กระดานสุขภาพ

ไข้เลือดออก
Anonymous

11 เมษายน 2561 09:40:52 #1

สวัสดีครับ อยากทราบว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะต้องมีไข้ตลอดเวลามั้ยครับ จะมีระยะไหนที่ไม่มีไข้เลยมั้ยครับหรือว่าจะเป็นไข้ตลอดจนหายจากโรคนี้
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 156 กก. ส่วนสูง: 54ซม. ดัชนีมวลกาย : 534.98 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

12 เมษายน 2561 04:50:10 #2

โรคไข้เลือดออก หรือโรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยโดยเฉพาะในฤดูฝน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี โรคนี้มักเป็นโรคที่ทำให้ผู้ปกครองเป็นกังวลว่าบุตรหลานของตนเองจะเป็นโรคนี้ในกรณีที่มีไข้สูง เนื่องจากโรคนี้อาจรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ในบางราย

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะโรค โดยยุงลายตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เชื้อไวรัสเดงกีในเลือดของผู้ป่วยจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุง เชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงตลอดอายุของยุง คือประมาณ 1 - 2 เดือน หากยุงลายตัวนั้นกัดคนอื่น เชื้อไวรัสเดงกีในยุงจึงถูกถ่ายทอดไปให้แก่คนได้

ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งแรกมักไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียงไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อนี้เป็นครั้งที่ 2 โดย เฉพาะเชื้อนั้นเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงช็อกได้ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะไข้ ระยะช็อก และระยะพักฟื้น

  • ระยะไข้ หรือระยะที่ 1 ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย เบื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หน้าแดง อาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่นๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ เป็นต้น โดยอาการจะเป็นอยู่ประ มาณ 2 - 7 วัน
  • ระยะช็อก หรือระยะที่ 2 ในบางรายขณะที่ไข้ลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลงคือ ซึมลง กระสับกระส่าย เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบา ปัสสาวะน้อย ในบางรายมีอาการปวดท้องมาก ท้องโตขึ้น หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง บางรายมีเลือดออกมากเช่น เลือดออกในทางเดินอาหารทำให้อุจจาระสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดกำเดาไหล ผู้ป่วยในระยะนี้อาจมีอาการช็อก ความดันโลหิต (เลือด) ต่ำ และถึงแก่ชีวิต (ตาย) ได้ ซึ่งระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1 - 2 วัน แต่ในบางราย ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก หลังจากไข้ลง ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากระยะที่ 1 เข้าสู่ระยะที่ 3 เลย
  • ระยะพักฟื้น หรือระยะที่ 3 ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น โดยรับประทานอาหารได้มากขึ้น ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ในบางรายอาจมีผื่นเป็นวงขาวๆบนพื้นสีแดงตามผิวหนังโดยเฉพาะที่ขาทั้ง 2 ข้าง ผื่นมักไม่คันและไม่เจ็บ

ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้จะหายได้เอง ดังนั้นการรักษาที่มีจึงเป็นเพียงการรักษาตามอาการ และการรักษาภาวะแทรกซ้อน (ผล ข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

ในระยะไข้ หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ยังพอรับประทานอาหารได้บ้าง รู้สติดี ไม่ซึม แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากไข้สูง และจากการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือด และให้สังเกตอาการที่บ้าน จากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ

แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ปวดท้องมาก ปัสสาวะออกน้อย กระสับกระส่าย ซึมลง หรือมือเท้าเย็น แพทย์จะให้เฝ้าสังเกตอาการและดูแลรักษาที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะ เพื่อการเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออก ซึ่งนอกจากการตรวจวัดชีพจร และความดันโลหิตอย่างใกล้ ชิดแล้ว แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลง และเข้าสู่ระยะช็อกได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้เริ่มลดลง ซึ่งใช้เวลาผ่านพ้นระยะนี้เป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะพักฟื้นซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัย

ในระยะพักฟื้นนี้ ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตปกติ

หากมีอาการไข้สูงโดยไม่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย และถ้ามีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวาร่วมกับเลือดออกผิดปกติ เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปนร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากพบในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอยู่