กระดานสุขภาพ
อากาศหนาวแต่เหงื่อออกที่รักแร้อย่างเดียว | |
---|---|
2 พฤศจิกายน 2561 17:34:43 #1 สวัสดีค่ะ หนูมีปัญหาที่หนักใจมาก ถึงขนาดเครียดและกังวลตลอดเวลาค่ะ ปกติหนูเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเหงื่อ โดยเฉพาะรักแร้นี่แทบไม่มีเลย กลิ่นตัวก็ไม่แรง ทาโรลออนก็เอาอยู่ แต่หลังจากที่หนูไปฝังยาคุม ได้ซักเกือบ 2 ปี ก็เริ่มมีอาการเหงื่อที่รักแร้ ออกตลอดเวลา กลิ่นตัวรุนแรงมากขนาดที่หนูยังเวียนหัว ต้องอาบน้ำวันละ 6 ครั้ง เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น ก่อนนอน ทุกวัน เพราะกลิ่นมันรุนแรงมากจริงๆ เหมือนกลิ่นเหงื่อผู้ชาย ไม่มีโรลออนใดจัดการได้ สารส้มก็ช่วยแค่ 1-2 ชั่วโมง เหม็นมากค่ะ ตอนนอนก็แทบนอนไม่ได้ เพราะเหม็นอบอวลไปหมด รักแร้ก็เปียกตลอด ขนาดอากาศหนาวๆ ไม่ได้ทำอะไรที่ต้องเสียเหงื่อ รักแร้ก็ยังเปียกและเหม็น มันเกิดจากอะไรคะ แล้วจะรับมือยังไงดีคะ |
|
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 57 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.94 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
พญ.กิติพร กวียานนท์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป |
6 พฤศจิกายน 2561 10:22:52 #2 ต่อมเหงื่อ (Sweat gland) มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่สร้างเหงื่อ เรียกว่า ต่อม Eccrine (Eccrine sweat gland) ซึ่งกระจายอยู่มากมายทั่วทั้งร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปาก ปลายอวัยวะเพศชาย และบริเวณปุ่มกระสัน (Clitoris) ของอวัยวะเพศหญิง โดยจะมีมากในบริเวณ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และชนิดสร้างกลิ่นเรียกว่า ต่อม Apocrine (Apocrine sweat gland) ซึ่งมีอยู่เฉพาะจุด คือ บริเวณรักแร้ อวัยวะเพศภายนอก และบริเวณรอบๆทวารหนัก ซึ่งต่อมชนิดนี้จะเริ่มทำงานใน ช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบต่อมเหงื่ออีกชนิดที่ เรียกว่า ต่อม Apoeccrine (Apoeccrine sweat gland) เป็นต่อมมีเฉพาะที่รักแร้ และเริ่มทำงานเมื่อเข้าสู่วัย รุ่น มีลักษณะคล้ายทั้ง 2 ต่อมที่ได้กล่าวแล้ว แต่จะสร้างเหงื่อได้คล้ายกับต่อม Eccrine แต่มีการหลั่งเหงื่อที่มากกว่าต่อม Eccrine ถึง 10 เท่า และพบจำนวนต่อมได้มากกว่าคนทั่วไปมากเมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมากในบริเวณรักแร้ ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือเรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก หรือภาวะเหงื่อท่วม (Hyperhidrosis)” ได้แก่ ภาวะที่ต่อมเหงื่อชนิด Eccrine สร้างเหงื่อมากผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำ เช่น การเข้าสังคม มีกลิ่นตัว และ/หรือต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ซึ่งเมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด แต่มักเกิดเฉพาะในช่วงกลางวัน ในช่วงกลางคืนจะปกติ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ (Primary hyperhidrosis หรือ Idiopathic hyperhidrosis หรือ Essential hyperhidrosis) แต่เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดขึ้นโดยรู้สาเหตุ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis) เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเป็นเพียงบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า ซึ่งมักออกในช่วงกลางวัน เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด (Focal hyperhidrosis) และ เมื่อออกมากผิดปกติทั่วทั้งตัว เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว (Generalized hyperhidrosis) ซึ่งเหงื่ออาจออกกลางวัน กลางคืน ทั้งกลางวันกลางคืน หรือเป็นเวลาช่วงไหนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ ในภาวะปกติ สามารถพบช่วงมีเหงื่อออกมากกว่าปกติได้ เช่น ในการออกกำลังกาย อากาศร้อน อากาศอบอ้าว กินอาหารเผ็ดหรืออาหารร้อน ตื่นเต้น เครียด หรือมีไข้ ภาวะหลั่งเหงื่อมาก เป็นภาวะพบได้บ่อย แต่สถิติที่แท้จริงยังไม่ทราบ เพราะมีผู้ป่วยเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มาพบแพทย์ด้วยภาวะนี้ แต่ประมาณว่า ในประชากรทั้งหมดสามารถพบภาวะนี้ได้ประมาณ 0.6-1% โดยพบภาวะนี้ได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงได้บ่อยเท่ากับในผู้ชาย ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด พบว่าประมาณ 50% เกิดที่รักแร้ โดยอาจเกิดที่รักแร้จุดเดียว หรือร่วมกับที่ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า ประมาณ 29%เกิดที่ฝ่าเท้าที่เดียวและ/หรือร่วมกับจุดอื่นๆ และประมาณ 25% เกิดที่ฝ่ามือที่เดียวและ/หรือร่วมกับจุดอื่นๆ ทั้งนี้ ประมาณ 80% ของเหงื่อออกมากผิดปกติที่ ฝ่ามือ และ/หรือรักแร้ จะพบอาการได้ตั้งแต่เป็นเด็ก โดย 75% เกิดในช่วงวัยรุ่น และมีการศึกษาพบว่า ในคนที่มีภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดนี้ ประมาณ 62% มีอาการมานานแล้ว โดยจำไม่ได้ว่าเริ่มมีอาการเมื่ออายุเท่าไร ประมาณ 33% มีอาการเมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่น และเพียงประมาณ 5% ที่อาการเริ่มเกิดหลังเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาการของภาวะหลั่งเหงื่อมาก เมื่อเกิดเฉพาะที่โดยไม่รู้สาเหตุ มักมีเพียงอาการเดียว คือ มีเหงื่อออกมากผิดปกติ เฉพาะจุด ที่พบได้บ่อย คือ ที่รักแร้ รองลงมาตามลำดับ คือ ฝ่าเท้า และฝ่ามือ แต่อาจพบที่ตำแหน่งอื่นได้ แต่น้อยมาก เช่น หลัง หู หรือ หนังศีรษะ ทั้งนี้อาการเกิดขึ้นโดยไม่มีตัวกระตุ้น จะเกิดเวลาใดก็ได้ แต่เกิดเฉพาะเวลากลางวัน ไม่เกิดช่วงกลางคืน ทั้งนี้จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ได้ ผู้นั้นต้องมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างน้อยนาน 6 เดือน และต้องเกิดร่วมกับอีก 2 ใน 6 ลักษณะ ดังนี้ ต้องมีเหงื่อออกผิดปกติเหมือนๆกันทั้งสองข้างของร่างกาย (คือทั้งซ้ายและขวา) เหงื่อออกมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เหงื่อออกมาก เกิดบ่อยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาการเกิดก่อนอายุ 25 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะนี้ เหงื่อออกช่วงกลางคืนปกติ อาการภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว จะเกิดเวลากลางวัน หรือกลางคืนก็ได้ หรือเกิดทั้งวัน หรือ เกิดเป็นเวลา ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆเสมอ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมลงโดยไม่รู้สาเหตุ ไอเรื้อรัง หรือ ปัสสาวะมากและบ่อย เป็นต้น ทั้งนี้ อาการร่วมจะเป็นไปตามอาการของแต่ละสาเหตุ ดังนั้นจึงแตกต่างกันไป แนวทางการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมาก ได้แก่ ก. การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดโดยไม่รู้สาเหตุ (ภาวะปฐมภูมิ): มีหลายวิธีอาจใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของ แต่ละวิธีการ และดุลพินิจของแพทย์ โดยทั่วไปจะเริ่มด้วย ยาทาเฉพาะที่ที่เรียกว่า Antiperspirants ทายาตรงตำ แหน่งที่เกิดอาการ โดยทาหลังอาบน้ำ หลังเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง ซึ่งยามีคุณสมบัติก่อให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อและเกิดการฝ่อตัวของต่อมเหงื่อ โดยทายาติดต่อกันทุกคืนจนกว่าเหงื่อจะออกน้อยลง ต่อจากนั้นจะทยอยทายาห่างออกไป เช่น เป็นทุกสัปดาห์ หรือ ทุก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งยามักได้ผลภายใน 2 วันถึง 4 สัปดาห์ เมื่อหยุดใช้ยาอาการมักกลับเป็นใหม่ได้อีก ยาลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งชนิดทาเฉพาะที่ และชนิดกิน การรักษาโดยวิธีที่เรียกว่า ไอออนโตฟอรีสิส (Iontophoresis) คือการใช้กระ แสไฟฟ้าพลังงานต่ำเป็นตัวนำโมเลกุลของน้ำธรรมดา หรือของตัวยา เพื่อให้เข้าสู่ผิวหนังเฉพาะที่มีต่อมเหงื่อที่เกิดอาการโดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมเหงื่อในบริเวณที่ได้รับกระแสไฟ ฟ้าลดการทำงานลง การรักษาอาจต้องทำอย่างน้อย 2-3 ครั้งจึงจะเห็นผล และอาจต้องให้การรักษาซ้ำทุกๆ 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับคืนมาอีก การฉีดยาโบทอก (Botox หรือ Botulinum toxin) ซึ่งจะลดการทำงานของประ สาทอัตโนมัติ จึงลดอาการเหงื่อออก ซึ่งก็ต้องฉีดซ้ำเมื่ออาการกลับคืนมาอีก โดยแต่ละครั้งของการใช้ยา จะเห็นผลภายในประมาณ 1-4 สัปดาห์ และจะควบคุมอาการได้นานประมาณ 3-5 เดือน การผ่าตัด หรือการจี้ปมประสาท (Ganglion) ของประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมต่อมเหงื่อในตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งมักเห็นผลทันทีภายหลังรักษา โดยพบอาการย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 1%ใน 1 ปี และประมาณ 2-5%ในปีต่อๆมา ข. การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัวที่ทราบสาเหตุ (ภาวะทุติยภูมิ) คือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง โรคมาลาเรีย โรคเบาหวาน หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น |
Anonymous