กระดานสุขภาพ

ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้น ครั้งที่ 2
Anonymous

12 มิถุนายน 2563 16:11:38 #1

ป่วยเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นระดับเอว ตรวจ mri ครั้งแรก พบว่า เป็นที่ระดับ L5S1 และ L4L5 คุณหมอบอกว่า ระดับ L5S1 จะหนักกว่า จนมีอาการปวด และขาขามากๆ เลยเข้าผ่าตัดไป เมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังผ่าตัด อาการปวดหายไป เหลือแต่อาการชาขา ที่ยังเป็นจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากช่วงนี้ เริ่มมีอาการปวดเอว และ ชาขาทั้ง 2 ข้างมากขึ้น เลยไปหาหมออีกท่าน และได้ส่งทำ mri อีกรอบ ผลออกว่า ระดับ L4L5 ปลิ้นออกมาระดับกลาง คุณหมอบอกว่าถ้าจะผ่าตัดออกก็ได้ อาการอาจจะดีขึ้น ดิฉันค่อนข้างกังวลมากว่าการผ่าตัดหลัง 2 ครั้งจะมีอันตรายหรือไม่ มีความเสี่ยงกับความพิการมากน้อยแค่ไหนคะ และทำไมคุณหมอท่านแรก ถึงไม่ผ่าให้ไปเลย 2 ระดับในครั้งแรก ในเมื่อผล mri ก็แสดงว่า มีปัญหา 2 ระดับ ขอบคุณมากค่ะ (กังวลมากเลยค่ะ)
อายุ: 45 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.04 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศาสตราจารย์ นพ.กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

16 มิถุนายน 2563 10:30:31 #2

มีคำถามที่ต้องถามก่อนดังนี้

  • 1. อาการปวดเอวและชาขา 2 ข้าง ที่มีในช่วงหลัง เกิดขึ้นทันที หรือค่อยเป็น ค่อยไป และมีอาการมานานเท่าใด
  • ถ้าเกิดขึ้นทันทีหลังยกของหนัก หรือได้รับบาดเจ็บ อาจเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น แต่ถ้าค่อยเป็นค่อยไป อาจเป็นกระดูกทับเส้น (ช่องกระดูกสันหลังตีบ)
  • 2. อาการชา เป็นที่ง่ามนิ้วหัวแม่เท้า (หลังเท้า) หรือบริเวณนิ้วก้อย (ฝ่าเท้า)
  • ถ้าเป็นที่ง่ามนิ้วหัวแม่เท้า พยาธิสภาพ จะอยู่ที่กระดูกสันหลังระดับ 4-5 แต่ถ้าชาที่นิ้วก้อยหรือฝ่าเท้า พยาธิสภาพ จะอยู่ที่กระดูกสันหลังระดับ 5-1
  • 3. เป็นอาการปวดหลังตอนที่ก้มและเงย เอี้ยวตัว หรือเป็นอาการปวดก้นร้าวลงขา
  • อาการปวดหลัง ควรจะต้องมีอาการปวดขณะก้ม เงย เอี้ยวตัวซ้ายขวา ซึ่งพยาธิสภาพ จะอยู่ที่ตัวโครงสร้างกระดูกสันหลัง หรือกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง
  • แต่ถ้าอาการปวดก้น ร้าวลงขา พยาธิสภาพ จะอยู่ที่รากประสาทไขสันหลัง
  • 4. อาการปวดก้นร้าวลงขา เป็นหลังจากนั่งเป็นเวลานานๆ หรือเป็นในขณะที่เดินหรือยืนนานๆ เมื่อนั่งพัก อาการจะดีขึ้น หรือหายไป
  • ถ้ามีอาการหลังจากนั่งเป็นเวลานานๆ พยาธิสภาพ น่าจะเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น
  • แต่ถ้ามีอาการเวลายืนหรือเดินนานๆ เมื่อนั่งพัก อาการดีขึ้น พอยืนหรือเดินนานๆใหม่ อาการจะเป็นขึ้นอีก พยาธิสภาพ น่าจะเกิดจากช่องกระดูกสันหลังตีบ
  • 5. อาการที่เป็นอยู่ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มากหรือน้อยเพียงใด
  • คำถามนี้ จะเป็นคำตอบว่า คุณควรจะต้องผ่าตัดหรือไม่
  • ถ้าคุณยังสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ได้มากกว่า 60-70 % ขึ้นไป ผมคิดว่ายังไม่ควรผ่าตัด
  • ถ้าอาการทำให้คุณทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยกว่า 50% การพิจารณาผ่าตัด ยังขึ้นกับคำถามที่ 6
  • 6. การกระดกข้อเท้า เหยียด นิ้วหัวแม่เท้า และงุ้มนิ้วหัวแม่เท้า ทำได้ดีเท่ากันทั้ง 2 ข้าง หรือไม่
  • ถ้าคุณมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระดกข้อเท้า ทดสอบโดยกระดกข้อเท้าขึ้น และใช้มือพยายามดันข้อเท้าลง ปกติ จะดันไม่ลง แต่ถ้าดันลงได้ แสดงว่าพยาธิสภาพ อยู่ที่ L4
  • ถ้าคุณมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเหยียดนิ้วหัวแม่เท้า ทดสอบโดย กระดกนิ้วเท้าขึ้น แล้วใช้นิ้วมือดันนิ้วหัวแม่เท้าลง ปกติ จะดันไม่ลง แต่ถ้าดันลงได้ แสดงว่าพยาธิสภาพ อยู่ที่ L5
  • ถ้าคุณมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้องุ้มนิ้วหัวแม่เท้า ทดสอบโดย งุ้มนิ้วเท้าลง แล้วใช้นิ้วมืองัดนิ้วหัวแม่เท้าขึ้น ปกติ จะงัดไม่ลง แต่ถ้างัดขึ้นได้ แสดงว่าพยาธิสภาพ อยู่ที่ S1
  • โดยสรุปคือ คุณอาจจำเป็นจะต้องผ่าตัด ต่อเมื่อ
  • 1. อาการที่เป็นอยู่ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และ
  • 2. มีอาการอ่นแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
  • อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดครั้งใหม่ จะยากกว่าการผ่าตัดครั้งแรก เนื่องจากเกิดพังผืดจากการผ่าตัดครั้งแรก อาจส่งผลให้ผลของการผ่าตัดครั้งที่ 2 ไม่ประสบผลเท่าที่คาดหวัง
  • ผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัด คุณตัดสินใจเอง อย่าให้หมอตัดสินใจครับ

กิตติ

Anonymous

20 มิถุนายน 2563 15:11:43 #3

ขอบพระคุณ คุณหมอมากๆ ค่ะ ที่เสียสละเวลามาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กับคนไข้ ได้ละเอียดมากๆ ค่ะ