กระดานสุขภาพ

ถ่ายไม่ออก
Anonymous

7 กันยายน 2560 08:49:34 #1

มีอาการไม่สบายท้องและเหมือนอยากถ่ายเกือบตลอดเวลาแต่ไม่ได้ปวดท้องนะค่ะ แต่พอเข้าห้องน้ำแล้วถ่ายก็ถ่ายไม่ออก ลองเปลี่ยนทั้งนั่งชักโครกหรือส้วมนั่งยองแล้วแต่ก็ไม่ยอมถ่ายค่ะ ต้องทานยาถ่ายค่ะ พอหยุดทานยาถ่ายก็เปนแบบเดิม ค่ะ ขอคำปรึกษาหน่อยค่ะว่าต้องแก้ไขวิธีไหน แล้วเรื่องอาหารการกินนู๋กินผักทุกชนิดค่ะ แต่ส่วนมากจะกินข้าวเหนียว
อายุ: 29 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.39 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

8 กันยายน 2560 05:57:58 #2

ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ได้แก่ อาการไม่ถ่ายอุจจาระตามปกติ ซึ่งโดยคำนิยามทางการแพทย์ ท้องผูกหมายถึงความผิดปกติทั้งจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งต้องน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะของอุจจาระต้องแห้ง แข็ง การขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งหรือใช้มือช่วยล้วง และภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด

ท้องผูก เป็นอาการพบบ่อยมากประมาณ 12% ของประชากรทั้งโลก พบได้ในทุกอายุตั้ง แต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็ก (จากกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่ายในเด็กยังเจริญเติบ โตไม่เต็มที่) และในผู้สูงอายุ (จากกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่ายเสื่อมตามอายุ รวมทั้งผู้สูงอายุยังขาดการเคลื่อนไหวและมักมีโรคประจำตัวที่ส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่าย) และผู้ หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นผลจากฮอร์โมนเพศที่แตกต่างกัน

ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ

เกิดจากลำไส้เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติหรือบีบตัวลดลง ทั้งนี้เพราะขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้จากมีลำอุจจาระเล็ก เช่น จากกินอาหารที่ขาดใยอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลง อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า

จากขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวเคลื่อนตัวช้า

จากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือการไม่มีเวลาพอในการขับถ่าย จึงส่งผลถึงการทำงานของลำไส้ลดการบีบตัวลง

มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อลำไส้และ/หรือประสาทลำไส้ จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวลดลง กากอาหาร/อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้าลง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆเช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ และไตวาย
มีโรคของระบบประสาท จึงส่งผลถึงการทำงานเคลื่อนไหวบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลด ลง เช่น โรคหลอดเลือดสมองโรคเนื้องอก/มะเร็งของสมอง หรือของไขสันหลัง

โรคของกล้ามเนื้อเอง จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวลดลง เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma)
กินยาบางชนิดที่ลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาคลายเครียดบางชนิด ยาโรคกระเพาะอาหารบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด หรือยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ

โรคของลำไส้เอง ก่อให้เกิดการอุดกั้นลำไส้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจัยต่อการเกิดอาการท้องผูกที่พบบ่อยคือ

  • กินอาหารมีกากใยต่ำ (กินผักผลไม้น้อย)
  • ดื่มน้ำน้อย
  • ขาดการเคลื่อนไหวร่างกายและ/หรือการออกกำลังกาย
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว ทำให้ต้องจำกัดการออกแรงและ/หรือการออกกำลังกาย หรือโรคส่งผลต่อประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • กินยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน
  • โรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ดังกล่าวแล้ว

แนวทางการรักษาอาการท้องผูกที่สำคัญคือ การเพิ่มมวลอุจจาระและทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มเคลื่อนที่ได้ง่าย ซึ่งคือ การกินอาหารมีใยอาหารสูง (ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ) และดื่มน้ำสะ อาดวันละมากๆเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม (เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว และเคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอ

ถ้าอาการท้องผูกยังคงมีอยู่ไม่ดีขึ้นหลังปรับเปลี่ยนอาหาร ดื่มน้ำ และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย อาจใช้ยาแก้ท้องผูกโดยปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ ถ้าซื้อยากินเอง

เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกนานเกิน 5 - 7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะการใช้ยาแก้ท้องผูกบ่อยๆจะยิ่งกลับมาท้องผูกมากขึ้นและต้องเพิ่มปริมาณใช้ยามากขึ้นจนอาจก่ออันตรายได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ปวดท้อง

นอกจากนั้นคือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเป็นสาเหตุของท้องผูก เป็นต้น

โดยทั่วไปอาการท้องผูกไม่รุนแรง เมื่อปรับพฤติกรรมการกิน/ดื่มน้ำและเคลื่อนไหวออกกำ ลังกายเพิ่มขึ้น อาการท้องผูกจะหายไปเอง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดอาการท้อง ผูกโดยไม่เคยเป็นมาก่อนและอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แต่เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ภายใน 5 - 7 วันหลังใช้ยาเพื่อหาสาเหตุ และเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาแก้ท้องผูกถ้าใช้ยานานกว่านี้ดังกล่าวแล้ว

การดูแลตนเองเมื่อท้องผูก เช่นเดียวกับการป้องกันท้องผูกคือ

  • กินอาหารมีใยอาหารสูงในทุกมื้ออาหาร
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอไม่นั่งๆนอนๆ
  • ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด ลดความกังวล
  • ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา ควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก และมีเวลาให้ในการขับถ่ายไม่รีบเร่ง
  • ไม่กลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย เมื่อปวดถ่ายควรรีบเข้าห้องน้ำเสมอ
  • ควรปรึกษาแพทย์เรื่องท้องผูกโดยไม่ควรใช้ยาแก้ท้องผูกเอง แต่ถ้าจะใช้ยาแก้ท้องผูกเอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

ควรพบแพทย์ เมื่อ

  • ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วยังท้องผูก
  • ใช้ยาแก้ท้องผูก ประมาณ 5 - 7 วันแล้วท้องผูกยังไม่ดีขึ้น
  • ท้องผูกเกิดโดยไม่เคยมีอาการมาก่อน
  • มีอาการท้องผูกเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์
  • ท้องผูกสลับท้องเสียโดยไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • อุจจาระมีลักษณะเล็กแบนเหมือนริบบิ้น เพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่า อาจมีลำไส้ใหญ่ตีบ ซึ่งอาจจากมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่
  • มีเลือดออกหลังอุจจาระบ่อย เพราะอาจเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวาร หรือมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่

กังวลในอาการ ควรรีบพบแพทย์หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อท้องผูกร่วมกับ ปวดเบ่งมากเมื่อถ่ายปวดท้องมาก และ/หรือคลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาจเป็นอาการของ ลำไส้อุดตัน อุจจาระเป็นเลือด

Anonymous

8 กันยายน 2560 07:50:44 #3

ขอบคุณค่ะ ถ้าอุจระออกมาเปนเส้นแค่ประมาณนิ้วมือ อุจระไม่แห้ง แต่มีเหนี่ยวเหมือนดินเหนี่ยว จะออกมาประมาณ 2-3 เส้นต่อครั้ง(เท่าประมาณนิ้วมือ) นี้ถือว่าปกติรึป่าวค่ะ แต่ออกทุกวัน แต่ก็ต้องใช้แรงแบ่งค่ะ
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

9 กันยายน 2560 18:48:39 #4

สีอุจจาระ แบ่งเป็นสีอุจจาระปกติ และสีอุจจาระจากภาวะ/โรคผิดปกติ

1. สีปกติของอุจจาระ

มักเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลออกเหลือง ทั้งนี้ โดยเป็นสีที่เกิดจากน้ำดีที่เป็นน้ำย่อยอาหารจากตับและจากถุงน้ำดี

นอกจากนั้น ในคนปกติ สีของอุจจาระ ยังขึ้นกับประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ยา และทุกอย่างที่เราบริโภค แต่ทั้งนี้ อุจจาระปกติมักเป็นก้อนแข็ง หรือก้อนอ่อน และไม่มีอาการผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก ท้องเสีย มีไข้ ปวดท้อง

สีอุจจาระ ที่พบได้บ่อยที่ไม่ได้เกิดจากโรค นอกจากที่กล่าวแล้ว คือ

  • อุจจาระสีดำ หรือน้ำตาลเข็มจัดเกือบดำ หรือเขียวเข้มจัด หรือม่วงจนดำ เมื่อ กินผลไม้เปลือกสีดำหรือม่วงเข้ม เช่น พรุน องุ่นดำ เชอร์รีดำ, ยาบำรุงเลือด/ธาตุเหล็ก, ยาโรคกระเพาะบางชนิด เช่น ยาที่มีสารบีสมัธ/Bismuth, สมุนไพรบางชนิดโดยเฉพาะสมุนไพรจีน, สีอาหาร/ลูกอม, และเฉาก๋วย
  • อุจจาระสีออกแดงหรือชมพู เช่น เมื่อกินมะละกอสุก มะเขือเทศ บีทรูท
  • อุจจาระสีเหลือง เช่น เมื่อดื่มนมมาก หรือกินอาหารไขมันมาก
  • อุจจาระสีเขียว มักเกิดจากในอุจจาระมีน้ำดีที่ยังไม่ผ่านกระบวนการย่อย ปนออกมามาก มักเกิดเมื่อกินอาหารหวาน หรือน้ำตาลบางชนิดมากเกินไป โดยเฉพาะ จากของค้าง ของไม่สด หรืออาจเกิดจากสารที่ใช้แต่ง สี กลิ่น รส อาหาร เช่น ในขนมกรุบกรอบ ลูกกวาด หรือจากสมุน ไพรบางชนิดที่อยู่ในอาหาร เช่น ชะเอม ที่มักใช้เป็นสารเพิ่มความหวาน

2. สีอุจจาระผิดปกติ

สีอุจจาระที่ผิดปกติ ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากโรค มักเกิดร่วมกับลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น เป็นก้อนเละ เหลว เป็นน้ำ หรือเปียกเหนียว อาจมีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ก็ได้ขึ้นกับสาเหตุ สาเหตุผิดปกติที่ทำให้สีอุจจาระเปลี่ยนไป ที่พบได้บ่อย คือ

  • อุจจาระดำ เปียก เหนียว เหมือนยางมะตอย และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงผิดปกติ จะเกิดจากมีเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบน (หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กตอนบน)
  • อุจจาระเป็นเลือด พบบ่อย จาก โรคริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ ลำไส้อักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • อุจจาระสีซีด ออกสีเทา เกิดจากภาวะไม่มีน้ำดีในอุจจาระ เช่น ตับอักเสบ ไวรัสตับอัก เสบ และโรคต่างๆที่ทำให้เกิดมีการอุดตันของระบบทางเดินน้ำดี เช่น ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อมีสีและลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ปวดท้องหรือหลังกินยาแก้ปวดต่อเนื่อง ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ