กระดานสุขภาพ

การดูแลเรื่องอาหารและสถานที่สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่รู้สึกตัว
Anonymous

15 เมษายน 2561 11:08:12 #1

สวัสดีคะ รบกวนปรึกษาคะ ผู้สูงอายุเพศหญิงวัย 92 ปี ประสบอุบัติเหตุหกล้มซ้ำซาก ทำการCT scanแล้วคุณหมอพบว่ามีเลือดออกในสมอง แต่ไม่แจ้งว่าเป็นอันตราย อวัยวะภายในสามารถทำงานได้ปกติ ยกเว้นสมองที่เสียหาย ทำการรักษาจนผู้ป่วยรู้สึกตัวประมาณ 5 วัน ก็มีอาการชักกระตุกและไม่รู้สึกตัวอีกเลย แต่มือปัดป่ายไปมาเป็นระยะๆ นอนกรน ไม่สามารถลืมตา ลิ้นพัน พูดไม่ได้ ส่งเสียงร้องเป็นระยะๆ หายใจได้เอง ปัจจุบันญาติรับผู้ป่วยกลับมาดูแลต่อที่บ้าน เพราะคุณหมอแจ้งว่าถ้าอยู่โรงพยาบาลก็เพื่อดูอาการ และให้สมองผู้ป่วยฟื้นฟูตัวเอง คำถามคือ 1) การให้อาหารผู้ป่วย ควรให้อย่างไร ในกรณีที่ไม่สะดวกให้ทางสายยาง 2) อาหารสำหรับผู้ป่วยระยะนี้ จำเป็นหรือไม่ และช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้นได้หรือไม่ 3) ควรทำการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือนำส่งศูนย์ดูแลผู้ป่วย 4) จากข้อ3, หากควรดูแลผู้ป่วยที่บ้าน อุปกรณ์หรือสิ่งพื้นฐานจำเป็นที่ต้องมีคืออะไรบ้าง ขอบคุณคะ
อายุ: 92 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 40 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.65 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

22 เมษายน 2561 09:07:14 #2

ผู้ป่วยอัมพาตที่รับตัวไว้ในโรงพยาบาลหลังจากอาการของโรคคงที่ แพทย์จะให้กลับบ้าน ดังนั้นญาติผู้ป่วยและแพทย์ควรปรึกษากันว่าจะดูแลผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลอย่างไร ที่จะนำเสนอเป็นเพียงหัวข้อตัวอย่าง การวางแผนควรกระทำตั้งแต่วันแรกที่นอนโรงพยาบาล ดังนี้

  • การเตรียมที่อยู่ที่ปลอดภัย
  • การเตรียมเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิต
  • เตรียมวางแผนการฟื้นฟูสภาพที่บ้าน
  • การเตรียมผู้ช่วยเหลือ

การเตรียมที่อยู่ที่ปลอดภัย

เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตหลังออกจากโรงพยาบาลร่างกายยังไม่แข็งแรงพอจึงจำเป็นต้องเตรียมสถานที่เพื่อให้ปลอดภัย และส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูสภาพดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องจัดเตรียมดังต่อไปนี้

  • ห้องนอน ควรจัดห้องนอน ห้องน้ำ และห้องอาหารให้อยู่ชั้นเดียวกัน เพื่อที่ผู้ป่วยสามารถเดินช่วยตัวเองให้มากที่สุด
  • เตียง ผู้ป่วยที่ยังช่วยตัวเองไม่ดี หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้ควรใช้เตียงเหมือนเตียงในโรงพยาบาล พื้นเตียงควรเป็นพื้นไม้ โดยสามารถปรับหัวเตียง และมีราวสำหรับให้ผู้ป่วยยึดจับสำหรับพลิกตัว เตียงควรมีความสูงพอเหมาะที่จะดูแลผู้ป่วยได้ง่าย ผู้ป่วยสามารถนั่งที่ขอบเตียงโดยเท้าแตะพื้น
  • หากผู้ป่วยไม่สามารถพลิกตัวด้วยตัวเอง อาจมีความจำเป็นต้องใช้เตียงลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ
  • ไม่ควรมีของตกแต่งชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพราะอาจตกแตกได้
  • ควรติดราวไว้ในห้องน้ำ และทางเดินเพื่อให้ผู้ป่วยยึดเวลาเดิน
  • ดูเรื่องแสงต้องสว่างพอ
  • ไม่ควรมีธรณีประตูเพราะผู้ป่วยอาจจะสะดุดได้

การเตรียมเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิต

ผู้ป่วยที่ยังไม่แข็งแรงเดินด้วยตัวเองไม่คล่องจำต้องมีเครื่องช่วยเดิน เช่น

  • เตียงนอนควรเป็นเตียงที่แข็งแรง พื้นเตียงควรเป็นไม้ และสามารถปรับความสูงต่ำได้
  • ที่นอน ต้องเป็นที่นอนที่แน่น ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป ผ้าปูที่นอนต้องขึงตึง ไม่มีรอยย่นหรือรอยพับ เพื่อกันไม่ให้เกิดการถูไถกับผิวหนังผู้ป่วยอันจะนำมาซึ่งแผลกดทับได้
  • cane ไม้เท้าช่วยเดิน อาจมีขาเดียว 3ขา หรือ4ขา เหมาะสำหรับประคองตัว
  • walker เป็นคอกสี่เหลี่ยมมี4ขาใช้สำหรับประคองตัว
  • braces อุปกรณ์ให้ข้อเท้า และเท้าอยู่ในตำแหน่งที่เดินได้
  • Wheelchair รถเข็นสำหรับผู้ป่วยที่เดินไม่ได้
  • อุปกรณ์เสริมอื่น เช่น กระโถน ถาดอาหารเป็นต้น

การเตรียมผู้ช่วยเหลือคนไข้

โดยทั่วไปผู้ช่วยเหลือคนไข้มักจะเป็นญาติของผู้ป่วย เช่น สามีหรือภรรยา ลูก พี่น้อง หรือเพื่อนบ้าน หรืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ตามศูนย์บริการ ผู้ช่วยเหลือคนไข้จะมีหนึ่งคนเป็นหลักที่จะดูแลผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนอื่นอาจมาช่วยเป็นครั้งคราว เช่นช่วยตอนกลางคืน หรือวันหยุด ดังนั้นก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับบ้านผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถจะต้องเข้าใจและสามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมย์ของผู้ป่วยด้วยและผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถควรได้รับการอบรบการดูแลผู้ป่วย การช่วยเหลือผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เท่ากันเนื่องจากสภาพผู้ป่วยไม่เหมือนกัน ก่อนผู้ป่วยกลับบ้านท่านผู้อ่านลองตรวจดูว่าผู้ช่วยเหลือคนไข้ที่ท่านจัดหาสามารถทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้หรือยัง

การดูแลผู้ป่วยอัมพาต

ความสำคัญอันดับหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตคือการป้องกันโรคแทรกซ้อนและไม่ให้เกิดการทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ในการดูแลผู้ป่วยจากภาวะสมองขาดเลือด ท่านอาจใช้แนวทางดังนี้

  • เนื่องจากมีความอ่อนแรงหรืออัมพาตที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ผู้ป่วยอาจช่วยเหลือตัวเอง ไม่ค่อยได้ และต้องการความช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนท่าทางทุกสองชั่วโมงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรักษาโดยให้ทำกิจกรรมเบาๆ รวมถึงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและยากต่อการกลืนอาหาร
  • การหดตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ร่วมกับความไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นหลังการเป็นอัมพาต ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
  • การสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensory loss) ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถรู้สึกได้ถึงความร้อน ความเย็น ความเจ็บปวด ในส่วนของร่างกายที่เป็นอัมพาต จึงอาจทำให้ตัวเองบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการแนะนำให้ใส่ใจกับอวัยวะส่วนที่เป็นอัมพาตนั้น
  • ความวุ่นวายและสับสนทางอารมณ์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความสับสน สูญเสียความทรงจำ และคิดอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ครอบครัวจะมีความเข้าใจ แสดงความใส่ใจ และให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
  • Aphasia คือ การสูญเสียความสามารถในการพูด โดยอาจเป็นการสูญเสียความสามารถในความเข้าใจและการใช้คำศัพท์เพียงบางส่วนหรือทั้งหมด การแก้ไขด้านการพูด (Speech therapy) จึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีทักษะในการสื่อสารได้บ้างภายใน 6-12 เดือน

การดูแลผู้ป่วยที่พอช่วยตัวเองได้ เช่นพูดคุยรู้เรื่อง อ่อนแรงไม่มาก หายใจเองได้ รับประทานอาหารได้

  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถช่วยผู้ป่วยทำกายภาพตามแพทย์สั่งได้หรือไม่
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถจัดยาตามแพทย์สั่งได้หรือไม่
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถช่วยผู้ป่วย อาบน้ำ แปรงฟัน ขับถ่าย แต่งตัว
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถช่วยผู้ป่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันเช่นเดินด้วย cane, walker
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถให้อาหารตามแพทย์แนะนำได้หรือไม่ โปรดระลึกอยู่เสมอว่าผู้ป่วยอาจมีปัญหาเรื่องการกลืนอาจจะสำลักเกิดปอดบวมได้

การดูแลผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น พลิกตัวเองไม่ได้ รับประทานอาหารทางสายยาง บางรายอาจมีท่อช่วยหายใจคาอยู่ที่คอ ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถดูแลผู้ป่วยดังกล่าวข้างต้นแล้วยังต้องดูแลเป็นพิเศษดังต่อไปนี้

  • ควรมีเตียงเหมือนกับที่ใช้ในโรงพยาบาลพร้อมทั้งเตียงลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถทำความสะอาดในปากได้
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วยบนเตียงได้ และดูแลผิวหนังเป็น
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถผสมอาหารเหลวสำเร็จรูป หรือเตรียมอาหารตามสูตรได้หากเตรียมอาหารไม่ดีอาจเกิดท้องเสียหรือได้อาหารไม่เพียงพอ
  • ผู้ช่วยเหลือคนไข้สามารถให้อาหารทางสายยางได้อย่างถูกวิธี