กระดานสุขภาพ

เกี่ยวกับกรดไหลย้อนมั้ยค่ะ
Somo*****e

28 กันยายน 2559 13:54:10 #1

อาการเวลากินอาหารเข้าไปจะแน่นที่ท้องบริเวนลิ้นปี่กลางหลอดอาหารแล้วแน่นที่คอจะรู้สึกอึดอัดหายใจไม่เต็มปอดต้องเดินให้เลอจะดีขึ้น 2.เวลานอนถ้านอนดึกจะหลับๆนอนหงายค่ะจะรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงมากต้องรุกมานั่งค่ะที่สังเกตุในบางครั้งในท้องจะมีกรดแน่นๆๆท้องด้วยคะ/ไปหาหมอว่าเปนกรดไหลย้อนคะอาการเหล่านี้ใช่กรดไหลย้อนมั่ยค่ะอันตรายมั้ยเปนมาพักใหญ่แล้วอาการเปนๆหายๆๆโรคนี้จะเปนร่วมกันการอักเสบคอปอดกล่องเสียงโพรงจมูกพวกหอบหืดด้วยมั้ยค่ะ/ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยค่ะเพราะกังวลมากเลยค่ะขอบพระคุณมากค่ะ
อายุ: 39 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 151ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.81 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

30 กันยายน 2559 03:55:39 #2

โรคกรดไหลย้อน (Gastoesophageal reflux disease) หรือ เรียกย่อว่า โรคเกิร์ด (GERD) หรืออาจเรียกว่า โรคกรดไหลกลับ ได้แก่โรคซึ่งกรดที่ควรมีอยู่แต่เฉพาะในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร และก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) ลำคอและกล่องเสียงอักเสบ (เจ็บคอเรื้อรัง มีเสลด และอาจเสียงแหบเป็นครั้งคราว)

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  1. อายุ ดังกล่าวแล้ว อายุยิ่งสูงขึ้น โอกาสเกิดโรคนี้ยิ่งสูงขึ้น
  2. บุหรี่ เพราะมีสารพิษ เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง
  3. โรคเรื้อรังต่างๆที่มีผลต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งของกระเพาะอาหารและของเส้น ประสาทกระเพาะอาหารเช่น โรคเบาหวาน และโรคที่ส่งผลให้มีการไอเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง
  4. โรคอ้วน เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้น
  5. การตั้งครรภ์ เพราะเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
  6. โรคของกะบังลม ซึ่งมักเป็นแต่กำเนิด ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมหย่อนหรือมีช่อง กระเพาะอา หารจึงดันเข้าไปอยู่ในช่องอกส่งผลให้มีอาหารค้างในกระเพาะอาหาร รวมทั้งเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารด้วย
  7. โรคกล้ามเนื้อ และ/หรือ ของเนื้อเยื่อต่างๆ (พบได้น้อย) ส่งผลให้กล้ามเนื้อ และ/หรือเนื้อเยื่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานด้อยประสิทธิภาพลง
  8. การกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณสูง โดยเฉพาะกินมื้อเย็นก่อนนอน เพราะปริมาณอาหารยังค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร และการนอนราบยังเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาหารและกรดจึงไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหารได้ง่าย

ประเภทอาหาร และเครื่องดื่ม ได้แก่

  1. ประเภทอาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น ไขมันมันฝรั่งทอด มันเผาหรือมันต้ม อาหารทอด อาหารผัดน้ำมันมากๆ
  2. อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อเพราะจะลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เช่น ช็อกโกแลต สุรา/แอลกอฮอล์
  3. เครื่องดื่มมีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มกลุ่มโคล่า ยาชูกำลังบางชนิด) เพราะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากขึ้น
  4. อาหารที่ก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มและอา หารที่มีความเป็นกรด (เช่น รสเปรี้ยว มะเขือเทศ)
  5. อาหารและเครื่องดื่มที่ให้แก๊สมาก (เช่น น้ำอัดลม หอม กระเทียม)

นอกจากนั้นแต่ละคนต้องสังเกตตนเองว่า อาหารและเครื่องดื่มประเภทใด ปริมาณอย่างไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หรือก่อให้เกิดอาการมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแต่ละคนจะไวต่ออาหารได้แตกต่างกัน

อาการพบบ่อยของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  1. อาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ แต่พบในคนปกติเป็นครั้งคราวได้เมื่อกินอาหารมากเกินไป หรือกินอาหารรสจัด แต่เมื่อมีอาการบ่อย หรืออาการไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ เพราะมักเกิดจากโรคกรดไหลย้อน แต่เมื่อมีอาการแสบร้อนกลางอกรุน แรง ควรต้องรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน เพื่อแยกจากอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
  2. เรอบ่อย โดยเฉพาะเมื่อตื่นนอนทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร ทั้งนี้เพราะจากภาวะมีกรด และมีอาหารบางส่วนค้างในกระเพาะอาหาร
  3. อาจปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ (บริเวณกระเพาะอาหาร) เรื้อรัง
  4. สะอึกบ่อย
  5. เจ็บคอเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนตื่นนอน จากกรดและอาหารไหลท้นถึงลำคอ ก่อการอักเสบเรื้อรังของลำคอ
  6. ไอเรื้อรัง จากอาหารและกรดท้นขึ้นมาถึงลำคอ จึงเกิดลำคออักเสบเรื้อรัง
  7. อาจมีเสียงแหบเป็นๆหายๆเรื้อรัง จากอาหารและกรดไหลท้นถึงกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
  8. มีรสเปรี้ยวในช่องปากเสมอ จากมีเศษอาหารและกรดไหลท้นถึงช่องปาก
  9. อาจอาเจียน หรือขย้อนอาหารออกมาได้บ่อยผิดปกติ หลังกินอาหาร
  10. มีเสมหะ หรือของเหลว หรือสารคัดหลั่งไหลลงลำคอเสมอ ก่ออาการไอเรื้อรัง จากมีการอักเสบเรื้อรังของไซนัส (ไซนัสอักเสบ) สาเหตุจากอาหารและกรดท้นขึ้นมาถึงโพรงหลังจมูก
  11. อาการจากโรคหืดที่ในบางรายมีสาเหตุจากโรคกรดไหลย้อน(ไอ หอบ เหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด) หรือทำให้อาการของโรคหืดที่เป็นอยู่ก่อนแล้วรุนแรงขึ้น แพทย์เชื่อว่าจากมีกรดไหลท้นสู่หลอดลม/ปอด จึงก่อการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เลิก/จำกัดอาหาร เครื่องดื่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เลิกบุ หรี่ ควบคุมน้ำหนัก, ร่วมกับเมื่อมีอาการเรื้อรังรุนแรงขึ้น แพทย์จะให้ยาต่างๆ เช่น ยาลดกรด(อ่านเพิ่มเติมในบทความ วิธีใช้ยาลดกรด) หรือยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร (เช่น ยา Metoclopramide) ซึ่งเมื่ออาการเลวลงมาก อาจต้องให้การผ่าตัดหูรูด แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะการผ่าตัดไม่ได้ผลดีในผู้ป่วยทุกราย
ดังนั้น ในการรักษาควบคุมโรคนี้ ผู้ป่วยต้องระลึกเสมอว่า โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย แต่รักษาควบคุมอาการได้ดี โดยต้องควบคู่กันไประหว่างการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (อ่านเพิ่ม เติมในหัวข้อ การดูแลตนเอง) ร่วมกับการรักษาจากแพทย์กรณีเมื่อมีอาการต่อเนื่อง ซึ่งการรัก ษาด้วยยาหรือการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ไม่สามารถรักษาควบคุมโรคกรดไหลย้อนได้