กระดานสุขภาพ

ตอบ 55 คำถามเกี่ยวกับโรคจากการทำงานหนัก
พ*****

12 พฤศจิกายน 2555 10:20:32 #1

ตอบ 55 คำถามเกี่ยวกับโรคจากการทำงานหนัก

อายุ: 0 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 0 กก. ดัชนีมวลกาย : 0.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ. วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย)

12 พฤศจิกายน 2555 10:50:57 #2

Q1: คนที่เป็นโรคโลหิตจางควรรับประทานอาหารจำพวกใดเป็นพิเศษ

A1: อาหารที่มีธาตุเหล็ก กรดโฟลิกและวิตามินบี12 อยู่เยอะตามธรรมชาติ อาทิเช่น เนื้อแดง ไข่ ผักกูด ผักแว่น ดอกโสน เป็นต้น นอกจากนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทาน ชา หรือ กาแฟซึ่งมีสารยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย

 

Q2: หากรับประทานวิตามิน K และธาตุเหล็ก จะมีส่วนช่วยในเรื่องอาการปวดท้องประจำเดือนได้หรือไม่

A2: มีงานวิจัยบางฉบับที่พบว่า วิตามินเคและธาตุเหล็กอาจช่วยยับยั้งหรือลดอาการปวดประจำเดือนได้

 

Q3: การรับประทานวิตามินติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อการทำงานของตับและไตหรือไม่

A3: วิตามินดีมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายนานัปการ แต่หากได้รับในขนาดที่สูงเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจมีภาวะวิตามินดีเป็นพิษได้ ดังนั้น หากต้องการรับประทานวิตามินดีในขนาดที่มากกว่า 400 หน่วยต่อวัน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัย

 

Q4: ผมร่วงควรรับประทานวิตามินเสริมอะไร

A4: วิตามินที่มีส่วนช่วยบำรุงเส้นผม ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินอี และกรดโฟลิก ทั้งนี้ในบุคคลที่มีปัญหาเรื่องซีดควรตรวจดูระดับธาตุเหล็กด้วย เพราะมีส่วนป้องกันไม่ให้ผมร่วง

 

Q5: วิตามินช่วยเรื่องสิวได้หรือไม่

A5: วิตามินมีส่วนช่วยเรื่องสิว โดย ช่วยควบคุมระดับความมันของผิว ความกระจ่างใส และเพิ่มความแข็งแรงของผิว สิวแต่ละประเภทอาจต้องการวิตามินที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดสิวในแต่ละคน

 

Q6: วิตามินบางชนิดช่วยเผาผลาญไขมันได้จริงหรือ

A6: วิตามินหรืออาหารเสริมบางตัวช่วยได้เนื่องจาก ร่างกายของเราจำเป็นต้องมีวิตามินเหล่านี้ในการนำไขมันเข้าไปใช้ผลิตพลังงาน ตามกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย อาทิ เช่น แอล-คาร์นิทีน โคเอนไซฒ์คิว10 วิตามินบี12

 

Q7: ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารจำพวกใดเป็นพิเศษ

A7: ไม่ว่าจะอายุเท่าใด การรับประทานอาหารที่ดีที่สุด คือ รับประทานให้ครบห้าหมู่ อย่างไรก็ดีเมืออายุมากขึ้น ความอยากอาหารมักจะลดลง การย่อยการดูดซึมมักจะมีปัญหา ทำให้การทานวิตามินหรืออาหารเสริมมีบทบาทมากขึ้นสำหรับ ผู้สูงวัย

 

Q8: เด็กผู้หญิงสามารถตัวสูงได้เต็มที่ ก่อนมีประจำเดือนใช่หรือไม่และเพราะอะไร

A8: ความสูงของเด็กๆต้องอาศัย สภาวะโภชนาการที่ดีที่เอื้อให้การเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อเป็นไปได้เต็มที่ การนอนหลับให้เพียงพอ และการออกกำลังกายแบบ Plyometric เช่นการกระโดดเชือกล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมให้เด็กสามารถสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Q9: การให้วิตามินทางสายน้ำเกลือเป็นอันตรายหรือไม่

A9: การให้วิตามินทางสายน้ำเกลือจะช่วยเพิ่มระดับวิตามินในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการรับประทานเนื่องจากความสามารถในการย่อยและการดูดซึมของลำไส้มีจำกัด อย่างไรก็ดีการให้วิตามินแบบนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทยืผู้เชี่ยวชาญค่ะ

 

Q10: รับประทานวิตามินในช่วงเวลาใดได้ผลดีที่สุด

A10: วิตามินจัดว่าเป็นส่วนที่เสริมไปกับอาหารที่เรารับประทาน เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว เราแนะนำให้ทานวิตามินทันทีหลังมื้ออาหารค่ะ

 

Q11: การดื่มนมวันละกี่แก้วจึงจะเพียงพอต่อความต้องการแคลเซียมต่อวัน

A11: ปริมาณแคลเซี่ยมที่เราต้องการในแต่ละวันคือ ประมาณ1000 มิลลิกรัม ดังนั้นหากเราต้องการแคลเซี่ยมจากนมเพียงอย่างเดียว ต้องดื่มนมอย่างน้อยวันละ 3 แก้วค่ะ อย่างไรก็ดีในคนไทยและเอเชียควรจะต้องระวังเรื่องการดื่มนม เนื่องจากเรามีอุบัติการณ์ของคนที่แพ้นม หรือ ขาดเอนไซม์ในการย่อยนมค่อนข้างมากค่ะ

 

Q12: เคยผ่าตัดรังไข่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้ยาฮอร์โมน

A12: หากผ่าตัดรังไข่ออกไปทั้ง 2 ข้าง ร่างกายจะขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างแน่นอนค่ะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของการใช้ฮอร์โมนทดแทน

 

Q13: การรับประทานทานยาคุมเพื่อรักษาสิวเป็นเวลานานเป็นอันตรายหรือไม่

A13: การรับประทานยาคุมเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่ได้รับประทานค่ะ

 

Q14: เมื่ออายุย่างเข้าสู่ 40 ปี (วัยทอง) จำเป็นต้องรับการตรวจฮอร์โมนหรือไม่

A14: เราควรตรวจดูระดับฮอร์โมนตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยทองค่ะ เพื่อที่เราจะได้เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และยังช่วยลดอาการต่างๆจากภาวะวัยทองได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

 

Q15: การใช้ยาฮอร์โมนเป็นเวลานานเป็นอันตรายหรือไม่

A15: การใช้ฮอร์โมนทดแทน หากมีการใช้อย่างสมดุล และอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าอันตรายค่ะ อย่างไรก็ตามควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

 

Q16: อาหารจำพวกใดสามารถรับประทานแทนยาฮอร์โมนเพื่อช่วยเรื่องอาการวัยหมดประจำเดือน

A16: อาหารจำพวกเต้าหู้และถั่วเหลืองค่ะ เนื่องจากมีสารที่เป็นฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติ (Phytoestrogen)

 

Q17: อาการหงุดหงิดง่ายของคนวัยทองสามารถรักษาได้อย่างไร

A17: หากมีความเข้าใจ มีการปรับระดับฮอร์โมนให้สมดุล อาการหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับจะดีขึ้นอย่างมากค่ะ

 

Q18: กระเทียม ช่วยเรื่องฮอร์โมนได้หรือไม่

A18: มีส่วนช่วยได้บ้างเนื่องจาก กระเทียมมีธาตุสังกะสีซึ่งมีส่วนช่วยการผลิตฮอรืโมนเพศในร่างกาย

 

Q19: ผู้ชายที่ทำหมันต้องรับประทานฮอร์โมนหรือไม่

A19: การทำหมันไม่มีผลต่อการผลิตฮอร์โมนเพศค่ะ

 

Q20: Growth Hormone คืออะไร

A20: คือ ฮอร์โมนที่พบมากในช่วงที่เรายังเป็นวัยรุ่น เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เราสูงโดยการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและกระดูก ดังนั้นเมื่อเราหยุดสูงฮอร์โมนตัวนี้ก็มีระดับลดลงเรื่อยๆตั้งแต่อายุ 20 ปี และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความชราของร่างกาย

 

Q21: วิตามินช่วยเรื่องฮอร์โมนถดถอยได้หรือไม

A21: มีส่วนช่วยได้ เนื่องจากฮอร์โมนทุกตัวในร่างกายล้วนมีต้นกำเนิดมาจากอาหารที่เรารับประทานค่ะ

 

Q22: อะไรที่ส่งผลต่อการนอนหลับ

A22: ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการนอนหลับมีสามอย่าง ได้แก่ แสงอาทิตย์ การออกกำลังกาย (Physical Activities) และ เมลาโทนิน

 

Q23: ทำอย่างไรให้นอนหลับสนิทได้ตลอดคืน

A23: เพื่อให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพเวลานอนห้องต้องปิดไฟมืด ช่วงระหว่างวันต้องมีการเดินเหินไม่ได้อยู่นิ่งนั่งโต๊ะตลอดวัน และต้องมีระดับเมลาโทนินหลั่งออกมาเพียงพอ และที่สำคัญต้องมีการบริหารจัดการความเครียด

 

Q24: แน่ใจแล้วหรือที่ปฏิเสธว่าตัวเองไม่เครียด

A24: เราสามารถทดสอบได้ว่าเราเครียดหรือไม่ มีการตอบสนองต่อความเครียดอย่างไร โดยการตรวจสอบง่ายๆที่เราหาได้เช่น การตอบแบบสอบถาม หรือการทดสอบการตอบสนองต่อความเย็นที่เราเรียกว่า Cold Reactor test เป็นการทดสอบดูปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายเมื่อเกิดความเครียด โดยใช้ความเย็นเป็นตัวกระตุ้น

 

Q25: การนอนกลางวันช่วยลดความเครียดได้หรือไม่

A25: การได้งีบสักพักในช่วงบ่าย 2 ถึงบ่าย3 จะช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนได้มีประสิทธิภาพเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานต่อในช่วงบ่ายและเย็น ซึ่งจะส่งผลให้เราจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้นค่ะ

 

Q26: อาหารจำพวกใดช่วยเรื่องความเครียด

A26: อาหารที่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย มีธาตุแมกนีเซี่ยมสูงเช่น อัลมอนด์

 

Q27: ท่าในการนอนมีผลต่อการนอนหลับอย่างไร

A27: คนที่มีปัญหาการนอนกรน หรือน้ำหนักเกินการนอนตะแคงจะทำให้นอนหลับได้ดีกว่านอนหงายเนื่องจากออกซิเจนเข้าปอดได้เต็มที่

 

Q28: การนอนมากเกินไปทำให้ปวดศีรษะใช่หรือไม่

A28: ใช่ค่ะ การนอนมากหรือน้อยเกินไป มีผลต่อการเสียสมดุลยืของระบบสารสื่อประสาทและฮอร์โมน

 

Q29: ยานอนหลับจำเป็นหรือไม่

A29: ยานอนหลับเป้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากเราเข้าใจสาเหตุของการนอนไม่หลับ ไม่ว่าจะเป้นเรื่องเครียด ระดับสารเคมี ระดับฮอร์โมนที่เสียสมดุล เมื่อเราปรับแล้ว คุณภาพชีวิต และการนอนหลับจะดีขึ้นอย่างมากโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับค่ะ

 

Q30: การดื่มไวน์หลังอาหารค่ำช่วยให้นอนหลับสบายได้จริงหรือ

A30: ไม่แนะนำ เนื่องจากแอลกอฮอล์ในไวน์อาจช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้นจริง แต่การนอนหลับจะไม่ลึกเต็มที่ทำให้กระบวนการสร้างฮอร์โมนต่างๆ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอไม่มีประสิทธิภาพค่ะ

 

Q31: ความเครียดทำให้ปวดหัวไมเกร็นจริงหรือ

A31: ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการปวดไมเกรน

 

Q32: การฝังเข็มช่วยผ่อนคลายความเครียดได้จริงหรือ

A32: มีส่วนช่วยได้ เพราะการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

 

Q33: การทำ detox ช่วยลดความเครียดได้หรือไม่

A33: การช่วยร่างกายขจัดสารพิษช่วยให้เราสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ทำให้เราจัดการกับความเครียดได้มีประสิทธิภาพค่ะ

 

Q34: ความเครียดมีผลต่อจอประสาทตาหรือไม่

A34: ความเครียดมีผลในการเพิ่มสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ทำให้เส้นเลือดหดตัว ดังนั้นหากมีปัญหาที่จอประสาทตาอยู่เดิม ความเครียดย่อมมีผลทำให้อาการแย่ลงได้ค่ะ

 

Q35: ความเครียดส่งผลต่อเด็กในครรภ์จริงหรือ

A35: เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายเราจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งจะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เส้นเลือดหดตัว หัวใจเต้นเร้วและแรงขึ้น ดังนั้น ขณะที่ตั้งครรภ์เราควรทำในสิ่งที่ชอบ ผ่อนคลาย และดูแลตัวเองให้มีความสุข อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีค่ะ

 

Q36: Detox ลดน้ำหนักได้จริงหรือ

A36: การช่วยร่างกายชะล้างสารพิษ ทำให้ระบบการเผาลาญ ฮอร์โมน และเอนไซม์ต่างๆในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

 

Q37: ควรออกกำลังกายวันละกี่ชั่วโมง

A37: ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ค่ะ โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 20กว่านาทีก็เพียงพอ

 

Q38: การออกกำลังกายหนักมากเกินไปก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งในร่างกายจริงหรือไม่

A38: การออกกำลังกายหนักมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีการผลิตสารอนุมูลอิสระออกมามากขึ้น หากร่างกายกำจัดไม่หมด สารเหล่านี้ก็ย่อมไปทำลายส่วนอื่นๆของร่างกายรวมทั้งทำร้ายรหัสพันธุกรรมของเรา ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องเป็นมะเร็งในที่สุด ดังนั้นออกกำลังกายแต่พอดีก็พอค่ะ

 

Q39: การรับประทานไข่แดงดิบจะช่วยเสริมพลังในการออกกำลังกายจริงหรือ

A39: ในไข่แดงมีสารอาหารที่ดีอยู่มากมาย จึงไม่แปลกที่หลายคนเชื่อว่ารับประทานแล้วจะเพิ่มพลัง แต่เราสามารถรับประทานในรูปแบบของไข่ต้มหรือไข่ลวกก็ยังได้สารอาหารเหล่านั้นค่ะ

 

Q40: การซิทอัพเป็นประจำแล้วหยุดทำไปสักระยะ จะทำให้หน้าท้องหย่อนคล้อยกว่าเดิมจริงหรือ

A40: ความรู้สึกว่าหย่อนคล้อยเกิดเนื่องจากกล้ามเนื้อที่เคยแข็งแรง ฟีบลง ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

 

Q41: ออกกำลังกายอย่างไรให้ร่างกายสมส่วน

A41: การออกกำลังกาย ก็ต้องดูให้เหมาะกับแต่ละบุคคลค่ะ แต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน ระดับสุขภาพก็ต่างกัน ดังนั้นรูปแบบการออกกำลังกายก็ต่างกันค่ะ อย่างไรก็ดีการออกกำลังกายที่ดีควรประกอบด้วย 3 อย่างคือ

  1. การออกแบบ cardio หรือการออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยมีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องจนได้อัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพพื้นฐาน
  2. การเพิ่มความยืดหยุ่น และ
  3. การเสริมสร้างกล้ามเนื้อค่ะ

 

Q42: การออกกำลังกายแบบไหนไม่เป็นผลดี

A42: การออกกำลังกายที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายและเพิ่มโอกาสให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น เช่น พวกที่ชอบออกหนักๆเฉพาะวันหยุด พวกที่ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง

 

Q43: การออกกำลังกายช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้หรือไม่

A43: การออกกำลังกายสม่ำเสมอมีส่วยช่วยลดอาการปวดประจำเดือนค่ะ

 

Q44: ควรรับประทานอาหารจำพวกใดหลังออกกำลังกาย

A44: วิตามินที่ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ และโปรตีนเพื่อช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ หรือ กล้ามเนื้อที่เราออกกำลังกายไป

 

Q45: คนเป็นหอบหืดและภูมิแพ้ออกกำลังกายได้หรือไม่

A45: ออกได้ค่ะ แต่ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน การออกกำลังกายมีส่วนช่วยให้โรคภูมิแพ้และหอบหืดดีขึ้น

 

Q46: อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงต้องออกกำลังกายอย่างไร

A46: หากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาจากมวลกล้ามเนื้อที่น้อย เราต้องเน้นการออกกำลังกายแบบเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อค่ะ

 

Q47: การออกกำลังกายมากเกินไปยิ่งทำให้อ้วนจริงหรือ

A47: ใช่ค่ะ การออกกำลังกายมากเกินไปทำให้ร่างกายมีการผลิตสารอนุมูลอิสระที่เป็นพิษต่อร่างกายมาก และทำให้ระดับฮอร์โมนเสียสมดุล ออกแล้วน้ำหนักอาจจะไม่ลดหรือทำให้น้ำหนักยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

Q48: ชาเขียวช่วยลดหน้าท้องได้จริงหรือ

A48: ในชาเขียวมีสารที่ช่วยเร่งการเผาผลาญไขมัน และมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ค่ะ

 

Q49: การตรวจยีนส์ (รหัสพันธุกรรม) สามารถหาสาเหตุความอ้วนได้จริงหรือ

A49: สาเหตุของโรคอ้วนมีหลายปัจจัย ความเสี่ยงจากพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ควรพูดคุย ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจตรวจ เพื่อที่จะได้ประโยชน์เต็มที่และตรงกับความต้องการ

 

Q50: กาแฟช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

A50: กาแฟมีสารคาเฟอีน ที่ช่วยเพิ่มความอึดขณะออกำลังกายและช่วยเผาผลาญไขมัน แต่หากดื่มมากเกินไปกาเฟอีนก็มีผลเสียเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการนอนหลับ หรือโรคกระดูกพรุน

 

Q51: งดอาหารเย็นช่วยให้น้ำหนักลงได้จริงหรือ

A51: การอดอาหารเป็นการลดแคลอรี่อย่างหนึ่งจึงมีผลช่วยให้ลดน้ำหนักได้จากการควบคุมแคลอรี่ค่ะ

 

Q52: หาวิธีขจัดเซลลูไลฟ์รอบเอวหรือที่เรียกกันว่า “ห่วงยาง” แบบไม่ต้องออกกำลังกายได้อย่างไร

A52: การใช้เครื่องมือบางอย่างอาจช่วยขจัดปัญหาห่วงยางเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความเย็นไปฆ่าเซลล์ไขมัน หรือการใช้ความร้อนเพื่อช่วยให้เซลลูไลต์แตกตัว ทั้งนี้แพทย์จะช่วยเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละคนค่ะ

 

Q53: เบียร์ทำให้น้ำหนักเพิ่มจริงหรือ

A53: เบียร์มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อยกว่าเครื่องดื่มมึนเมาชนิดอื่น ทำให้คนดื่มมักจะดื่มเป็นปริมาณมากกว่าจะรู้สึกตัว นอกจากนั้นในเบียร์แต่ละแก้วประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเท่านั้น ยิ่งดื่มมากก็เหมือนรับประทานแป้งมาก ทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ง่าย

 

Q54: อยากลดต้นขาทำอย่างไร

A54: ต้องดูที่สาเหตุ ว่ามาจากฮอร์โมน ไขมัน หรือกล้ามเนื้อ แล้วมาแก้ไขที่สาเหตุค่ะ อาจจะเป็นการใช้ยา ออกกำลังกาย หรือใช้เครื่องมือช่วย

 

Q55: กินปลา ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

A55: ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ประกอบด้วยไขมันค่อนข้างน้อย ดังนั้นจึงปลอดภัยกว่าหากต้องการควบคุมระดับไขมันในเลือด อย่างไรก็ดีการลดน้ำหนักให้ได้ผลต้องมาจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมต่อการเผาผลาญในร่างกายของเรา การออกกำลังกาย และระดับฮอร์โมนที่สมดุลค่ะ