กระดานสุขภาพ

เคืองตา
Anonymous

30 ธันวาคม 2559 02:31:49 #1

ผมมีอาการเคืองตาตอนเช้านิสัยคือจ้องคอมบ่อยผมควรรักษาไงหรอครับ

อายุ: 20 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 47 กก. ส่วนสูง: 164ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.47 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

7 มกราคม 2560 12:11:26 #2

สวัสดีค่ะ อาการเคืองตานั้นมีหลายสาเหตุค่ะ แต่หากเป็นมากตอนเช้า ตอนเย็นดีขึ้น หรือมีการกระพริบตาหรือหลับตาสักพักอาการเคืองตาดีขึ้นมักเกิดจากอาการตาแห้งค่ะ โดยการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ก็กระตุ้นทำให้เกิดอาการมากขึ้นได้ค่ะ โดยอาการตาแห้งนั้นแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิดค่ะ แต่สามารถเป็นร่วมกันทั้งสองชนิดได้นะคะ คือ เกิดจากการสร้างน้ำตาไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการมีต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) ค่ะ หากอาการเป็นมากช่วงเช้า โดยอาการมีตั้งแต่แสบร้อนที่ตา รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา มีอาการแดงที่เปลือกตาหรือเยื่อบุตาได้ มีอาการตามัวหรือเคืองตา มักเกิดจากการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการมีต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) ได้ค่ะ ซึ่งโดยปกติน้ำตาของเราจะแบ่งเป็นชั้นของเยื่อเมือกที่ทำหน้าที่ทำให้น้ำตามีการกระจายตัวได้ทั่วทั้งตา ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตาในส่วนชั้นที่อยู่ในสุด ต่อมาเป็นส่วนของน้ำตาที่เป็นน้ำเป็นส่วนประกอบใหญ่สุดของน้ำตานั้นเอง และส่วนที่อยู่นอกสุดนั้นเป็นน้ำตาที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ ซึ่งผลิตโดยต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา (Meibomian gland) นั่นเอง ดังนั้นหากต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) ก็จะทำให้ชั้นของน้ำตาในชั้นนี้บกพร่อง ทำให้น้ำตามีการระเหยเร็ว ทำให้เกิดอาการตาแห้งขึ้น หากต้องการการตรวจเพื่อยืนยันภาวะนี้ ทำได้โดยการตรวจค่าการระเหยของน้ำตา (tear break up time) และการตรวจต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา (Meibomian gland) โดยตรวจลักษณะของต่อมว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ตรวจสารคัดหลั่งของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา (Meibomian gland)ว่ามีลักษณะอย่างไร รวมทั้งการตรวจลักษณะของน้ำตา หากพบน้ำตามีลักษณะเป็นฟอง โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาล่าง ก็อาจบ่งบอกถึงภาวะตาแห้งที่เกิดจากการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติได้ โดยการตรวจเพื่อยืนยันภาวะนี้นั้นจำเป็นต้องทำโดยจักษุแพทย์ค่ะ รวมไปถึงหากผู้ป่วยมีภาวะตาแห้งมากๆ ก็อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกได้ รวมถึงมีการติดเชื้อที่กระจกตาได้ง่ายกว่าคนปกติค่ะ

ในเรื่องการรักษานั้น จำเป็นต้องดูตามความรุนแรงของโรคว่าอยู่ในขั้นไหนค่ะ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการทำงานโดยจอคอมพิวเตอร์นั้นกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เนื่องจากขณะที่เราจ้องจอคอมพิวเตอร์จะทำให้เรามีการกระพริบตาลดลง ทำให้น้ำตามีการระเหยมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการพักสายตาเป็นระยะๆ ขณะทำงานคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นทำงาน 20 นาที แล้วหลับตาสักครู่ ก็จะช่วยได้ค่ะ รวมทั้งการปรับความสว่างของจอไม่ให้มีความสว่างมากเกินไปก็จะช่วยได้เช่นกันค่ะ รวมถึงการแก้ไขภาวะต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction)

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลม ซึ่งจะทำให้น้ำตามีการระเหยที่เร็วมากขึ้น เช่น ในห้องแอร์บริเวณที่แอร์เป่าอยู่ หรือพัดลมก็ได้ค่ะ หากอยู่ที่แจ้งและมีลมมาก การใส่แว่นกันแดด และหมวกก็จะช่วยได้ค่ะ

2.การประคบอุ่นและนวดเปลือกตา ทำได้โดยการใช้เจล หรือไข่ต้ม ที่มีความอุ่นประมาณวางไว้หลังมือแล้วทนได้ ประคบเปลือกตาในขณะหลับตา ประมาณ 4 นาที จากนั้นนวดตาโดยเปลือกตาบนให้นวดจากบนลงล่าง เปลือกตาล่างให้นวดจากล่างขึ้นบนค่ะ จากนั้นเช็ดตา อาจใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดตาสำเร็จรูป หรือใช้แชมพูเด็กสูตรที่ไม่ระคายเคืองผสมน้ำ อาจใช้น้ำ 1/2-1 แก้วแล้วผสมแชมพู 1-2 หยด นำสำลีหรือไม้พันสำลีชุบผลิตภัณฑ์เช็ดตาสำเร็จรูป หรือน้ำผสมแชมพู เช็ดเปลือกตาจากหัวตาไปหางตาค่ะ เน้นที่ต่ำแหน่งของต่อมไขมันที่เปลือกตาซึ่งจะอยู่ถัดจากขนตาเข้ามาข้างในเล็กน้อย หากทำได้ลำบากอาจเน้นบริเวณขนตาแทนก็ได้ค่ะ ถ้าเช็ดแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าเราเช็ดในต่ำแหน่งลึกเกินไป อาจไปโดนเยื่อบุตาข้างใน ซึ่งเป็นอันตรายได้ค่ะ ทำวันละ 1-2 ครั้งค่ะ

3.หากมีอาการมากอาจช่วยได้โดยการใช้น้ำตาเทียมค่ะ

4.ในรายที่เป็นมากอาจทำได้โดยการใช้ยากินร่วมด้วย ซึ่งควรให้จักษุแพทย์ตรวจก่อนค่ะ

5.อาหารเสริมจำพวก โอเมกา 3 ก็อาจช่วยได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจน และควรระวังผลข้างเคียงหากมีการรับประทานมากเกินไปด้วยค่ะ

ภาวะอื่นๆที่สามารถทำให้เกิดจากเคืองตาในตอนเช้าได้ เช่น หากมีขี้ตาร่วมด้วย อาจคิดถึงการติดเชื้อที่ตาได้ค่ะ หรืออาการเคืองตาจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ขนตาทิ่มตา ภูมิแพ้ที่ตา เยื่อบุตาอักเสบ ตาขาวอักเสบ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุอีกครั้งโดยจักษุแพทย์ค่ะ