กระดานสุขภาพ

เม็ดเล็กๆในเต้านม เจ็บนม
Anonymous

10 สิงหาคม 2560 10:58:41 #1

สุขภาพเต้านม สืบเนื่องจากหนูเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่คอ กังวลมากๆเพราะหลังจากหายเจ็บคอมาเจ็บรักแร้เจ็บเต้านม จนเป็นกังวลไปหาคุณหมอตรวจอัลตราซาวด์เต้านมแจ้งผลว่าที่เจ็บรักแร้อาจจะเป็นเพราะกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนเต้านมเจอเนื้องอกชนิตธรรมดา คุณหมออีกท่านแนะนำให้ผ่าเลย อีกท่านบอกว่าให้ติดตามผลไปก่อน6เดือน ถ้าไม่โตรวดเร็วก็ไม่ต้องผ่า หนูเป็นกังวลมาก แพนิคมากๆจับนมทุกวัน เพราะกลัวและมันยังรู้สึกเจ็บๆอยู่ ถามว่าเนื้องอกมันทำให้คนเจ็บเต้านมได้ไหม คุณหมอตอบว่าไม่ หนูเลยยิ่งสงสัยว่ามันเจ็บพระอะไร ** อาการเจ็บนานร่วมครึ่งเดือน ทั้งก่อนและหลังเป็นประจำเดือนครั้งก่อน จนคิดว่าเพราะเพราะฮอร์โมนรึไม่ทำไมมันเจ็บไม่หายสักทีทั้งๆที่ครั้งก่อนนั้นประจำเดือนก็หมดแล้ว ตอนนี้ประจำเดือนครั้งล่าสุดเพิ่งมา อาการเจ็บน่าอกบรรเทาลงและทำให้ให้เครียดกว่าเดิม แต่!! จับเจ็บเม็ดๆเล็กๆบริเวณที่เคยเจ็บเต้านม มันชัดขึ้น อยากทราบว่าพระอะไรค่ะ ก่อนหน้านี้เจ็บบริเว้นนั้นแต่ไม่เคยคล้ำเจอเม็ดๆเล็กๆชัดขนาดนี้ มันเคลื่อนไหวไปมาได้ค่ะ กังวลใจมาก และในเต้านมมีต่อมน้ำเหลืองไหมค่ะ

http://haamor.com/media/images/webboardpics/8674f-37660.PNG

อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 41 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.85 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

16 สิงหาคม 2560 14:10:03 #2

ก้อนในเต้านม (Breast mass หรือ Breast lump) คือ ก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดขึ้นในเต้านม อาจเกิดเพียงข้างเดียว (ซึ่งพบได้บ่อยกว่า) หรือ เกิดทั้งสองข้างของเต้านม (ซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก) อาจเกิดเพียงก้อนเดียว (ซึ่งพบได้บ่อยกว่า) หรือเกิดได้หลายก้อน (ซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก) ก้อนเนื้ออาจมีขนาดเล็ก ตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม (Mammogram) และ/หรือ อัลตราซาวด์เต้านม หรือก้อนเนื้ออาจมีขนาดใหญ่จนสามารถคลำได้โดยตัวผู้ป่วยเอง และ/หรือโดยแพทย์

ก้อนเนื้อในเต้านมพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ โดยในเด็กมักพบในช่วงวัยรุ่นที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศต่างๆ เต้านมจึงมีการขยายใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการสร้างต่อมต่างๆสำหรับการสร้างน้ำนม จึงอาจส่งผลให้คลำได้คล้ายก้อนเนื้อ แต่ก้อนเนื้อเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

ก้อนเนื้อในเต้านม พบเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยทั่วไปมักพบในผู้หญิง ในเด็ก ชายมักคลำได้ก้อนในเต้านมโดยเฉพาะใต้หัวนมในช่วงวัยรุ่น ซึ่งพบได้เป็นปกติ โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในวัยนี้ ซึ่งก้อนจะค่อยๆยุบหายไปเอง

บทความนี้ จะกล่าวถึงก้อนเนื้อในเต้านม เฉพาะในผู้หญิง และเฉพาะก้อนเนื้อซึ่งเป็นโรคเท่านั้น ไม่ครอบคลุมก้อนเนื้อที่เป็นไปตามธรรมชาติของฮอร์โมนเพศ และไม่ครอบคลุมก้อนเนื้อที่เกิดจากโรคมะเร็งเต้านมซึ่งได้กล่าวแยกต่างหากเป็นอีกบทความหนึ่งแล้ว

ก้อนเนื้อในเต้านม พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยนัก มีการศึกษาพบว่าประมาณ 16% ของผู้ หญิงช่วงวัย 40-69 ปี จะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเต้านม ซึ่งในกลุ่มนี้ ประมาณ 40 % จะมาด้วยเรื่องมีก้อนในเต้านม

ก้อนเนื้อในเต้านมมีได้หลากหลายชนิด ที่พบได้บ่อย คือ

    • ชนิดที่เรียกว่า ไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes หรือ เรียกย่อว่า FCC ) ซึ่งพบได้ประมาณ 40% ของก้อนเนื้อในเต้านมทั้งหมด
    • เนื้องอกชนิด ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) พบได้ประมาณ 7-10%
    • ก้อนเนื้ออื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง พบรวมกันได้ประมาณ 13-20% ซึ่งที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ คือ ถุงน้ำ (Cyst) เป็นฝี ก้อนไขมัน (Lipoma) เนื้องอกชนิดที่เรียกว่า Phyllodes เนื้องอกชนิดที่เซลล์มีการเจริญเกินปกติ (Hyperplasia) เนื้องอกในท่อน้ำนม หรือ เนื้องอกชนิด Adenosis
    • เนื้องอกมะเร็ง (โรคมะเร็งเต้านม) พบได้ประมาณ 10%
    • บางครั้ง ผู้ป่วยคลำแล้วสงสัยมีก้อนในเต้านม แต่เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบว่า ไม่มีก้อนเนื้อผิดปกติ (ทั้งจากตรวจคลำ และจากตรวจภาพรังสีเต้านม) ซึ่งพบกรณีนี้ได้ประมาณ 30 % ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยสงสัยมีก้อนที่เต้านม

สาเหตุ และอาการของก้อนในเต้านมขึ้นกับชนิดของก้อนเนื้อ

  • ชนิดไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes) สาเหตุของก้อนเนื้อชนิดนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศตามรอบประจำเดือนมักคลำก้อนเนื้อได้ทั้งสองข้างเต้านม ก้อนเนื้อมีขอบเขตไม่ชัดเจน และคลำได้ไม่ชัดเจน ผิวขรุขระ ลักษณะหยุ่นๆ ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้ มักร่วมกับอาการเจ็บเต้านม และ/หรือเจ็บก้อนเนื้อ เจ็บบริเวณรักแร้ และเจ็บที่ก้อน รวมทั้งรู้สึกตึงแน่น หรือเต้านมบวมใหญ่ โดยอาการต่างๆจะเป็นมากขึ้นเมื่อใกล้วันประจำเดือนมา แต่อาการต่างๆจะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนมาแล้ว ซึ่งการกินยาเม็ดคุมกำเนิดจะบรรเทาอาการเหล่านี้ลง ในขณะที่ถ้ากินฮอร์โมนชดเชย เช่น หลังผ่าตัดรังไข่ อาการต่างๆจะมากขึ้น ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้ มักไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง (โรคมะเร็งเต้านม)
  • ชนิดไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งมักพบในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) ทั้งนี้สาเหตุเกิดที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่ามีความสัม พันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดก่อนอายุ 20 ปี และในหลายๆคน ก้อนเนื้อยุบหายเองได้ภายหลังหมดประจำเดือนแล้ว (วัยหมดประจำเดือน) ก้อนเนื้อมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ เคลื่อนที่ได้ ไม่เจ็บ ไม่แข็งมาก มีได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เกิดได้ทั้งก้อนเดียว หรือหลายก้อน ในเต้านมข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง เมื่อเป็นชนิดที่เซลล์ยังไม่มีการเจริญเกินปกติ และ/หรือเซลล์ไม่มีการเจริญเปลี่ยนรูปแบบ (Atypia) ซึ่งเรียกว่า ชนิด Simple fibroadenoma จะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลาย เป็นมะเร็งเต้านม แต่ถ้าเซลล์เกิดการผิดปกติโดยมีการเปลี่ยนรูปแบบของเซลล์ ซึ่งเรียกว่าชนิด Complex fibroadenoma จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งเต้านมสูง 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ ทั้งนี้การจะทราบชนิดของเซลล์ ได้จากการตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ชนิดเกิดจากเซลล์ไขมันตาย (Fat necrosis and oil cyst) พบได้ภายหลังจากเต้านมถูกกระแทก หรือ อุบัติเหตุเต้านม หรือจากผ่าตัดเต้านม หรือฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านม ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ไขมันซึ่งมีอยู่มากมายในเต้านมตาย เกิดเป็นพังผืด และ/หรือเป็นถุงน้ำชนิดภายในเป็นน้ำมัน จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น ก้อนเนื้อจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้บ้างเล็กน้อย อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ทั้งนี้มักมีประวัติดังกล่าวนำมาก่อนคลำพบก้อนเนื้อ และก้อนเนื้อชนิดนี้ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม
  • ชนิดถุงน้ำ/ซีส (Breast cyst) เป็นชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะมักพบเกิดร่วมกับก้อนเนื้อไฟโบรซีสติค พบในวัยเจริญพันธุ์ และถุงน้ำยุบหายเองได้ภายหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ก้อนเนื้อค่อนข้างกลม หรือ รูปไข่ อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ เคลื่อนที่ได้ แข็งคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ มีได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้หลายเซนติเมตร โดยทั่วไปถุงน้ำไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง ยกเว้นส่วนน้อยมากที่เซลล์ผนังถุงน้ำเกิดการเจริญเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ
  • เนื้องอกชนิด Phyllodes หรือ Phylloides พบได้น้อยมาก พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในช่วงอายุ 30-40 ปี ทั้งนี้สาเหตุเกิดยังไม่ทราบ อาการและลักษณะก้อนเนื้อเช่น เดียวกับในก้อนเนื้อ ไฟโบรอะดีโนมา
  • เนื้องอก Phyllodes กลายเป็นมะเร็งได้น้อย ประมาณ 5% ของเนื้องอกชนิดนี้ แต่โรคนี้มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้สูงภายหลังการผ่าตัด
  • ก้อนเนื้อไขมัน (Lipoma) เป็นก้อนเนื้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นก้อนเนื้อมีลักษณะขอบเขตชัดเจน ค่อนข้างกลม นิ่ม มักไม่เจ็บ (แต่อาจเจ็บได้) เคลื่อนที่ได้ ขนาดไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม มีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งของเซลล์ไขมัน(Liposarcoma) ได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมากๆ
  • เนื้องอกในท่อน้ำนม (Intraductal papilloma) คือ เนื้องอกที่เกิดในท่อน้ำนม มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว แต่พบสองข้างได้บ้าง โดยทั่วไปมักคลำก้อนเนื้อไม่ได้ แต่ถ้าก้อนเนื้อโตขึ้น มักคลำได้ก้อนเนื้อโตอยู่ใต้หัวนม และผู้ป่วยอาจมีน้ำนม น้ำเหลือง หรือ น้ำเลือด ออกจากหัวนมได้ โดยทั่วไปเนื้องอกชนิดนี้เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้บ้าง แต่โอกาสเกิดน้อยมาก
  • ก้อนเนื้อจากความผิดปกติของท่อน้ำนม (Duct ectasia) เกิดจากท่อน้ำนมมีขนาดใหญ่ และมีผนังหนากว่าปกติจนทำให้สามารถคลำได้เป็นก้อนเนื้อ ไม่แข็งมาก อยู่ใต้หัวนม หัวนมอาจบุ๋มได้ และอาจมีน้ำสีออกเขียว หรือ ดำคล้ำออกจากหัวนม มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้ ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
  • ก้อนเนื้อจากความผิดปกติของต่อมน้ำนม (Adenosis) ได้แก่ ก้อนเนื้อที่เกิดจากต่อมน้ำนมขยายใหญ่ขึ้น และมีจำนวนต่อมเพิ่มกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว (แต่พบเกิดได้ทั้งสองข้าง) อาจคลำได้ทั้งเป็นก้อนที่ไม่แข็ง หรือเป็นก้อนที่แข็งจากมีพังผืดซึ่งบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เต้านมผิดรูปร่างได้ (Sclerosing adenosis) ก้อนเนื้อชนิดไม่แข็ง มักไม่เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งเต้านม แต่ชนิดที่แข็งมีพังผืดมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ประมาณ 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ
  • ก้อนเนื้อจากการอักเสบ/ฝี มักเกิดในช่วงให้นมบุตร โดยเกิดจากเซลล์เต้านมติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดร่วมกับมีไข้ เต้านมบวม แดง ร้อน เจ็บ มีลักษณะเป็นฝี อาจมีหนองออกทางหัวนม เกิดได้กับเต้านมข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง โรคนี้ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแต่โรคมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง จะทำให้เกิดอาการคล้ายการอักเสบของเต้านมได้ ซึ่งแพทย์แยกได้จากอายุ ประวัติให้นมบุตร และการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ก้อนเนื้อชนิดมีเซลล์เจริญเกินปกติ (Hyperplasia) ก้อนเนื้อชนิดต่างๆทุกชนิด อาจมีเซลล์เจริญเกินปกติได้ ซึ่งแพทย์ทราบได้จากการตัดชิ้นเนื้อ หรือ ผ่าตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าเกิดมีเซลล์เจริญเกินปกติเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ ถ้ามีเพียงเซลล์เจริญเกินปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อก้อนเนื้อเกิดเป็นมะเร็งเต้านม 1-2 เท่าของผู้หญิงปกติ แต่ถ้ามีทั้งเซลล์เจริญเกินปกติ ร่วมกับเซลล์เจริญเปลี่ยนรูปแบบ (Atypia) จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อก้อนเนื้อกลายเป็นมะเร็ง 4-5 เท่าของผู้หญิงปกติ

แนวทางการรักษาก้อนเนื้อในเต้านม โดยทั่วไปคือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกตั้งแต่แรกคลำพบก้อนเนื้อ หรือ เจาะ/ดูดเซลล์ หรือ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือการตรวจทางพยาธิวิทยา ให้รู้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด แล้วจึงให้การรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ

บางครั้งเมื่อแพทย์แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้อจากไฟโบรซีสติก และก้อนเนื้อมีขนาดเล็กๆหลายๆก้อน แพทย์อาจใช้วิธีตรวจติดตามโรค (เพราะถ้าผ่าตัด อาจต้องตัดทั้งเต้านม) โดยอาจนัดผู้ป่วยทุก 2-3 เดือน ทั้งนี้เพราะดังกล่าวแล้วว่าก้อนเนื้อชนิดนี้อาจหายเองได้ แต่จะผ่าตัด เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น

เมื่อก้อนเนื้อเกิดจากถุงน้ำ แพทย์อาจรักษาด้วยการเจาะดูดน้ำออก