กระดานสุขภาพ

ถั่ว ทำให้มีคอลเลสเตอรอลเยอะมั้ยคะ หมอ
Anonymous

21 พฤษภาคม 2560 19:56:38 #1

ขอสอบถามคุณหมอนะคะว่า คอลเลสเตอรอลอยู่ที่231 ถือว่าสูงมั้ยคะ จากการทาน หนูทานถั่วเยอะมาก เป็นสาเหตุของคอลเลสเตอรอลาสูงมั้ยคะ และมีทาน พวกข้าวขาวบ้าง ข้าวกล้องบ้างสลับกัน มัน ฟักทอง และ โยเกิต0%ไขมัน นมถั่วเหลือง อะไรที่หนูทานแล้วเป็นสาเหตุของคอลเลสเตอรอลหรอคะ
อายุ: 26 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.03 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

27 พฤษภาคม 2560 09:14:37 #2

คลอเลสเตอรอล [Total cholesterol] เป็นสารที่สำคัญของร่างกาย ประกอบด้วย ไขมันชนิดดี [HDL-c], ไขมันชนิดร้าย [LDL-c] และ ไขมัน VLDL เมื่อมีปริมาณพอเหมาะไม่มากเกินไป นั้นคือเป็นองค์ประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ทั่วร่างกาย เป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี (Bile) เพื่อใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน และดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ, ดี, อี และ เค นอกจากนั้น ร่างกายยังนำ คลอเลสเตอรอลไปใช้ในการผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และฮอร์โมนเพศอีกด้วย
แต่หากร่างกายมีปริมาณคลอเลสเตอรอลมากเกินไป ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยที่ คลอเลสเตอรอลจะไปสะสมเกาะตามผนังหลอดเลือด และสามารถอุดตันหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตามมา

การตรวจค่าคลอเลสเตอรอล มีประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงการพัฒนาของโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจ เพราะคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงมีความเกี่ยวข้องกับภาวะโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และสามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคต่างๆดังกล่าว

ค่าผลตรวจ Total cholesterol ปกติโดยทั่วไป ดังนี้

ค่าน้อยกว่า 200 mg/dL ปกติ
ค่าช่วง 200-239 mg/dL เริ่มสูง
ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 240 mg/dL ความเสี่ยงสูง


ค่าผิดปกติ

1. ในทางน้อย อาจแสดงผลว่า

  • สภาวะทุโภชนาการ (malnutrition) ก็ได้
  • อาจมีเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน
  • อาจเกิดจากสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)

2. ในทางมาก อาจแสดงผลว่า
2.1 ค่าคลอเลสเตอรอลสูง ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • หากค่าคลอเลสเตอรอลต่ำกว่า 200 มิลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจน้อย
  • หากค่าคลอเลสเตอรอลอยู่ในช่วง 200-239 mg/dL ถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาตรวจค่าไขมันอื่นๆร่วมด้วยเพิ่มเติม เช่น ไขมันชนิดดี [HDL-c], ไขมันชนิดร้าย [LDL-c] และ ไตรกลีเซอไรด์ [TG] ซึ่งขึ้นกับผลการตรวจและความเสี่ยงอื่นๆที่ท่านมี
  • หากค่าคลอเลสเตอรอลมากกว่าหรือเท่ากับ 240 mg/dL ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาตรวจค่าไขมันอื่นๆร่วม

ด้วยเพิ่มเติม เช่น ไขมันชนิดดี [HDL-c], ไขมันชนิดร้าย [LDL-c] และ ไตรกลีเซอไรด์ [TG] เพื่อบ่งชี้ที่มาของระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง และประเมินการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
2.2 นอกจากนั้นอาจแสดงผลว่า

  • อาจกำลังเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
  • อาจกำลังเกิดปัญหาท่อในถุงน้ำดีอุดตัน
  • อาจเกิดสภาวะโรคไต (Nephrotic syndrome)
  • อาจเกิดสภาวะดีซ่านจากถุงน้ำดีอุดตัน (Obstructive jaundice)
  • อาจเกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบ

การจัดการ หากสาเหตุต้องรักษาภาวะคลอเลสเตอรอลสูง

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทุกท่าน ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทานอาหารไม่มากเกินจำเป็น ลดบริโภคประเภทไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ เนย มะพร้าว กะทิ เป็นต้น และอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง เช่น ปลาหมึก ไข่ กุ้ง หอย ร่วมทั้งอาหารมีน้ำตาลปริมาณมาก เป็นต้น
  • และ เพิ่มการบริโภคอาหารพวกพืชผักผลไม้ ที่มีเส้นใย (fiber) ให้มาก
  • และ ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล
  • และ เลิกบุหรี่
  • ลดความเครียด ความวิตกกังวล เนื่องจากทำให้ร่างกายผลิตคลอเลสเตอรอลขึ้นมาเกินความจำเป็น

2. ผู้ที่ต้องรับประทานยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง ต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้เหมาะสม
3. ผู้ที่ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินการรักษาที่เหมาะสม และเพื่อติดตามผลการรักษา