กระดานสุขภาพ

ขอคำแนะนำการลดน้ำหนัก
Anonymous

28 กรกฎาคม 2561 15:00:12 #1

คุณหมอคะ ขอคำแนะนำการลดน้ำหนักสำหรับคนที่มีน้ำหนักมากหน่อยค่ะ คือว่าเมื่อก่อนลดแบบผิดวิธีมาค่ะ โดยการออกกำลังกาย และงดข้าวเย็นค่ะ ซึ่งตอนนี้พยายามลดอยู่ค่ะ แต่น้ำหนักไม่ลงเลยค่ะ และการดีท็อกซ์ล้างลำไส้แบบนี้ช่วยเรื่องการลดน้ำหนักไหมคะ
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 86 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 33.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Anonymous

31 กรกฎาคม 2561 04:51:26 #2

จากที่เราศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลดน้ำหนักมา ถ้าเคยอดอาหาร หรือใช้ยาลด จะทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายผิดปกติไป หรือบางคนบอกว่าระบบเผาผลาญพัง ต้องฟื้นฟูระบบเผาผลาญก่อน คือ กินอาหารให้ครบมื้อ ได้สารอาหารและแคลอรี่ครบที่ร่างกายต้องการต่อวัน กินแป้งไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ไขมัน เราลดน้ำตาลลง กินระวังมากขึ้น ของทอดถ้างดได้ก็ดี ต้องใช้เวลา อดทน มีวินัยและใจเย็น พยายามนึกถึงผลด้านสุขภาพก่อน ผลทางด้านความสวยงามนะ เป็นกำลังใจในการลดไขมันและฟื้นฟูระบบในร่างกาย สู้ๆค่ะ พยายามอยู่เหมือนกัน
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

7 สิงหาคม 2561 20:17:51 #3

โรคอ้วน เกิดจากการที่ร่างกายมีไขมันสะสมในปริมาณที่มากผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา การวินิจฉัยโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน มักใช้การวัดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เปอร์เซ็นต์ของไขมันในร่างกาย (Body Fat Percentage) และรอบเอว (Waist Circumference) ควบคู่กัน

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การขาดการออกกำลังกาย พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิด ๆ พันธุกรรม อายุ ปัญหาสุขภาพ การตั้งครรภ์ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ บางครั้งก็เกิดจากผลข้างเคียงในการรักษาและการใช้ยา หรือพฤติกรรมของคนในครอบครัว เป็นต้น

การลดน้ำหนักให้ได้ผลและดีต่อสุขภาพ ต้องเป็นการลดน้ำหนักที่มาจากต้นเหตุ ซึ่งจะช่วยให้น้ำหนักลดลงช้า ๆ ช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ในระยะยาวไม่เกิดภาวะโยโย่ (YOYO Effect) จนทำให้กลับมาอ้วนเหมือนเดิม โดยสามารถทำได้ดังนี้

ควบคุมอาหาร การควบคุมอาหารเป็นวิธีเบื้องต้นในการลดน้ำหนักที่ค่อนข้างได้ผลอย่างน่าพึงพอใจ ทั้งนี้ การควบคุมอาหารไม่ใช่การอดอาหาร เพราะการอดอาหารจะทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักก็ควรควบคุมด้วยวิธีดังนี้

รับประทานอาหารที่หลากหลาย ในหนึ่งมื้อควรประกอบไปด้วยอาหารที่หลากหลาย เช่น คาร์โบไฮเดรตอย่างธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ผัก ผลไม้ โปรตีนไขมันน้อย และไขมันที่ดีกับร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการ

เลี่ยงการรับประทานไขมันเลว ไขมันอิ่มตัว อย่างไขมันจากสัตว์ หรือไขมันที่อยู่ในอาหารขยะต่าง ๆ เป็นไขมันที่อันตรายต่อสุขภาพ และทำให้อ้วนขึ้น

รับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 ส่วน ยิ่งรับประทานผักผลไม้มากขึ้นก็จะช่วยลดน้ำหนัก ทั้งนี้ ในแต่ละมื้อควรมีผักผลไม้ที่มีสีสันแตกต่างกันเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วน

รับประทานน้อย แต่รับประทานบ่อย ๆ การย่อยมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ ในแต่ละวันจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญได้ดียิ่งขึ้น โดยควรแบ่งเป็นวันละ 5-6 มื้อต่อวัน ในแต่ละมื้อควรรับประทานแต่น้อยและควรรับประทานอาหารที่ดีกับสุขภาพ

เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลด ละ เลิก อาหารที่มีเกลือและน้ำตาลสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรอยู่ให้ห่างจากอาหารที่ล่อตาล่อใจ ที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามอดอาหารโดยเด็ดขาด เพราะการอดอาหารเพียง 1 มื้อจะยิ่งทำให้หิวมากขึ้นและรับประทานมากขึ้นในมื้อต่อ ๆ ไป รวมทั้งควรจดบันทึกเพื่อให้ตัวเองได้ทราบว่าในแต่ละวันได้รับประทานอะไรไปบ้าง จะช่วยให้สามารถควบคุมอาหารในวันต่อไปได้ดียิ่งขึ้น

ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากในการลดน้ำหนัก เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานและไขมันส่วนเกินออกไปได้มากขึ้น โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับการลดน้ำหนักที่สุดก็คือ

การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) ได้แก่ การวิ่ง การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน การเต้นแอโรบิก และการเดิน จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้มาก

การสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strength Training) ได้แก่ การใช้ยางยืดออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบบอดี้เวท (Body Weight) หรือเวทเทรนนิ่ง (Weight Training) จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันออกจากกล้ามเนื้อได้ดี

การออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดคือ ออกกำลังกายที่มีความหนักหน่วงปานกลางอย่างน้อย 200 นาทีต่อสัปดาห์

ในกรณีควบคุมแคลอรี่และออกกำลังกายควบคู่ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

สำหรับผู้เริ่มต้น ควรเริ่มออกกำลังกายสัปดาห์ละ 50 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปจนถึง 200 นาทีต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะออกกำลังกายควรสังเกตดูความพร้อมของร่างกายด้วย หากมีปัญหาสุขภาพหรือมีน้ำหนักตัวมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ช่วยวางแผนในการออกกำลังกายที่จะไม่ส่งผลกระทบถึงสุขภาพในระยะยาว

ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต หากยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ การลดน้ำหนักอาจไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่หวัง ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต โดยตั้งเป้าหมายให้แน่วแน่ ทำอย่างต่อเนื่อง และติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ ควรให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมหรือคอยช่วยเหลือในเรื่องการลดน้ำหนัก เพราะกำลังใจจากคนใกล้ชิดก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้การลดน้ำหนักสำเร็จได้เช่นกัน

วิธีทางการแพทย์ ในบางกรณี การลดน้ำหนักด้วยวิธีทางการแพทย์ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยวิธีทางการแพทย์ที่ใช้ในการลดน้ำหนักได้แก่

การใช้ยาลดน้ำหนัก ยาลดน้ำหนักที่ใช้ต้องเป็นยาที่ได้รับการแนะนำจากแพทย์ รวมทั้งได้รับการรับรองจากองค์กรทางการแพทย์แล้วว่าสามารถใช้ได้ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปหรือ BMI 27ที่มีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยแพทย์ต้องเป็นผู้กำหนดปริมาณการใช้ยา เพราะการใช้ยาที่มากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายและอาจร้ายแรงถึงชีวิต โดยยาลดน้ำหนักที่แพทย์แนะนำได้แก่

ออร์ลิสแตท (Orlistat) ยาลดน้ำหนักที่ทำหน้าที่ในลดการดูดซึมไขมันที่รับประทานเข้าไป ซึ่งสามารถรับประทานได้เป็นเวลานาน แต่ผลข้างเคียงคือ อาจทำให้ปวดท้อง เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อุจจาระมีไขมันปน ลำไส้มีการเคลื่อนที่มากกว่าปกติ หรืออาจไม่สามารถควบคุมระบบลำไส้ได้ แต่อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงบางคราวเท่านั้น และอาการจะรุนแรงในกรณีที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ทั้งนี้เพื่อการใช้ยาที่ได้ผลควรรับประทานอาหารไขมันต่ำ และหากรับประทานวิตามินรวม ควรรับประทานก่อนใช้ยาชนิดนี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เนื่องจากยาออร์ลิสแตทจะทำให้การดูดซึมวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเคลดลง

ลอร์คาเซริน (lorcaserin) เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อควบคุมความอยากอาหาร สามารถใช้ได้ในระยะยาว แต่ก็มีผลข้างเคียงมากมาย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปากแห้ง และท้องผูก ถ้าผู้ใช้เป็นโรคเบาหวานอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ไอ และอ่อนเพลีย ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้ใช้มีการใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้มีผลข้างเคียงเป็นไข้ หรือสับสนมึนงง แต่เป็นอาการที่พบได้น้อย ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาดังกล่าว อีกทั้งเว็บเอ็มดีได้เปิดเผยคำแนะนำจากสำนักงานอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า หากใช้ยาไปแล้ว 12 สัปดาห์ น้ำหนักยังไม่ลดลงถึง 5% ควรหยุดใช้ยา

เฟนเตอมีน (Phentermine) ใช้เพื่อลดความอยากอาหาร เป็นยาที่ไม่สามารถใช้ต่อเนื่องได้ โดยแพทย์จะสั่งยานี้เพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่อันตราย อาทิ อาจทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดอาการใจสั่น กระสับกระส่าย เวียนศีรษะ มีอาการสั่น นอนไม่หลับ หายใจสั้น เจ็บหน้าอก หรือทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ ที่เคยทำได้ตามปกติ ไม่เพียงเท่านั้น ยาเฟนเตอมีนยังอาจทำให้เกิดอาการง่วง ซึ่งจะขัดขวางความสามารถในการขับขี่และการใช้เครื่องจักรกล จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาขณะทำงานหรือต้องขับขี่ยานพาหนะ นอกจากนี้ยังอาจมีผลข้างเคียงในการใช้ยาที่พบได้ทั่วไป เช่น ปากแห้ง การรับรสชาติเปลี่ยน ท้องเสีย ท้องผูก และอาเจียนอีกด้วย หากผู้ที่ใช้ยานี้เป็นโรคเบาหวานและใช้การรักษาด้วยอินซูลิน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเฟนเตอมีน เพราะอาจมีความจำเป็นที่ต้องจัดปริมาณอินซูลินใหม่

เฟนเตอมีนและโทพิราเมท ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Phentermine and Topiramate-extended Release) เป็นยาที่ใช้เพื่อควบคุมความอยากอาหาร โดยยาชนิดนี้มีส่วนผสมของยาเฟนเตอมีน และยารักษาอาการชักและไมเกรน โดยยาชนิดนี้จะช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม รวมทั้งรสชาติอาหารอร่อยน้อยลง อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้มากขึ้น แต่ผลข้างเคียงในการใช้ยาก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยการใช้ยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการชาที่มือและเท้า เวียนศีรษะ การรับรู้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป นอนไม่หลับ ท้องผูก และปากแห้ง นอกจากนี้การใช้ยาดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย ปัญหาสายตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากใช้ในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกเกิดความพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ดังนั้นสตรีที่มีความสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์จะต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนใช้ยา และควรใช้ยาคุมกำเนิดรวมทั้งตรวจการตั้งครรภ์ซ้ำทุก ๆ เดือน

นอกจากยาลดน้ำหนักเหล่านี้แล้ว ก็ยังมียาลดน้ำหนักบางชนิดที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุขในไทย แต่ได้รับการรับรองและใช้ในต่างประเทศ ได้แก่ คอนเทรฟ (Contrave) และซาเซนดา (Saxenda) ทั้งนี้ อาจก่อให้เกิดภาวะโยโย่ได้ ดังนั้นหากไม่จำเป็นจริง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาจะดีที่สุด

การผ่าตัดลดน้ำหนัก เช่น การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ถือเป็นวิธีลดน้ำหนักที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และแพทย์มักแนะนำการผ่าตัดลดน้ำหนักให้กับคนที่มีน้ำหนักมาก หรือมีปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยข้อดีของการผ่าตัด คือ สามารถลดน้ำหนักได้ภายใน 18-24 เดือน ทั้งนี้น้ำหนักอาจกลับมาเพิ่มขึ้นได้ แต่เกิดได้น้อยมาก ส่วนข้อเสียคือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ท้องอืด วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ถ่ายเหลว และขาดสารอาหารบางชนิด

วิธีการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักและรักษาโรคอ้วนที่แพทย์นิยมใช้ มี 4 วิธี ได้แก่

การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร (Gastric Bypass, Roux-en-Y) เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้น้อยลง

การลดขนาดกระเพาะโดยใช้สายรัด (Adjustable Gastric Band) เป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารด้วยการรัดเข็มขัด สามารถช่วยจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารได้

การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ (Gastric Sleeve, Sleeve Gastrectomy) เป็นการผ่าตัดนำบางส่วนของกระเพาะออกเพื่อลดขนาดของกระเพาะ วิธีนี้ช่วยให้หิวน้อยลงและรับประทานได้ลดลง

การผ่าตัด Duodenal Switch เป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะจนมีขนาดเล็กมาก และบายพาสไปยังลำไส้เล็ก ทำให้ควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารได้อย่างชัดเจน แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electric Implant) คือการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองและกระเพาะอาหารเพื่อควบคุมความหิว

ทั้งนี้ หลังการผ่าตัด แพทย์จะต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบผลและผลข้างเคียง เช่น ภาวะขาดสารอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งหลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักจะทำให้ความเสี่ยงโรคร้ายแรงต่าง ๆ ลดลง รวมถึงอาจทำให้วิถีชีวิตของผู้ป่วยโรคอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากการผ่าตัดจะส่งผลทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตในแต่ละวันไปโดยปริยาย

ทว่าการผ่าตัดลดน้ำหนักก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีเสมอไป เพราะมีความเสี่ยงและส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น การผ่าตัดบายพาสกระเพาะ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในระหว่างการผ่าตัด อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกจำนวนมาก เกิดการติดเชื้อ เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์เนื่องจากการใช้ยาชา เกิดลิ่มเลือด เกิดปัญหาที่ปอดหรือการหายใจ ระบบย่อยอาหารอ่อนแอลง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไม่เพียงเท่านั้น การผ่าตัดอาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นลำไส้อุดตัน มีภาวะอาหารผ่านกระเพาะอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้ จนทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้หรืออาเจียน เป็นโรคนิ่ว ไส้เลื่อน ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดสารอาหาร กระเพาะทะลุ แผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

การลดน้ำหนักควรทำให้อยู่ในขอบเขตที่พอดีอย่างปลอดภัย เพราะการมุ่งลดน้ำหนักด้วยวิธีการผิด ๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เช่น อดอาหาร ใช้ยาลดความอ้วนเองในปริมาณที่ไม่เหมาะสม การล้วงคอ หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมมากเกินไป จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดภาวะขาดน้ำจนเป็นอันตรายกับสุขภาพ เกิดภาวะขาดสารอาหารจากการอดอาหาร หรือประสบกับภาวะขาดเกลือแร่ อีกทั้งอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น กลายเป็นโรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa) โรคบูลิเมีย (Bulimia) รวมทั้งภาวะอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้