กระดานสุขภาพ

สอบถามคะเชื้อพิษสุนัขบ้า
Anonymous

22 ตุลาคม 2560 06:10:33 #1

สอบถามเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าคะ คุณหมอคะ โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อผ่านน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้ออย่างเดียวหรือป่าวคะ แล้วพวกเลือด อุจจาระ ปัสสวะ 3อย่างนี้มีเชื้อพิษสุนัขบ้าบ้างไหมคะ ทำให้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้หรือป่าว และโรคพิษสุนัขบ้าอยู่นอกร่างกายได้นานไหมเช่นน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อหยดลงพื้นเชื้อจะตายไหมคะ
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 56 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.88 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

24 ตุลาคม 2560 11:14:05 #2

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ Rabies เป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (เรียกว่า zoonosis) โดยคนถูกกัดจากสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสนี้ โรคนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘โรคกลัวน้ำ’ เพราะผู้ป่วยจะมีอา การกลัวน้ำนั่นเอง
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ซึ่งจะอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อมีชื่อว่า Lyssavirus หรือบางท่านเรียกว่า Rabies virus โดยเชื้อจะทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบทั้งในคนและสัตว์ แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสแล้ว ถ้าได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าและสารภูมิคุ้มกันต้านทาน (Immunoglobulin) อย่างรวดเร็วเหมาะสมก็จะไม่เป็นโรค แต่ถ้าไม่ได้การรักษาดังกล่าวก็จะป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งไม่มียารักษาและเสียชีวิตในที่สุด

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น

 

    • สัตว์ในตระกูลสุนัข ทั้งสุนัขบ้านและสุนัขป่า (หมาป่า หมาจิ้งจอก หมาใน)
    • สัตว์ตระกูลแมว ทั้งแมวบ้านและแมวป่า
    • สัตว์ในตระกูลหนู ทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่าหลายชนิด
    • นอกจากนี้ยังมี ค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ลิง กระรอก พังพอน สกั๊ง ก็เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

 

ในประเทศที่พัฒนาแล้วแทบไม่พบว่าสุนัขและสัตว์เลี้ยงในบ้านชนิดอื่นๆเป็นสาเหตุของโรค เนื่องจากมีการควบคุมการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอย่างเข้มงวด ไม่มีสัตว์จรจัด สัตว์ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ (มากกว่า 90%) จึงเป็นสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สกั๊ง สุนัขจิ้งจอก และที่สำคัญคือค้างคาว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย สุนัขยังคงเป็นสาเหตุที่สำคัญ โดย 96% ของผู้ป่วยไทยติดเชื้อมาจากสุนัขอีก 3 - 4 % มาจากแมว

 

คนจะติดเชื้อจากสัตว์เหล่านี้ได้โดย

  • จากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดข่วนหรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล โดยเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่จะเข้าสู่ผิวหนังที่มีบาดแผล นอกจากนี้ เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุต่างๆคือ ปาก เยื่อบุตา ได้เช่นกัน
  • จากการหายใจเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ซึ่งพบได้น้อยมากมาก เช่น การเข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวอยู่กันเป็นล้านๆตัว หรือเจ้าหน้าที่ในห้องแลปที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสชนิดนี้
  • มีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาประมาณ 8 รายจากทั่วโลก และจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอื่นๆประมาณ 3 ราย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยในตอนแรก

วิธีก่อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์จะคล้ายกันคือ เมื่อเชื้อจากน้ำลายสัตว์เข้าสู่ร่าง กายทางบาดแผลแล้ว เชื้อไวรัสจะอยู่บริเวณกล้ามเนื้อที่ใกล้บาดแผลนั้น แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วจึงเดินทางเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นๆ จากเส้นประสาทส่วนปลาย เชื้อไวรัสจะเดินทางต่อเพื่อไปยังไขสันหลัง โดยมีอัตราความเร็วในการเดินทางประมาณ 12 - 24 มิลลิเมตร (มม.) ต่อวัน

เมื่อเข้าสู่ไขสันหลังได้แล้ว ผู้ป่วยก็จะเริ่มแสดงอาการ (อาการในระยะก่อนเข้าสู่สมอง) ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการแรกนี้หรือเรียกว่าระยะฟักตัว ใช้เวลาประมาณ 20 -90 วัน (แต่เคยมีรายงานว่าใช้เวลาถึง 19 ปีก็มี) จากไขสันหลังเชื้อก็จะเดินทางเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็วในอัตราความเร็วประมาณ 200 - 400 มม.ต่อวัน ดังนั้นยิ่งแผลอยู่ใกล้สมองเท่าไหร่ ระยะฟักตัวก็จะยิ่งสั้นเท่านั้น

เชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่สมองแล้วจะทำให้สมองเกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของสมองอักเสบ หลังจากนั้นเชื้อโรคจะเดินทางกลับเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายอีกครั้งและเข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆรวมทั้ง กล้ามเนื้อ ผิวหนัง ดวงตา ตับ ต่อมหมวกไต หัวใจ และที่สำคัญคือ ต่อมน้ำลาย ที่ไวรัสสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้มากมาย ดังนั้นการถูกสัตว์กัดจึงติดเชื้อได้จากเชื้อที่มีอยู่ในน้ำลายสัตว์นั่นเอง