กระดานสุขภาพ

ปริมาณปัสสาวะผิดปกติ
Anonymous

1 ตุลาคม 2561 02:35:28 #1

สวัสดีค่ะคุณหมอ หนูอายุ 19 ปีนะคะ ส่วนสูง 167 นน. 51 ค่ะ เมื่อก่อนหนูไม่เคยสังเกตตัวเอง จนปัจจุบันย้ายมาอยู่กับแฟน (ผญ. ด้วยกัน) จึงถูกทักว่าปัสสาวะค่อนข้างเยอะต่อครั้ง จึงลองเปรียบเทียบกับแฟนปรากฎว่ามันต่างกันค่อนข้างมาก คือหนูจะปัสสาวะต่อครั้งมีปริมาณ 600 ml ในขณะที่แฟนปัสสาวะเพียงครั้งละ 250 ml กรณีแบบนี้หนูเสี่ยงเป็นโรคอะไรหรือเปล่าคะ จากที่อ่านในเนตมันใช่อาการของเบาจืดหรือเปล่าคะ
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 51 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.29 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

5 ตุลาคม 2561 05:27:17 #2

เบาจืด (Diabetes insipidus) หรือเรียกย่อว่า ดีไอ (DI) คือภาวะหรือโรคที่ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะปริมาณสูงมากในแต่ละวัน มักมากกว่า 2.5 ลิตรต่อวัน โดยมีรายงานสูงได้ถึงวันละ 10 - 15 ลิตร (คนปกติจะปัสสาวะวันละประมาณ 1 - 2 ลิตร) ทั้งนี้ปัสสาวะจากโรคนี้จะเจือจางมาก ปริมาณสารต่างๆในปัสสาวะจะลดน้อยกว่าปกติมากจากที่ส่วนประกอบเกือบทั้งหมดของปัสสาวะจะเป็นน้ำ ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงมักมีอาการกระหายน้ำมาก/ภาวะขาดน้ำร่วมด้วยเสมอ

เบาจืด แบ่งตามกลไกการเกิดได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.ประเภทเกิดจากความผิดปกติทางสมอง 2.ประเภทเกิดจากความผิดปกติทางไต 3.ประเภทเกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ และ 4.ประเภทเกิดจากการตั้งครรภ์

จากความผิดปกติทางสมอง (Central หรือ Neurogenic diabetes insipi dus) เป็นชนิดพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากพยาธิสภาพหรือโรคในสมองที่ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมน เอดีเอช ลดน้อยลง เช่น โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง การผ่าตัดสมอง หรือจากอุบัติเหตุของสมอง

จากความผิดปกติทางไต (Nephrogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อย โดยเกิดจากไตไม่ตอบสนองหรือตอบสนองได้น้อยต่อฮอร์โมนเอดีเอช เช่น จากพันธุกรรม หรือจากผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยา Phenytoin ที่ใช้รักษาอาการชัก

จากความผิดปกติในการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) ชนิดนี้พบได้น้อยมากๆ โดยเกิดจากความผิดปกติของสมองไฮโปธาลามัสซึ่งนอกจากสร้างฮอร์โมน เอดีเอช และฮอร์โมนอีกหลายชนิดแล้ว ยังควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจด้วย ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติทางอารมณ์/จิตใจ ที่ก่อให้เกิดการกระหายน้ำอย่างมาก ผู้ป่วยจึงดื่มน้ำในปริมาณมหาศาล จึงส่งผลให้ปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่ดื่ม

จากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) ซึ่งสาเหตุนี้พบได้น้อยมากเช่นกัน โดยเกิดได้จากในขณะตั้งครรภ์ รกจะสร้างเอนไซม์ชื่อ Vasopressinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ทำลายฮอร์โมน เอดีเอช ซึ่งหากมีการสร้างเอนไซม์นี้ในปริมาณมาก จะส่งผลให้ปริมาณฮอร์โมนเอดีเอชลดลง ไตจึงดูดซึมน้ำกลับเข้าร่างกายน้อยลง ปัสสาวะจึงมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งโรคจากสาเหตุนี้จะหายได้เองภายหลังการคลอด

อาการของเบาจืดแบ่งเป็น 2 อาการหลัก คือ อาการที่เกิดจากภาวะเบาจืดเอง และอาการที่เกิดจากสาเหตุ

1.อาการที่เกิดจากเบาจืด ซึ่งเบาจืดทุกประเภทจะมีอาการเหมือนกัน โดยอาการหลักคือ ปัสสาวะปริมาณมาก บ่อยครั้ง แต่ละครั้งปริมาณมาก ทั้งกลางวันและกลางคืน ร่วมกับกระหายน้ำมาก นอกจากนั้นอาการอื่นๆที่พบได้ คือ อ่อนเพลีย จากการเสียเกลือแร่ไปในน้ำปัสสาวะ เพราะถึงแม้ปัสสาวะจะเจือจาง แต่ผลรวมทั้งหมดจะมีปริมาณเกลือแร่ในปัสสาวะสูง และจากขาดการพักผ่อน เพราะต้องตื่นมาปัสสาวะตลอดเวลา ปัสสาวะรดที่นอน จากปัสสาวะปริมาณมาก จึงกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาการจากภาวะขาดน้ำ เพราะเสียน้ำมากจากปัสสาวะ คือ ตาลึกโหล ผิวแห้ง ปากคอแห้ง มึนงง วิงเวียนศีรษะ อาจสับสน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว

อาการจากภาวะร่างกายขาดสมดุลของเกลือแร่ คือ วิงเวียน สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ 2.อาการที่เกิดจากสาเหตุ ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ เช่น อาการจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง หรืออาการจากโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง หรืออาการของโรคมะเร็งต่างๆ (เช่น โรคมะเร็งปอด) เป็นต้น

เมื่อมีอาการปัสสาวะมาก โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับกระหายน้ำมาก ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาสาเหตุแต่เนิ่นๆซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น โอกาสควบคุมรักษาโรคได้จึงสูงขึ้น

เมื่อทราบว่าเป็นเบาจืดแล้ว การดูแลตนเองที่บ้านและการพบแพทย์ คือ

1.ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ

2.กินยา ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ครบถ้วน

3.พักผ่อนให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำให้น้อยลง หรืองดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 -3 ชั่วโมง เพื่อลดการตื่นมาปัสสาวะ

4.ดื่มน้ำให้พอเพียง โดยดื่มในช่วงเช้าและกลางวันมากกว่าช่วงเย็นและช่วงกลางคืน

5.กินผักผลไม้มากๆเพื่อให้ได้เกลือแร่ที่เพียงพอ

6.มีน้ำสะอาดติดตัวเสมอ

7.มีเอกสารระบุว่า เป็นใคร เป็นโรคอะไร กินยาอะไร รักษาอยู่ที่ไหนติดตัวเสมอ เพื่อภาวะฉุกเฉินจากภาวะขาดน้ำ จะได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง

8.พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรืออาการต่างๆเลวลง และ/หรือกังวลในอาการ