กระดานสุขภาพ

โดนแมวกัด
Onky*****k

26 มีนาคม 2560 12:58:18 #1

สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันโดนแมวกัดที่มือ แผลลึกนิดหน่อย มีเลือดออกอยู่ค่ะ. แต่ก็ทำคาวมสะอาด โดยการล้างด้วยสบู่ และแอกออฮ์. และปิดแผลไว้. และตอนนี้รู้สึกร้อนๆที่แผลนะค่ะ อย่างนี้ต้องไปหาหมอปว่าค่ะ. และถ้าไม่ไปจะต้องทพอย่างไรค่ะ
อายุ: 42 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

27 มีนาคม 2560 13:41:29 #2

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์(prophylaxis) มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน
  2. การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง

การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์ จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้

1. ไม่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด (ยกเว้น น้ำลายหรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปากจะต้องรับการฉีดวัคซีน)

2. ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่

  • ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก
  • ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล
  • ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ
  • ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก
  • มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 0 เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐบาลที่ใกล้ที่สุด (ที่ใดก็ได้) ทันที จนครบทุกเข็มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใดๆ

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัข แมวหรือสัตว์อื่นๆ กัด?

เมื่อถูกสัตว์ข่วนหรือกัดโดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าควรรีบปฐมพยาบาลและปฏิบัติตัวดังนี้
ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น

เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (hibitane in water) ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผลยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก

ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือ เร็วที่สุดเพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม

กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคนหรือสัตว์อื่นหรือไม่สามารถกัดสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้