กระดานสุขภาพ

สอบถามเกีายวกับดวงตาค่ะ
Anonymous

3 พฤษภาคม 2560 10:00:00 #1

อยากทราบถึงบริเวณที่วงกลมไว้นะคะ ว่ามีชื่อเรียกว่าอะไร และ ทำหน้าที่อะไรบ้างนะคะ ถ้าเกิดอีกตาอีกข้างในบริเวณนี้มีขนาดใหญ่กว่าและแดงกว่า ถือว่า ผิดปกติไหมคะ

http://haamor.com/media/images/webboardpics/78e94-36238-1.jpg

http://haamor.com/media/images/webboardpics/78e94-36238-2.jpg

อายุ: 17 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 97 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 33.56 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

15 พฤษภาคม 2560 06:20:37 #2

ในบริเวณที่วงกลมไว้ที่หัวตานั้น มีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ plica semilunaris และ lacrimal caruncle ค่ะ โดยแต่ละอย่างมีหน้าที่ดังนี้ค่ะ

- plica semilunaris คือส่วนหนึ่งของเยื่อบุตาค่ะ มีหน้าที่ช่วยในการกลอกตา ช่วยการถ่ายเทน้ำตา ซึ่งหากตาเราไม่มีส่วนนี้ จะทำให้กลอกตายากค่ะ

- lacrimal caruncle เป็นส่วนที่เป็นสีชมพู เล็กๆ บริเวณด้านในของหัวตา ในส่วนนี้เป็นส่วนประกอบของผิวหนังที่มีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน ขน และเนื้อเยื่อของต่อมน้ำตาร่วมด้วย

หากบริเวณนี้มีการบวม แดง มีขนาดใหญ่กว่าปกติ อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

- เกิดจากภูมิแพ้ ทำให้มีอาการคันร่วมด้วย โดยโรคภูมิแพ้ที่ตานั้น มีหลายปัจจัย อย่างแรกต้องหาสาเหตุของภูมิแพ้ที่ตาว่าเกิดจากการแพ้สิ่งใด เช่น แพ้ยาบางชนิด แพ้สารกันเสียที่อยู่ในยาหยอดตา แพ้เกสรดอกไม้ แพ้เครื่องสำอางหรือสารเคมีบางชนิด แพ้ไรฝุ่นหรือรังแคสัตว์ เป็นต้น หากสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ อาการภูมิแพ้ก็จะหายค่ะ แต่หากสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้อีกก็จะทำให้มีอาการภูมิแพ้เกิดขึ้นมาใหม่ค่ะ ดังนั้นโดยส่วนมากโรคภูมิแพ้ที่ตาจึงมักเป็นโรคเรื้อรัง หากมีการสัมผัสกับสิ่งที่แพ้อีกก็จะมีอาการขึ้นมาใหม่ ในบางครั้งโรคภูมิแพ้ที่ตาบางรายยังมีอาการมากในบางฤดูกาล เช่น มีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูฝนหรือฤดูใบไม้ผลิ อาการดีขึ้นในฤดูหนาว บางรายมีอาการตลอดปีค่ะ

การรักษาโรคภูมิแพ้ที่ตานั้นดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้แพ้ เช่น หากแพ้ไรฝุ่นหรือรังแคสัตว์ อาจทำความสะอาดพรม หรือที่นอน และการให้แว่นอาจช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้มาสัมผัสกับตาได้ค่ะ ส่วนการใช้ยานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคค่ะ หากมีอาการไม่มาก การใช้น้ำตาเทียมร่วมกับการประคบเย็นก็จะทำให้อาการดีขึ้น หากมีอาการมากขึ้นอาจใช้ยาหยอดตาต้านการอักเสบ หรือยาหยอดตาที่ทำให้มีการหดตัวของเส้นเลือดร่วมด้วยก็จะทำให้อาการตาแดงลดลง แต่หากมีอาการมากใช้ยาหยอดตาแล้วไม่ดีขึ้นอาจใช้การกินเพื่อต้านการอักเสบร่วมด้วยค่ะ แต่ยากินมักมีอาการข้างเคียง คือ ทำให้เกิดตาแห้งค่ะ

- การอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อ เป็นไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น บางรายมีลักษณะเป็นถุงน้ำที่บริเวณนี้ด้วย โดยคนที่มีการติดเชื้อบริเวณนี้อาจมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน การหยอดตาที่มีสารสเตียรอยด์ เป็นต้น

-เนื้องอกที่เนื้อเยื่อบริเวณนี้ ซึ่งการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกชนิดใดนั้น จำเป็นต้องมีการตัดเนื้อเยื่อ แล้วส่งชิ้นเนื้อตรวจค่ะ

-โรคทางร่างกายที่มีอาการแสดงที่ตาร่วมด้วย เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism), เนื้องอกของเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoma), เนื้องอกชนิด neurofibroma เป็นต้น

ซึ่งโดยทั่วไปลักษณะผิดปกติที่บริเวณนี้มักไม่มีผลต่อการมองเห็นค่ะ และมักไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ส่วนน้อยก็เป็นโรคที่ร้ายแรงได้ เช่น เนื้องอก โรคการอักเสบ เช่น Wegener’s granulomatosis ได้ค่ะ ดังนั้นจึงควรตรวจเพิ่มเติมโดยจักษุแพทย์นะคะ