กระดานสุขภาพ

กลัวเป็นโรคฉี่หนู
Anonymous

13 ธันวาคม 2560 14:10:28 #1

สวัสดีคะ พอดีวันนี้ มีอาการหนาวสั่น คลื่นใส้แต่ไม่อาเจียนคะ มีอาการ เหมือนจะท้องเสียด้วยคะ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกายคะเหมือนจะเป็นไข้เลยคะ และก็เบื่ออาหารด้วยคะ หนูจึงกลัวว่าจะเป็นโรคฉี่หนูคะ เพราะที่บ้านมีหนูค่อนข้างเยอะคะ และถ้าหากเป็นจะรักษาหายหรือป่าวคะ หนูต้องรอดูอาการไปก่อนหรือไปหาหมอได้เลยคะ
อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 80 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 29.38 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

14 ธันวาคม 2560 09:36:48 #2

โรคฉี่หนู หรือ เล็ปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์มาสู่คน (เรียกว่า ซูโนสีส/zoonosis) โดยสามารถติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น แต่พบว่าสาเหตุมาจากหนูซึ่งเป็นแหล่งรังโรคมากที่สุด โดยเชื้อโรคมาจากในปัสสาวะของหนู จึงเรียกโรคนี้ว่า ‘ฉี่หนู’ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีอาการที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่มียาปฏิชีวนะรักษา ความสำคัญคือ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต(ตาย)ได้ และผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้วสามารถเป็นได้อีก

เชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีรอยขีดข่วน หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ หรือไชเข้าทางเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา จมูก ปาก ดังนั้นการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคก็อาจติดเชื้อได้ นอกจากนี้การสูดหาย ใจเอาละอองปัสสาวะที่มีเชื้อโรคก็อาจจะติดเชื้อได้อีกด้วย คนที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูติดได้จากหลายทาง คือ

  • การสัมผัสปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อ จากสัตว์โดยตรง
  • การสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในท่อไตของสัตว์สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี เชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์ และปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น น้ำท่วมขัง น้ำตก แม่น้ำลำคลอง รวมทั้งดิน โคลน ได้นานหลายเดือน เคยมีรายงานว่าอยู่ได้นานถึง 6 เดือนในที่น้ำท่วมขัง โดยมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม เช่น มีความชื้น แสงแดดส่องไม่ถึง และมีความเป็นกรดปานกลาง มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขังได้สูง
  • การติดต่อจากคนสู่คนพบได้น้อยมาก ที่อาจพบได้คือ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ผ่านทางหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในครรภ์ และผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก

ทั้งนี้ บุคคลกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ได้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คน งานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ คนงานโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ร้านขายสัตว์เลี้ยง ทหาร/ตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา

ในกลุ่มประชาชนทั่วไป มักเกิดเมื่อมีน้ำท่วม บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหาร หรือรับประ ทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะเจอในกลุ่มบุคคลที่ทำกิจกรรมพักผ่อนทางน้ำ เช่น เล่นเรือแคนู วินเซิร์ฟ และสกีน้ำ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น โดยที่เชื้อจะไปทำให้หลอดเลือดเล็กๆในอวัยวะต่างๆเกิดการอักเสบเป็นหลัก และอาจเข้าไปทำลายเซลล์โดยตรง ทำให้เซลล์ตายและเกิดอาการตามอวัยวะต่างๆได้ หลังจากนั้น ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (แอนติบอดี/Antibody/สารภูมิต้านทาน) ขึ้นมาทำลายเชื้อโรค เชื้อโรคก็จะหมดไป แต่อาจทำให้มีอาการต่างๆเกิดขึ้นมาอีกจากปฏิกิริยาระหว่างเชื้อโรคและภูมิคุ้มกันนั่นเอง

เมื่อเชื้อโรคเข้าสูร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 2 - 26 วัน (เฉลี่ย 1 - 2 สัปดาห์) จึงจะปรา กฏอาการ (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ

  1. ไม่มีอาการ ประมาณ 15 - 40% ของคนที่ติดเชื้อ ไม่แสดงอาการให้ปรากฏ
  2. อาการแสดงแบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อและมีอาการ จะอยู่ในกลุ่มนี้ อาการจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลังลูกตาไอ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อา เจียน และอาการปวดกล้ามเนื้อที่เป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้คือ ปวดน่องขาทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังและท้องร่วมด้วยได้ สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคเข้าไปทำลายเซลล์กล้าม เนื้อ อาการอื่นๆเช่น เยื่อบุตาบวม มีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีผื่นที่อาจเป็นจุดแดงราบ จุดแดงนูน หรือจุดเลือดออก ตากลัวแสง มีอาการสับสน ไอเป็นเลือด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ และ/หรือ รักแร้โต ตับ ม้ามโต อาจมีตัวเหลืองเล็กน้อย ปวดท้องจากตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ปวดตามข้อ อุจจาระร่วง อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์แล้วหายไป ประมาณ 1 - 3 วันต่อมา อาการจะกลับมาเป็นอีก ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคนี้ สาเหตุเกิดจากร่างกายเริ่มผลิตสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรคมาต่อสู้กับเชื้อโรค ปฏิกิริยาระหว่างตัวเชื้อกับสารภูมิคุ้มกันต้านทานทำให้เกิดอาการขึ้น อาการจะค่อนข้างหลากหลายกว่าอาการช่วงแรก แต่มีความรุนแรงที่น้อยกว่า เช่น อาจจะปวดกล้ามเนื้อที่น่องเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นลักษณะ เฉพาะของอาการในช่วงที่ 2 คือ เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการต้นคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน บางรายอาจไม่มีอาการแต่ถ้าตรวจน้ำไขสันหลัง (CSF, Cerebrospi nal fluid) จะพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นสูง อาการอาจจะเป็นอยู่ 2 - 3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ แต่ในที่สุดอาการจะหายไปโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
  3. อาการแสดงแบบรุนแรง อาจเรียกว่า วายล์ซินโดรม/Weil’s syndrome (ผู้ที่ค้นพบกลุ่มอาการนี้ชื่อ Weil ซึ่งค้นพบเมื่อ ปี คศ. 1886 นับเป็นเวลา 30 ปีก่อนพบเชื้อโรคต้นเหตุ) ประมาณ 5 - 10% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มนี้ มีอัตราการตายประมาณ 10% เริ่มต้น อาการจะเหมือนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งจะเป็นอยู่ 4 - 9 วัน ต่อมาจะมีตัวเหลือง ตาเหลือง (อาการดีซ่าน) มาก ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคไปทำลายเซลล์ตับ นอกจากนี้เชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเล็กๆในอวัยวะต่างๆแบบรุนแรงและเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกจากหลอดเลือด นำมาสู่ภาวะช็อก และเกิดภาวะไตวายฉับพลัน ทำให้ไม่มีปัสสาวะออกมา เกิดของเสียคั่งในร่างกาย ระบบเกลือแร่ขาดสมดุล และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือด ออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดออกในปอดซึ่งอาจทำให้ไอเป็นเลือดรุนแรงได้ หอบเหนื่อยมาก จนกระทั่งเกิดภาวะหายใจล้มเหลว มีเลือดออกในลำไส้ทำให้อุจจาระเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว นอกจากนี้อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย และในที่สุดก็ทำให้อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเกิดภาวะล้มเหลว และเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด

อนึ่ง สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ การติดเชื้ออาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้โดยผ่านทางรก ซึ่งอาจทำให้แท้งบุตรถ้าเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงแรก หรืออาจทำให้ทารกตายในครรภ์ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงหลัง แต่ทั้งหมดนี้พบได้น้อย

การรักษาหลักของโรคฉี่หนูคือ ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อไปฆ่าเชื้อโรค ในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอา การไม่รุนแรง จะให้ในรูปแบบยากิน และรักษาแบบผู้ป่วยนอก ส่วนในผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรง แพทย์มักให้นอนโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ

นอกจากนี้ จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการไปร่วมกัน เช่น การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ปวด ให้ยาแก้ไอ และแก้อาเจียน ในผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรง ต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรืออาจต้องให้เลือด และ/หรือเกล็ดเลือด หรือในกรณีที่มีไตวาย อาจต้องฟอกเลือด และถ้าเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น