กระดานสุขภาพ

ขัดหัวเข่า
Anonymous

6 ธันวาคม 2560 08:49:11 #1

ขัดหัวเข่าเวลาขยับบางครั้งดังกรอดๆ
อายุ: 15 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 164ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Haamor Admin

(Admin)

6 ธันวาคม 2560 19:24:46 #2


เรียนคุณ da997


คำถาม ค่อนข้างไม่ชัดเจนค่ะ ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมคะ

Anonymous

7 ธันวาคม 2560 03:28:31 #3

ตอนขยับหรือลุกมันจะมีเสียงดังกรอดๆค่ะ
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

7 ธันวาคม 2560 09:12:08 #4

ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นโรคข้อเรื้อรังที่พบมากที่สุด พบบ่อยที่ข้อเข่า ข้อมือ และข้อสะโพก พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย การเสื่อมของ ข้อจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ การดำเนินโรคใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะเริ่มแสดงอาการปวด

ข้อเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและทางชีวกลศาสตร์ภายในข้อและภายในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการถูกทำลาย เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อมีเลือดมาเลี้ยงน้อย เซลล์กระดูกอ่อนได้รับสาร อาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์สารต่างๆที่จำเป็นในการซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักที่เกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันได้

กระดูกอ่อนผิวข้อนอกจากมีเลือดมาเลี้ยงน้อยแล้วยังไม่มีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บ ปวดอยู่ด้วย ผู้ที่มีข้อเสื่อมในระยะแรกจึงไม่เกิดอาการปวดจนกว่าข้อที่เสื่อมจะเกิดกระบวนการในการอักเสบ มีหลอดเลือดและเส้นประสาทงอกเข้าไป หรือผิวข้อสึกรุนแรงมากจนถึงเนื้อกระดูกใต้กระดูกอ่อนผิวข้อ ผู้ป่วยจึงจะเกิดอาการปวด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อ (เข่า สะโพก มือ) เสื่อมหรือทำให้โรคลุกลามมากขึ้นได้แก่

  • อายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมาก
  • เพศหญิง มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย
  • ระดับการทำกิจกรรมในแต่ละวันสูง การเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมาก
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆมาก่อน
  • แนวกระดูกที่ประกอบเป็นข้อผิดรูป เช่น มีเข่าโก่ง
  • กรรมพันธุ์
  • เยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรัง

ผู้ที่มีข้อเสื่อม อาจมีอาการต่อไปนี้ คือ

  • อาการปวดข้อ เป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดเป็นๆหายๆ ยกเว้นช่วงที่ข้ออยู่ในระยะอักเสบ จะมีอาการปวดข้อตลอดเวลา อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นขณะนั่งยองๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบเป็นเวลานาน เมื่อลุกขึ้นจะเกิดอาการปวดข้อมาก
  • อาจได้ยินเสียงลั่นในข้อ
  • ข้อติดขยับข้อได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อขยับข้อนั้นๆสักพักก็สามารถขยับข้อได้เป็นปกติ
  • ข้อบวมขึ้น เนื่องจากมีน้ำเลี้ยงข้อเพิ่มขึ้นในระยะที่ข้ออักเสบ
  • ถ้าข้อเสื่อมรุนแรง อาจได้ยินเสียงกรอบแกรบในข้อเวลาที่มีการเคลื่อน ไหวข้อนั้นๆ
  • ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ

การดูแลรักษาเบื้องต้นของโรคข้อเสื่อมที่สำคัญ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ เช่นการนั่งยอง คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ
  • งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ
  • กินยาแก้ปวดเช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้

  • ข้อบวมมาก
  • ข้อติด เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ
  • อาการปวดข้อไม่บรรเทา หรือรุนแรงมากขึ้น
  • ข้อผิดรูป เช่น เข่าโก่ง

การรักษาโรคข้อเสื่อม แบ่งเป็น 3 วิธี ขึ้นกับระดับอาการและความรุนแรงของโรค ได้แก่

การรักษาโดยไม่ใช้ยา ประกอบด้วย

  • การให้คำแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับโรค ปัจจัยเสี่ยง และหลีก เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น
  • การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
  • ลดน้ำหนักตัว
  • การใช้เครื่องช่วยเดินในการเดิน เช่นไม้ค้ำยัน/ไม้เท้า
  • การประคบร้อนในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการปวด และประคบเย็นหลังเกิดอาการ 48 ชั่วโมง เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและราคาถูก ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง
  • การรักษาด้วย คลื่นอัลตราซาวด์ การกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิว หนัง เลเซอร์ และ/หรือ ฝังเข็ม มีประสิทธิผลน้อยและค่าใช้จ่ายสูง

การรักษาด้วยยา

  • ยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นตัวเลือกอันดับแรกเพราะมีประ สิทธิผลใกล้เคียงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์แต่มีความปลอดภัยและราคาถูก
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (เอ็นเสด/NSAIDs) เมื่อใช้พาราเซตามอลไม่ได้ผล ข้อห้ามใช้คือ ผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับเช่น โรคตับแข็ง หรือโรคไตเช่น โรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นข้อห้ามใช้
  • กลุ่มยาออกฤทธิ์ช้าเพื่อชะลอความเสื่อมมีหลายชนิดเช่น กลูโคซามีน ซัลเฟต (Glucosamine sulphate), คอนดรอยติน ซัลเฟต (Chondroitin sulphate), ไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic acid) และไดอะเซอรีน (Diacerein) ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดปวดได้บ้างและทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมได้มากขึ้น แต่ยามีราคาสูง
  • การฉีดยาเข้าข้อเข่าได้แก่ การฉีดยาสเตอรอยด์เพื่อลดการอักเสบระยะเฉียบ พลัน หรือการฉีดไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งมีหลายชนิดต้องทำการฉีด 3 - 5 ครั้ง ขึ้นกับชนิดของยา ยากลุ่มนี้มีประสิทธิผลปานกลางแต่มีราคาสูงมาก
  • ยาอื่นๆ เช่น แคลซิโตนิน (Calcitonin) และ ไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) เป็นยาที่อยู่ในระหว่างการศึกษาประสิทธิผลเท่านั้น

การผ่าตัด

  • การผ่าตัดเพื่อล้างข้อ ไม่มีประโยชน์ และไม่แนะนำ
  • การผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูก มีข้อบ่งชี้ในกรณีข้อเสื่อมปานกลาง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม มีข้อบ่งชี้ในกรณีข้อเสื่อมรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ข้อเสื่อมรุนแรง หรือมีการผิดรูปของข้อมาก เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลมาก แต่ยังมีราคาสูง