กระดานสุขภาพ

นั่งอยู่เฉยๆ แล้วรู้สึกเหนื่อย แล้วก็ง่วงนอนครับ
Anonymous

13 พฤษภาคม 2561 13:07:19 #1

ผมนั่งอยู่เฉยๆแล้วรู้สึกเหนื่อย แล้วง่วงนอนด้วยทั้งวันครับ ทั้งๆที่ไม่ได้อดนอน
อายุ: 17 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 168ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.72 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Haamor Admin

(Admin)

13 พฤษภาคม 2561 19:11:44 #2

ต้องการจะถามอะไรคุณหมอหรอคะ

Anonymous

14 พฤษภาคม 2561 01:31:36 #3

ผมอยากทราบว่าจะเป็นอะไรไหมอะครับ
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

14 พฤษภาคม 2561 09:33:32 #4

เหนื่อยล้า อ่อนล้า ล้า หรืออ่อนเพลีย (Fatigue) เป็นอาการหรือความรู้สึกไม่ใช่เป็นโรค มักพบเกิดหลังพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน ทำงานหนักต่อเนื่อง และ/หรือมีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ

เหนื่อยล้าเป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่ง พบได้ทั้งในเด็ก (มีรายงานพบเกิดได้ในเด็กตั้งแต่ อายุ 5 ปี) ไปจนถึงผู้สูงอายุโดยพบได้บ่อยขึ้นเมื่อยิ่งสูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ใกล้เคียงกัน

บางท่านแบ่งอาการเหนื่อยล้าได้เป็น 3 ประเภทคือ

• อาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำ (Physiologic fatigue)

• อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ (Secondary fatigue) และ

• อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome)

แต่บางท่านแบ่งอาการเหนื่อยล้าเป็น 2 ประเภทคือ

• อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue) และ

• อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome)

ก. อาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน (Physiologic fatigue) ได้แก่ อาการ เหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับทุกคน จะมีอาการในช่วงระยะเวลาสั้นๆจากพักผ่อนไม่เพียงพอ, อดนอนทำงานหนัก, มีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ โดยอาการจะหายไปเองหลังการพักผ่อนหรือผ่านระยะ ความเครียด/กังวลนั้นไปแล้ว มักมีอาการอยู่ประมาณไม่เกิน 2 - 4 สัปดาห์ซึ่งจัดเป็น “อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue)”

ข. อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ (Secondary fatigue) คืออาการเหนื่อยล้าที่เกิดจากมีสาเหตุผิด ปกติของร่างกายเช่น

• จากมีโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ภาวะซีด ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก หรือ

• จากผลข้างเคียงของยาบางชนิดเช่น ยาลดน้ำตาลในเลือด ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิจะหายได้ภายหลังการรักษาควบคุมสาเหตุได้แล้ว ทั้งนี้อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิเป็นได้ทั้ง “อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue) และอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome)”

ค. อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue) คืออาการเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งคืออาการเหนื่อยล้าตามปกติที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันและอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ

ง. อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome) คืออาการ เหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งมักเกิดจากการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุไม่ได้ เช่น ควบคุมโรคมะเร็งไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเมื่ออาการเกิดขึ้นเรื้อรังนานเกิน 6 เดือนและเป็นอาการที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนเรียกว่า กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome หรือย่อว่า ซีเอฟเอส/CFS)

อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับอาการเหนื่อยล้าคืออาการจากสาเหตุได้แก่

1. อาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาการร่วมเช่น ทำงานมากเกินไปจึงเหนื่อยล้าหรือนอนไม่พอ ปกติควรนอนพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมงโดยต้องเป็นการนอนหลับได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตื่นตลอดคืน เป็นต้น

2. อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ มักเกิดร่วมกับอาการที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหนื่อยล้าเช่น อา การจากภาวะซีด อาการจากภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก อาการจากโรคเบาหวาน หรืออาการจากโรคมะเร็ง เป็นต้น

3. อาการเหนื่อยล้าเรื้อรังที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ จะมีอาการต่างๆของแต่ละโรคร่วมด้วยเช่น อาการของโรคเบาหวาน เป็นต้น

4. ส่วนกลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง/กลุ่มอาการซีเอฟเอส มักมีอาการร่วมได้หลากหลายอาการเช่น อาจมีไข้ต่ำๆ อาจมีหนาวสั่น เจ็บคอเรื้อรัง คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วตัวและเจ็บ ปวดศีรษะเป็นประจำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยข้อต่างๆ มีปัญหาในการนอนหลับ ตากลัวแสง หลงลืมง่าย ขาดสมาธิ มีปัญหาด้านการตัดสินใจ และมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

1. แนวทางการรักษาอาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน คือ การพักผ่อนและการนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน การออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ

2. แนวทางการรักษาอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ คือ การดูแลรักษาควบคุมสาเหตุเช่น การดูแลรักษาควบคุมโรคเบาหวาน หรือภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น

3. แนวทางการรักษาอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง คือ การรักษาประคับประคองตามอาการเนื่องจากไม่ทราบสาเหตุเช่น การให้ยากระตุ้นให้ตื่นตัว การให้ยานอนหลับ การให้ยาแก้ปวด การให้ยารักษาอาการซึมเศร้า การให้ฮอร์โมนบางชนิด การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกๆวัน การออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพ การเลิกบุหรี่ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง)

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าคือ

• ควรพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ให้เหมาะสมกับสุขภาพ

• กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน

• ออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายเสมอให้เหมาะสมกับสุขภาพ

• รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อเพราะเมื่อเหนื่อยล้า ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะต่ำลงจึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น

• เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

• เลิก/ไม่สูบบุหรี่

• จำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีนเพราะจะมีผลต่อการนอนหลับ

• ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้าง เคียงให้เหนื่อยล้าได้

• ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

• ควรพบแพทย์เมื่อ

• อาการเหนื่อยล้าไม่ดีขึ้นหลังพักผ่อนเต็มที่แล้ว หรือมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือต่อการ งาน

• ผอมลงโดยยังกินได้เป็นปกติ

• มีอาการปวดต่างๆผิดปกติหรือปวดมากเช่น ปวดศีรษะ ปวดข้อ เป็นต้น

• มีอาการผิดปกติต่างๆเช่น คลำพบก้อนเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีเลือดออกทางใดทางหนึ่งเช่น ทางเหงือก ทางปัสสาวะ หรือทางอุจจาระ หรือมีเลือดออกปนในเสมหะหรือในน้ำลาย

• มีความกังวลในอาการ

การป้องกันอาการเหนื่อยล้าจะเช่นเดียวกับในการดูแลตนเองเมื่อมีอาการเหนื่อยล้าซึ่งที่สำคัญ คือ

• พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอประมาณวันละ 6 - 8 ชั่วโมง

• ออกกำลังกายแต่พอควร

• กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน

• รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

• เลิก/ไม่ดื่มสุรา, เลิก/ไม่สูบบุหรี่

• จำกัดการดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน

• ดูแลรักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆเช่น โรคเบาหวาน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด อาการเหนื่อยล้า

• ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ (การตรวจสุขภาพ) เพื่อให้พบโรคเรื้อรังตั้งแต่แรกเป็น ขณะยังไม่มีอาการ ซึ่งการดูแลรักษาควบคุมจะได้ผลดีกว่าเมื่อตรวจพบโรคเมื่อมีอาการแล้ว