กระดานสุขภาพ

ต่อมน้ำเหลืองใต้คางขวาอักเสบเป็นๆหายๆ
Jira*****b

10 มกราคม 2561 13:44:23 #1

สวัสดีครับ คือ ผมมีอาการต่อมน้ำเหลืองใต้คางขวาอักเสบเป็นๆหายๆหลังผ่าฟันคุด คุณหมอบอกว่า ไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดขึ้นจริงอย่างที่คุณหมอท่านนั้นบอก แต่ก็นานมากประมาณ 6 เดือนได้ ตอนที่ผมสะบัดคอแรงแล้วดังกรึ๊กจากนั้นก็ปวดตุบๆที่ขมับขวา(ปัจจุบันก็ยังไม่หายยังเป็นอาการนี้อยู่แต่ก็เบาๆลงแล้ว) อีกอย่างตรงก้านคอขวามีก้อนแข็งๆ กดแล้วยุบลงไปได้ เป็นตอนพร้อมๆกับตอนสะบัดคอแรงก้อนประมาณ 1ซม. มันไม่โตอยู่คงที่ มองอาจไม่เห็นต้องเอามือจับจะเป็นก้อนๆ อยากทราบเลยคือ

1. ต่อมน้ำเหลืองใต้คางขวาอักเสบเป็นๆหายๆ เกิดจากอะไร

2. มีวิธีการทำอย่างไรให้การสะบัดคอแรงแล้วปวดขึ้นขมับหายไปแบบถาวรบ้างไหม

3. ก้อนเล็กๆตรงแถวๆก้านคอขวานี่คืออะไรหรอครับ

อาจยาวสักหน่อยนะครับ  ขอบคุณมากครับ

อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 78 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 28.65 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

18 มกราคม 2561 19:47:20 #2

1. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) คือภาวะที่เกิดมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อาจเกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆ แล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเกิดการอักเสบตามไปด้วยโดยไม่มีการติดเชื้อในต่อมน้ำเหลือง(เช่น ฟันผุ แล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ), หรือจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง (เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง), หรือจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองโดยไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อก็ได้ (เช่น ในโรคออโตอิมมูน)

ต่อมน้ำเหลือง เป็นเนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลือง โดยมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ รูปไข่ นุ่ม เคลื่อนที่ได้เล็กน้อย มีขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร ในภาวะปกติมักคลำไม่พบเพราะจะอยู่ปนไปกับเนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ต่อมน้ำเหลืองจะมีกระจายอยู่ทั่วตัวในทุกอวัยวะยกเว้นในสมอง มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นตัวดักจับสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะเชื้อโรค นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายด้วย

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใดๆแล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงตามมา แต่ไม่มีรายงานความชุกของภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นภาวะที่พบได้ในทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ในทั้งในเพศหญิงและเพศชายเท่าๆกัน

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจเกิดเพียง ต่อมเดียว, หลายๆต่อมพร้อมๆกัน, ในหลายตำแหน่ง (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ), และ/หรือ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ทั้งนี้ ขึ้นกับสาเหตุ และ/หรือ ตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดการอักเสบ

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้แก่

ก. มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆ แล้วส่งผลให้เกิดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียงอักเสบตามไปด้วย โดยไม่มีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งสาเหตุนี้ เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เช่น

การอักเสบของช่องปากและช่องคอจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น เหงือก ลิ้น กระพุ่งแก้มอักเสบ ฟันผุ ต่อมทอนซิลอักเสบ) ซึ่งต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบคือ ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณลำคอ
โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส และ/หรือเชื้อแบคทีเรีย (เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน) ต่อมน้ำเหลืองที่โตคือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้งด้านหน้าและด้านหลังของคอ
การมีการอักเสบหรือแผลที่มือ แขน หน้าอก เต้านม จะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองรักแร้อักเสบ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ การมีแผล มีการอักเสบของ เท้า ขา และอวัยวะเพศ จะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบอักเสบ เป็นต้น

ข. มีการติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง ซึ่งอาจเกิดต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เมื่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงนั้นเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเชื้อลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองด้วย ซึ่งต่อมน้ำเหลืองที่ติดเชื้อนี้ จะมีลักษณะ บวมแดง เจ็บ เป็นหนอง, หรือ เป็นการติดเชื้อโดยตรงของต่อมน้ำเหลืองนั้น ซึ่งการติดเชื้อโดยตรงนี้ ต่อมน้ำเหลืองมักมีการอักเสบ โต หลายต่อมพร้อมกัน และมักมีลักษณะเหมือนสายลูกประคำ เช่น วัณโรคต่อมน้ำ เหลือง หรือ ในโรคเอดส์

ค. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่สาเหตุไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น ในโรคออโตอิมูน, ในโรคมะเร็ง (ลักษณะสำคัญคือ ต่อมน้ำเหลืองจะไม่ค่อยเจ็บและจะโตขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว มักมีขนาดโตมากกว่า 1 เซนติเมตร), ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือจากการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก Phenytoin, ยารักษาโรคความดันโรคหิตสูง Atenolol, ยาลดกรดยูริคในเลือดและรักษาโรคเกาต์ Allopurinol เป็นต้น

ง. ประมาณ 0.5 - 1% ของผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยต่อมน้ำเหลืองอักเสบ/ต่อมน้ำเหลืองโต แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

เมื่อมีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ โดยที่ต่อมโตขึ้นเรื่อยๆ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว หรือโตเป็นสายคล้ายสายลูกประคำ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

2.การสะบัดคอแรงๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและท้ายทอยดึงรั้ง ทำให้ปวดศีรษะได้ สิ่งควรทำคือหันหน้าให้ปกติ ไม่หันกระชากค่ะ

3.ก้อนต่างๆตามร่างกาย จะวินิจฉัยได้ แพทย์ควรได้ตรวจร่างกายค่ะ