กระดานสุขภาพ

ซิฟิลิส
Fahs*****3

7 ธันวาคม 2561 03:55:03 #1

ตอท้องได้สามเดือนได้ตรวจเลือดพบว่าเป็นซิฟิลิส 1:4 ได้ทำการรักษาโดยการฉีดยาครบ3เข็ม เมื่อฉีดยาครบแล้ว ตรวจตอนท้อง 7เดือนเหลือ 1:2 พอลูกคลอด ตรวจเลือดอีกที ได้ 1:1 ค่ะ ตอนลูกคลอด ผลเลือดลูก 1:1 แต่หมอไม่ได้ฉีดยาให้ลูกนะคะ หมอให้ตรวจเลือดลูกอีกทีตอน 3เดือน ผลเลือดออกมา ปกติ. ปัจจุบันลูก ได้ 1.6ขวบแล้วค่ะ พอมาเมื่อวานไปตรวจเลือดของตัวเองดู. ผลเลือดได้ 1:2. ผ่านมานาน1.6ปีแล้ว ผลเลือดยังมีอยู่ และเพิ่มขึ้นจาก 1:1เป็น 1:2 เลยคิดว่า 1.น่าจะติดเชื้อซ้ำหรือเปล่าคะ 2.ต้องรักษาอีกรอบไหมคะ 3.ระยะ 1:2 นี้แพร่เชื้อได้ไหมคะ 4.ใช้เวลานานแค่ไหนผลเลือดถึงจะปกติคะ
อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 162ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.81 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

13 ธันวาคม 2561 15:38:43 #2

คำแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคซิฟิลิส

ทันทีที่สงสัยว่าเป็นโรคซิฟิลิส ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว และในขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหาย

หากผู้ป่วยมีคู่สมรสจะต้องแจ้งให้คู่สมรสทราบด้วยเพื่อที่คู่สมรสจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน

ผู้ที่ควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ชายรักร่วมเพศ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีคู่สมรสที่ผลเลือดการตรวจพบเชื้อเอชไอวี

แผลซิฟิลิสจะทำให้สามารถถ่ายทอดเชื้อหรือรับเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมีแผลซิฟิลิสอยู่ด้วยไม่ว่าจะที่อวัยวะเพศชาย ช่องคลอด หรือทวารหนัก ก็จะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้มากถึง 2-5 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีแผล

การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงซิฟิลิส อาจเป็นตัวชี้ว่าผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อเอชไอวีได้ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นตัวบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจติดเชื้อเอชไอวีได้)

ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการเท่านั้นที่จะช่วยยืนยันได้ว่าใครเป็นโรคซิฟิลิส เพราะบางรายแผลของโรคอาจซ่อนอยู่ในช่องคลอด ทวารหนัก ในช่องปาก จึงทำให้ไม่ทราบได้ชัดเจนว่าคู่นอนเป็นโรคนี้หรือไม่ หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ผู้หญิงบางคนอาจติดเชื้อซิฟิลิสจากสามีที่ชอบเที่ยว โดยไม่มีอาการแสดงให้ทราบ และอาจติดต่อถึงทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ในการฝากครรภ์ จึงควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาวีดีอาร์แอลและควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีไปด้วยพร้อม ๆ กัน ถ้าผลเลือดเป็นบวกแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อไปให้ทารกในครรภ์

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยซิฟิลิสในระยะ 3 เดือนแรก ควรได้รับการรักษาแบบซิฟิลิสระยะแรก

ในรายที่ไม่มีอาการแสดงหรืออยู่ในระยะแฝงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเช่นกัน เพราะเชื้อซิฟิลิสจะยังคงแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้นานหลายปีและพร้อมที่จะลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะร้ายแรงของโรคได้

ผู้ป่วยทั้งที่มีอาการแสดงและไม่มีอาการแสดง ไม่ควรรักษาโรคนี้ด้วยตัวเองไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เพราะการรักษาไม่ถูกวิธีจะทำให้โรคไม่หายขาดและเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะร้ายแรงของโรคได้

สำหรับซิฟิลิสระยะที่ 1 และ 2 รวมทั้งระยะแฝงภายใน 2 ปีแรก หลังการรักษาควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลเดือนละครั้งใน 3 เดือนแรก ต่อไปให้ตรวจทุก 3 เดือน จนครบ 9 เดือน และต่อไปให้ตรวจทุก 6 เดือน จนครบ 1 ปี (รวมทั้งหมด 2 ปี) เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหายขาดแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปผลเลือดจะเป็นปกติภายใน 2 ปี

สำหรับซิฟิลิสระยะแฝงเกิน 2 ปี ซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด และซิฟิลิสที่เข้าระบบประสาท ควรตรวจวีดีอาร์แอลทุก 3 เดือน จนครบปีที่ 1 ต่อไปให้ตรวจทุก 6 เดือน จนครบปีที่ 2 และต่อไปให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง จนตลอดชีวิตของผู้ป่วย

การรักษาแม้จะช่วยป้องกันการทำลายของอวัยวะในร่างกายได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาอวัยวะที่ถูกทำลายไปแล้วได้

เมื่อเป็นโรคซิฟิลิสครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นโรคนี้อีก แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและครบถ้วนก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้อีก

เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะท้ายของโรค การรักษาควรหยึดหลักบำรุงสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการปฏิบัติดังนี้

อาหารที่รับประทานจะต้องประกอบไปด้วยข้าว ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งนมและไข่

ดื่มน้ำให้มาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสิ่งกระตุ้นทั้งปวง ตลอดจนน้ำชา กาแฟ และอาหารเผ็ดร้อนต่าง ๆ

อาบน้ำบ่อย ๆ และอาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง