กระดานสุขภาพ

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำ
Luci*****p

28 พฤศจิกายน 2559 02:20:43 #1

ตาขวาเวลามองเหมือนมีอะไรมาบัง เทียบกับตาซ้ายแล้วตาขวามองวัตถุเดียวกันอยู่ไกลกว่าครับ เป็นมา4-5เดือนหาหมออยู่ อยากทราบว่าถ้ายังไม่หายอีกจะมีแนวทางรักษาอย่างไร เลเซออันตรายไหมครับ

อายุ: 42 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 64 กก. ส่วนสูง: 168ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.68 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

9 ธันวาคม 2559 04:41:08 #2

สวัสดีค่ะ จากอาการที่ตาขวามองเห็นวัตถุเหมือนวัตถุอยู่ไกลกว่านั้น น่าจะเกิดจากศูนย์กลางจอประสาทตายังบวมน้ำอยู่ (macular edema) การที่จอประสาทตามีภาวะบวมน้ำนั้น จะทำให้เหมือนคนสายตายาว มองเห็นภาพไกลกว่าเดิม มีขนาดของภาพเล็กลงได้ ตามัวลง เห็นภาพบิดเบี้ยวได้ เห็นสีลดลง ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ เช่น

  1. เบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic macular edema)
  2. หลอดเลือดดำที่จอประสาทตาอุดตัน (central retinal vein occlusion, branch retinal vein occlusion)
  3. ม่านตาอักเสบ โดยเฉพาะการอักเสบของตาส่วนกลาง (pars planitis)
  4. โรคจอประสาทตาเสื่อมบางชนิด (retinitis pigmentosa)
  5. จอประสาทตาบวมน้ำหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา (Irvine-Gass Syndrome) หรือหลังการผ่าตัดตาอื่นๆ เช่น การผ่าตัดจอประสาทตาหลุดลอก, การผ่าตัดน้ำวุ้นตา, การผ่าตัดต้อหิน, การยิงเลเซอร์ (photocoagulation), การจี้เย็น (cryopexy) โดยสามารถถูกกระตุ้นโดยยารักษาต้อหินบางชนิด (prostaglandin analogue)
  6. โรคเส้นเลือดชั้นคอรอยด์ผิดปกติ (choroidal neovascularization, choroidal hemangioma)
  7. สาเหตุจากโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ซึ่งพบได้น้อย (X-linked hereditary retinoschisis, Goldmann-Favre disease)
  8. ไม่ทราบสาเหตุ (central serous chorioretinopathy) มักเกิดในผู้ชาย สุขภาพแข็งแรงดี อายุ ระหว่าง 25-55 ปี อาจมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การได้รับสารสเตียรอยด์, มีความเครียด, เป็นโรคที่ทำให้เกิดสารคอติโซนในร่างกายมาก (hypercortisolism เช่น cushing syndrome), ความดันโลหิตสูง, กรดไหลย้อน, การใช้ยาทางจิตเวชบางชนิด, มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) โดยโรคนี้มักหายเองใน 3-4 เดือน 80-90% การมองเห็นมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนถึง 1 ปี ในบางรายอาจยังมีภาพบิดเบี้ยวเหลืออยู่เล็กน้อย ความคมชัดของภาพลดลง (decrease contrast sensitivity) การมองเห็นสีลดลงเล็กน้อย และ 40-50% เกิดซ้ำได้ โดยการรักษาจะทำการสังเกตอาการก่อน หากไม่ดีขึ้น ยังมีจอภาพบวมน้ำอยู่มากกว่า 3-6 เดือน ก็อาจพิจารณารักษาด้วยการยิงเลเซอร์ร้อน(thermal laser photocoagulation) หรือเลเซอร์เย็น (photodynamic therypy)

โดยการทำเลเซอร์ร้อน(thermal laser photocoagulation)นั้น จะต้องทำการฉีดสีฟลูออเรสซีนเข้าในเส้นเลือดที่แขน (fluorescein angiography) แล้วให้สีผ่านเส้นเลือดไปที่ตา แล้วถ่ายภาพดูที่จอประสาทตาว่ามีเส้นเลือดใดมีความผิดปกติ มีการรั่วของสีผิดปกติที่เส้นเลือดจอตาบริเวณใด ก็ทำการยิงเลเซอร์ตรงบริเวณเส้นเลือดที่มีความผิดปกตินั้น การรักษาโดยวิธีนี้จะสามารถทำให้โรคหายเร็วขึ้น จากนั้นจะทำการตรวจจอประสาทตาอีกครั้งประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการยิงเลเซอร์ชนิดนี้หรือไม่ คือ การเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ที่ชั้นคอรอยด์ (postlaser choroidal neovascularization) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 2 % แต่ถึงแม้ไม่ได้รักษาด้วยการยิงเลเซอร์ดังกล่าวก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ที่ชั้นคอรอยด์ (postlaser choroidal neovascularization) นี้เช่นกัน

การรักษาด้วยเลเซอร์เย็น (Verteporfin photodynamic therypy) ซึ่งจำเป็นต้องทำการฉีดสีฟลูออเรสซีนเข้าในเส้นเลือดที่แขน (fluorescein angiography)แล้วให้สีผ่านเส้นเลือดไปที่ตา แล้วถ่ายภาพดูที่จอประสาทตาว่ามีเส้นเลือดใดมีความผิดปกติ มีการรั่วของสีผิดปกติที่เส้นเลือดจอตาบริเวณใดเช่นเดียวกับการรักษาด้วยเลเซอร์ร้อน(thermal laser photocoagulation) เพื่อหาเส้นเลือดที่มีความผิดปกติเสียก่อน จากนั้นฉีดสารที่ช่วยจับกับเส้นเลือดที่มีความผิดปกตินั้น แล้วจึงทำการยิงเลเซอร์ ซึ่งเลเซอร์ก็จะออกฤทธิ์ที่บริเวณเส้นเลือดที่มีความผิดปกติที่มีสารที่เราฉีดเข้าไปก่อนจับอยู่ ทำให้การยิงเลเซอร์เฉพาะเจาะจงกับเส้นเลือดที่มีความผิดปกติมากกว่า โอกาสยิงเลเซอร์โดนเส้นเลือดปกติน้อยกว่า โดยการรักษาวิธีนี้นั้น ก็ทำให้การรั่วของเส้นเลือดที่มีความผิดปกติหายไป และอาจทำให้การมองเห็นดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคนี้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นร่วมด้วยค่ะ และในกรณีที่เป็นโรคนานไม่หายสักที เกิดโรคซ้ำหลังจากหายไปแล้ว ก็อาจรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนพวก mifepristone, finasteride, spinololactone, eplerenone หรือยารักษาโรคเชื้อรา เช่น ketoconazole หรือยากันชัก เช่น valpoic acid ซึ่งยาเหล่านี้มีกลไลออกฤทธิ์เกี่ยวกับการทำปฎิกิริยากับสารสเตียรอยด์ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคค่ะ แต่ผลการรักษายังมีความหลากหลายอยู่ค่ะ

แต่หากจอภาพบวมน้ำที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ข้างต้น จากข้อ 1-7 ก็รักษาตามสาเหตุนั้น ๆนะคะ ที่ทำให้เกิดจอประสาทตาบวมน้ำ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปแล้วแต่สาเหตุของโรคค่ะ

ขอให้หายเร็วๆ กลับมาเห็นเป็นปกติไว ๆนะคะ

มณฑากร อภิญญาณกุล
จักษุแพทย์