่วนเกินนี้ ได้แก่

การจำกัดการบริโภคเกลือโซเดียมจากอาหารที่รับประทาน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับเกลือโซ เดียมเกินกว่าความสามารถที่ไตจะกำจัดออกไปทางปัสสาวะได้ (ซึ่งในภาวะหัวใจล้มเหลว ไตจะดูดน้ำและโซเดียมกลับมากกว่าปกติอยู่แล้ว) เพราะหากรับประทานเกลือมาก กระแสเลือดของเราก็จะมีโซเดียมมากขึ้น ไตก็จะดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น แทนที่จะขับออกทางปัสสาวะทิ้งไป ร่างกายจึงมีการคั่งของน้ำมากขึ้นไปอีก

การให้ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีอยู่หลายตัว เช่น Furosemide เป็นต้น

การลดภาระการทำงานของหัวใจ ได้แก่ การงดการออกแรงทำงาน หรือออกกำลังที่ทำให้รู้ สึกเหนื่อยเกินไป หากจะทำงาน ควรมีระยะพักเป็นระยะๆบ่อยๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยเกินไป รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์โกรธ หงุดหงิด และความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ ซึ่งอาจต้องใช้ยาระงับประสาท/ยาคลายเครียดช่วย

การเพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ คือการใช้ยา Digitalis เพื่อช่วยให้หัวใจบีบเลือดส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ดีขึ้น โดยที่ต้องไม่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการขาดเลือด

อนึ่ง ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่างๆดังที่กล่าวมา จะถือว่าผู้ป่วยมีภาวะดื้อต่อการรักษา (Refractory heart failure) ซึ่งมักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งการรักษาที่อาจช่วยชวิตได้ คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

การดูแลตนเองและการพบแพทย์ในภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่

ผู้ป่วยต้องจำกัดการบริโภคเกลือโซเดียม/เกลือแกงในอาหาร ในบุคคลทั่วไป องค์ การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคเกลือแกงไม่เกินวันละ 6 กรัมหรือเท่ากับ 1 ช้อนชา หากเทียบเป็นปริมาณโซเดียมจะเท่ากับ 2,400 มิลลิกรัม แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายแล้ว ต้องลดปริมาณเกลือแกงที่บริโภคให้น้อยลงกว่านี้ โดยต้องงดการเติม ซีอิ้ว น้ำปลา ซอสปรุงรส หรือน้ำจิ้มข้างเคียงต่างๆเพิ่มลงในอาหารที่ปรุงมาแล้ว และอาหารที่ปรุงก็ต้องไม่เค็มด้วย รวมทั้งต้องงดอาหารที่มีเกลือแกงอยู่ในปริมาณสูง ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงต้องจำกัดการกินเกลือแกงอย่างเข้มงวด โดยบริโภคเกลือแกงได้ไม่เกินวันละ 0.5 - 1 กรัม ซึ่งหมายถึงการงดเติมซีอิ้ว น้ำปลา และซอสปรุงรสต่างๆทุกชนิดลงไปในอาหารที่ปรุง รวมถึงผงชูรส เพราะผงชูรสมีโซ เดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ ผู้ป่วยจึงต้องเตรียมอาหารกินเอง ไม่สามารถซื้อรับประทานจากนอกบ้านได้

อาหารที่มีเกลือแกงอยู่ในปริมาณสูงและผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยง เช่น อาหารที่มีเต้าเจี้ยว กะ ปิ ปลาร้า หรือน้ำบูดู เป็นองค์ประกอบ อาหารกระป๋องทุกชนิด รวมถึงผลไม้กระป๋อง และน้ำผล ไม้กล่องด้วย อาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป ซุปก้อน ผงทำอา หารสำเร็จรูป ขนมถุงกรุบกรอบต่างๆ ขนมที่มีการเติมผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง เพราะผงฟูมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ เครื่องดื่มเกลือแร่ ชูกำลังต่างๆ รวมไปถึง ชีส (เนย) เนื้อ สัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน เนื้อสวรรค์ เป็นต้น

การออกแรงทำงานหรือออกกำลังกายจนเกิดอาการเหนื่อยเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับหัวใจ แต่ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ควรออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆที่ไม่ทำให้เหนื่อยเกินไปเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินออกกำลัง ขี่จักรยานเบาๆกับเครื่องออกกำลัง เป็นต้น

ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ตรวจสม่ำเสมอตามนัด หากมีอาการกำเริบ เช่น เหนื่อยมากขึ้นมาฉับพลัน นอนราบไม่ได้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

ผู้ป่วยควรชั่งน้ำหนักทุกวันเพื่อดูว่าปริมาณน้ำในร่างกายมากเกินไปหรือไม่ เวลาที่ชั่งน้ำหนักควรเป็นตอนเช้าหลังจากถ่ายปัสสาวะแล้ว และก่อนรับประทานอาหารเช้า รวมทั้งจดบันทึกน้ำหนักทุกวัน ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 2 กิโลกรัมในหนึ่งวัน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยา บาล เพราะน้ำหนักที่เกินมา 2 กิโลกรัม จะเท่ากับว่ามีน้ำคั่งค้างในตัว 2 ลิตร อาจทำให้ภาวะหัว ใจล้มเหลวกำเริบได้