กระดานสุขภาพ

โดนแมลงก้นกระดกที่ไข่
Jamm*****2

30 ตุลาคม 2561 11:40:05 #1

ตามนั้นแหละครับ ไม่รู้มันเข้าไปได้ไง ตอนแรกรู้สึกคันๆ แปลกๆ เลยถอดมาดู เจอซากแมลงก้นกระดกอยู่ ตอนแรกก็คันๆครับ ตอนนี้เจ็บแสบมาก เริ่มมีการพอง

มีอะไรพอช่วยบรรเทา หรือทำให้หายเร็วได้บ้างครับ

อายุ: 18 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 177ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.60 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Jamm*****2

1 พฤศจิกายน 2561 15:01:42 #2

ล่าสุดทรมานมาก เดินไปไหนไม่สะดวกเลยรับ เจ็บไปหมด ที่มันพอกขึ้นมาก็แตก เพราะไข่มันตึงๆหย่อนๆตลอดเวลา ตอนนี้แค่น้ำเปล่าโดนแผลก็แสบมากครับ นึกถึงตอนเป็นสังคังแล้วเอาซีม่าทา แสบแบบนั้นเลยครับ

พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

6 พฤศจิกายน 2561 10:22:32 #3

ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดชนิดหนึ่งที่พบบ่อย คือ จากแมลงด้วงก้นกระดก (Paederus dermatitis) โดยผื่นจากแมลงชนิดนี้มักมีการอักเสบที่รุนแรงและมีลักษณะจำเพาะ

ด้วงก้นกระดก (Rove beetles) หรือด้วงก้นงอน หรือแมลงน้ำกรด หรือแมลงเฟรชชี่ หรือแมลงเฟรซซี่ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีลักษณะเด่น คือ ก้นกระดกหรืองอนขึ้น ทำให้เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก หรือด้วงก้นงอน แมลงชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paederus fuscipes จัดอยู่ในอันดับ (Order) Coleoptera วงศ์ (Family) Staphyinidae ซึ่งพบได้ทั่วโลกรวมทั้งทุกภาคของประเทศไทย มักพบบ่อยตามพงหญ้า และมักชอบเล่นแสงสว่างจากไฟบ้านในฤดูฝนโดยเฉพาะในตอนกลางคืน ดังนั้นจึงพบอุบัติการณ์การเกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกมากในฤดูฝน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาอื่นก็พบผื่นเช่นนี้ได้เหมือนกัน

อาการจากผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก คือ มักพบผื่นเกิดขึ้นโดยฉับพลันหลังแมลง/ด้วงฯกัดภายใน 12-36 ชั่วโมง ดังนั้นอาจมีประวัติพบผื่นหลังตื่นนอนตอนเช้าได้ โดยมักพบผื่นแดงเหมือนรอยไหม้เป็นแนวเส้นยาว (Linear lesion) ซึ่งอาจมีตุ่มพอง (Vesicles) หรือตุ่มหนองร่วมด้วยได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจพบผื่นที่สมมาตรกัน (ทับกันได้พอดี) ในบริเวณรอยพับ (Kissing lesion) เช่น บริเวณแขนด้านในของข้อศอก ในตำแหน่งที่พับซ้อนกันได้พอดี เป็นต้น และผื่นยังมีอา การ คัน แสบร้อน ร่วมด้วยได้

สำหรับในกรณีที่เป็นมาก มักมีผื่นกระจายเกิดหลายตำแหน่งในบริเวณนอกร่มผ้า เช่น บริเวณใบหน้า ลำคอ แขน ขา เป็นต้น หรือบางกรณีอาจเกิดที่เปลือกตา/หนังตาได้ และอาจมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ คลื่นไส้อาเจียน

ในกรณีที่มีอาการไม่มาก อาจเป็นแค่รอยผื่นแดง ใน 2-3 วันผื่นก็หายเองได้ แต่ถ้าเป็นมาก มีตุ่มน้ำพอง หนอง หรืออาการทางระบบอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไข้ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษา เพราะในบางครั้ง ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดกอาจมีลักษณะคล้ายผื่นในโรคงูสวัด หรือโรคเริมได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพราะมีการรักษาที่แตกต่างกัน

การดูแล และการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก คือ

• ก. กรณีที่เพิ่งโดนแมลงกัด ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้งทันที เพื่อเจือจางสาร Pederin ที่แมลงเพิ่งปล่อยออกมาให้ระเคืองผิวหนังและสัมผัสผิวหนังน้อยที่สุด ถ้าแสบ/เจ็บแผลมากให้ประคบเย็นที่แผล หลังจากนั้นทาผื่นด้วยยาสเตียรอยด์ (ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา)

• ข. เมื่อเริ่มมีรอยโรคขึ้น

1. ทายาสเตียรอยด์ที่มีความแรงค่อนข้างสูง (Moderate to high potency) เช่น 0.1% Mometasone furoate cream, 0.25% Desoximetasone cream, 0.05% Clobetasol propionate cream เป็นต้น โดยทายาวันละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้จะเลือกใช้ยาชนิดใด ขึ้นอยู่กับตำ แหน่ง และลักษณะความรุนแรงของผื่น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา เพราะผื่นที่เกิดจากการระ คายเคืองนี้มักมีการอักเสบที่ค่อนข้างจะรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ซื้อยามาทาเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อน เนื่องจากผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกนี้ มีลักษณะคล้ายกับโรคงูสวัดหรือโรคเริม แต่มีการรักษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ถ้าเป็นงูสวัด และได้ยาทารักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นงูสวัดจะแย่ลง

2. ทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) หรือรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยเมื่อมีลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งมักพบในกรณีที่มีน้ำเหลือง หนองไหลมาก โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งยา

3. รับประทานยาแก้แพ้ แก้ค้น เพื่อลดอาการคันที่เกิดขึ้น โดยจะรับประทานยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงหรือไม่ง่วงก็ได้ ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วง เช่น Chlorpheniramine, Hydroxyzine หรือยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ไม่ค่อยง่วง เช่น Cetirizine, Loratadine โดยรับประทานยาวันละ 1-2 ครั้ง (ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ)

การดูแลตนเองเมื่อเป็นผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ข้อย่อย ข้อ ก. หัวข้อ วิธีรักษา คือ การรีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วงฯด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง เพื่อชำระล้างสารพิษที่ด้วงฯปล่อยออกมา ร่วมกับการประคบเย็น และตามด้วยการทายา สเตียรอยด์ ซึ่งถ้าผื่น/แผลขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดแผลเป็นกรณีพิเศษ

แต่ถ้าผื่นกว้างมาก หรือเป็นหลายตำแหน่ง เจ็บ แสบมาก หรือมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น หรือเป็นหนอง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ให้ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ต่อจากนั้นดูแลผื่น/แผลตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ

ถ้าเป็นผื่น/แผล โดยเฉพาะแผลกว้าง ที่เปลือกตา/หนังตา ควรพบแพทย์ ไม่ควรรอจนแผลอักเสบ เพราะจะดูแลรักษายาก

อนึ่ง ระยะเวลาจากเริ่มเกิดผื่นจนผื่นแห้ง ตกสะเก็ด (ผื่น/แผลหาย) ประมาณ 2-4 สัปดาห์

การพยากรณ์โรคของผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกคือ เป็นโรคที่หายขาด ไม่ใช่โรคเรื้อรังหรือโรคติดต่อ อย่างไรก็ตาม รอยโรคหลังจากผื่นหายแล้วอาจเป็นรอยดำหลังจากการอักเสบ (Post inflammatory hyperpigmentation) ได้ ซึ่งรอยดำนี้จะสามารถหายได้เองใน 6 เดือนถึง 1 ปี