กระดานสุขภาพ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
Tumm*****g

11 มกราคม 2560 04:48:18 #1

เรียนสอบถามคุณหมอครับ

      ผมมีโรคประจำตัวที่ทานยาคือความดันสูง น้ำตาลในเลือดประมาณ 127(ไม่ได้ทานยา) กรดยูลิค ประมาณ 8

(ทาน Allopurinol 100 มก.วันละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า)ผมเริ่มเป็นกระเพาะ ปัสสาวะอีกเสบ มา 3 ครั้ง ครั้งที่ 1-2

ห่างกันประมาณ 3 เดือน ครั้งที่ 3 หลังจากคุณหมอให้กินยาครั้งที่ 2 หมด ก็เริ่มเป็นเลยครับ ปัสสาวะจะมีกลิ่นคาว ครับ

แต่ยังไม่มีอาการปวดหรือหน่วง หรือมีไข้นะครับ มีแค่กลิ่นที่รู้สึกว่าเหมือนครั้งที่ 1 และ2  ตอนเป็นครั้งที่ 2 คุณหมอนัด

ให้ไปพบกับคุณหมอด้านนี้โดยตรง คุณหมอให้ไปอุลตร้าซาวด์ก็ไม่มีอะไร คุณหมอก้อถามอาการและให้ยาเกี่ยวกับต่อม

ลูกหมากโต มาให้กินก่อนนอนทุกวัน ๆละ 1 เม็ด (DOXAZOSIN) จู่ ๆ พอหมดยาครั้งที่ 2 ก็เริ่มเป็นอีกครับ กลุ้มใจ

มากตอนนี้กำลังลดน้ำหนักอยู่ครับ และคิดว่าจะหาเห็นหลินจือแดงมาทาน จะดีขึ้นไหมคับ รบกวนคุณหมอหน่อยนะครับ 

ขอบคุณมากครับ

 

 

อายุ: 47 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 142 กก. ส่วนสูง: 187ซม. ดัชนีมวลกาย : 40.61 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

7 มีนาคม 2560 04:23:52 #2

การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) หรือเรียกย่อว่า ยูทีไอ (UTI) คือ โรคหรือภาวะที่เกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ทั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากเชื้อโรคทุกชนิด เช่น เชื้อราและเชื้อไวรัส แต่พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเขื้อจากแบคทีเรีย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ คือ

    • ผู้หญิง เนื่องจาก
    • ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชายมาก เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะ จึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
    • ปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนัก
    • ผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน บริเวณปากช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะจะปน เปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศจะส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศรวมทั้งปากท่อปัสสาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศในช่วงตั้งครรภ์ และช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายในบริเวณปากช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว แบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora) ที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น
    • ภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งตัวครรภ์จะก่อการกดเบียดทับอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะ จึงก่อให้เกิดทางเดินปัสสาวะอุดกั้นได้ง่าย ปัสสาวะจึงแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคจึงเจริญได้ดี จึงเพิ่มเชื้อโรคในปัสสาวะ ก่อให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายขึ้น
    • อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทั้งหญิงและชาย หรือมีเพศสัมพันธ์บ่อย จึงมีโอกาสติดโรคติด ต่อทางเพศสัมพันธ์ได้สูงกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีคู่นอนหลายคน หรือในช่วงเมื่อมีการเปลี่ยนคู่นอน หรือเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศซึ่งรวมถึงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะเกิดการบาดเจ็บจากเพศสัมพันธ์ จึงส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย
    • ผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิ เพราะยาจะก่อการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อของช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะ จึงเกิดช่องคลอดอักเสบและทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย
    • ผู้หญิงที่ใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ฝาครอบปากมดลูก(Diaphragm) จะติดเชื้อในช่องคลอดและในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย จากความไม่สะอาดของมือ (จากการล้วงเข้าไปในช่องคลอด) และของแผ่นครอบไม่เพียงพอ
    • ใช้เจลหล่อลื่น และ/หรือถุงยางอนามัยที่ไม่สะอาด
    • มีทางเดินปัสสาวะอุดกั้น เช่น นิ่วในไต นิ่วในท่อไต และ/หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เพราะส่งผลให้น้ำปัสสาวะแช่ค้างในทางเดินปัสสาวะแบคทีเรียจึงเจริญ เติบโตได้ดีในน้ำปัสสาวะ จึงก่อการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
    • โรคต่อมลูกหมากโต (ในผู้ชาย) เพราะก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
    • โรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ จึงส่งผลให้ลุกลามเกิดการติดเชื้อของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะต่อมลูกหมากจะสัมผัสอยู่กับท่อปัสสาวะ
    • การนั่งนานๆ เช่น เมื่อรถติดมาก การกลั้นปัสสาวะนานๆ เพราะส่งผลให้เกิดการแช่คั่งของปัสสาวะ เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี
    • มีโรคที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ร่างกายจึงติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน
    • โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะจะมีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ มักเกิดการแช่ค้างของปัสสาวะ แบคทีเรียในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี
    • โรค/ภาวะที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ ปัสสาวะแต่ละครั้งไม่หมด จึงมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะเสมอ แบคทีเรียในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี เช่น ในผู้สูง อายุ ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลายครรภ์ และในผู้หญิงที่มีโรคกระบังลมหย่อน หรือในโรคต่อมลูกหมากโต (ในผู้ชาย)
    • การใช้สายสวนปัสสาวะ เพราะท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะจะบาดเจ็บจากสายสวน รวมทั้งการติดเชื้อจากตัวสายสวนเอง เช่น ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ
    • มีความผิดปกติแต่กำเนิดของทางเดินปัสสาวะ ที่เป็นสาเหตุให้มีการกักคั่งของน้ำปัสสาวะ (พบได้น้อย) อาการจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อย คือ
    • ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อยๆ ปวดแสบเวลาปัสสาวะ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดปัสสาวะ และมักตื่นปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
    • อาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแรง หรือเหม็น ผิดปกติ
    • อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด
    • ปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน
    • อาการจากติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอื่นๆที่อาจพบได้ คือ
    • อาจมีไข้ต่ำๆ
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ทั่วตัว
    • อ่อนเพลีย
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ และ/หรืออุ้งเชิงกรานเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • มีหนอง หรือ สารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ ปากช่องคลอด และ/หรือปากท่อปัสสาวะ

อาการจากติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะตอนบนที่นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว คือ มีไข้ มักเป็นไข้สูง หนาวสั่น
ปวดเอวทั้งสองข้าง สำหรับการรักษา ในข่วงของการมีการติดเชื้อคือการให้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือฉีดยาค่ะ หากทราบสาเหตุของการติดเชื้อ หรือปัจจัยใดกระตุ้นก็ต้องรักษาสาเหตุต่อไป เพื่อที่จะทำให้หายและไม่กลับมาเป็นซ้ำบ่อยๆ จากที่ปรึกษามาผู้ป่วยได้รับประทานยาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากโตซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งต่อมลูกหมากที่โต ทำให้มีการติดเชื้อซ้ำๆได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยพบแพทย์จะดีกว่าเมื่อมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสสาวะค่ะ