กระดานสุขภาพ

ข้อเท้าหลวม
Masa*****9

15 กันยายน 2559 08:05:51 #1

file:///C:/Users/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/Desktop/page.jpgผมข้อเท้าพลิกมาประมาณ 1 ปี 8 เดือน  จากการเล่นกีฬาฟุตบอล อาการปวดเรื้อรังจนถึงวันนี้ และก็รู้สึกว่าจะปวดขึ้น

เรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจไปพบแพทย์ ท่านแนะนำว่า ต้องมีการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็น "ข้างด้านนอก"

วิธีที่ 1 ผ่าตัดเย็บซ่อม ตรงที่ขาด (แต่มีโอกาสพลิกเหมือนเดิม)

วิธีที่ 2 ผ่าตัดโดยการเอา "เอ็นข้างเข่ามา1เส้น" มาต่อใหม่ (โอกาสหายมีสูง)

ผมอยาก ทราบวิธีที่2 ว่า การเอา "เอ็นข้างเข่า" มาซ่อม มันจะมีผลต่อการออกกำลังกายหรือไม่

และมีผลต่อการเล่นฟุตบอลไหมและในอนาคตจะส่งผลต่อหัวเข่ารึเปล่า  รบกวนคุณหมอช่วยไขข้อสงสัยที่ครับ

                                                                            ด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                                              ผู้ป่วยข้อเท้าหลวม

  

อายุ: 22 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 82 กก. ส่วนสูง: 185ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.96 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ. ฤทธิ์ อภิญญาณกุล

แพทย์ออโธปิดิกส์

19 ตุลาคม 2559 04:02:40 #2

อาการปวดเรื้อรังของข้อเท้าด้านนอก หลังการบาดเจ็บนานเกือบ 2 ปี อาจมีสาเหตุ ดังนี้ครับ

  1. มีการแตกหักของกระดูกตาตุ่มด้านนอก(avulsion fracture) เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเกาะของเอ็นข้อเท้า(Ankle ligament) เมื่อเวลาผ่านไป แต่การหายของการบาดเจ็บดังกล่าว เกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์ หรือ ชิ้นกระดูกดังกล่าวม้วนพับเข้าไปอยู่ระหว่างข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวดแปล้บ เป็น ๆ หาย ๆ ได้
  2. เกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคง(Ankle instability) เนื่องจากการบาดเจ็บดังกล่าว อาจทำให้เอ็นข้อเท้าด้านข้างขาดโดยสมบูรณ์ และเกิดเป็นพังผืดข้อเท้า ทำให้เวลาเดินหรือวิ่ง มีอาการปวดเสียว หรือมีอาการข้อเท้าคลอน เหมือนข้อเท้าจะพลิกตลอดเวลา
  3. มีการบาดเจ็บซ้ำ ๆ (repetitve injury) ของเอ็นข้อเท้าด้านข้าง หลาย ๆ ครั้ง

การดูแลและรักษาตนเอง ในขั้นต้น

  1. แช่เท้าและข้อเท้าในน้ำอุ่นบ่อย ๆ ครั้งละ 10-15 นาที ร่วมกับบริหารพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้า โดยหมุนข้อเท้าทวนเข็มนาฬิกา สลับตามเข็มนาฬิกา
  2. ฝึกความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า โดยเฉพาะเอ็นร้อยหวาย(Achilles tendon) โดยฝึกยืนเขย่งเท้าบ่อย ๆ ค้างนานครั้งละ 10-20 วินาที
  3. ยืดกล้ามเนื้อน่อง(Calf muscle) และกล้ามเนื้อขา(Anterior leg muscle) ทุกครั้งก่อนวิ่งหรือออกกำลังกาย

การผ่าตัดรักษา เพื่อแก้ไขภาวะข้อเท้าหลวม(Ankle instability)

  • วิธีที่ 1 หรือการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นข้อเท้า(ligament reparation surgery) มักจะทำในกรณีที่การบาดเจ็บหรือภาวะเอ็นขาดนั้นเกิดมาระยะเวลาไม่นาน
  • วิธีที่ 2 หรือการผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นข้อเท้า(ligament reconstruction surgery) มักจะทำในกรณีที่การบาดเจ็บหรือภาวะเอ็นขาดนั้นเกิดมาระยะเวลานานพอสมควร โดยการใช้เอ็นเข่า(มักจะเป็น Semitendinosus tendon หรือ Gracilis tendon ซึ่งอยู่บริเวณด้านในเข่า)มาสร้างเป็นเอ็นข้อเท้า ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการใช้งานเข่าในอนาคตครับ เนื่องจากมีเอ็นเข่าอีกหลายเส้นช่วยทำหน้าที่แทนเอ็นเส้นดังกล่าว

ส่วนผลการผ่าตัด การใช้งานข้อเท้าในอนาคต รวมถึงขีดความสามารถในการเล่นกีฬา แนะนำให้คุยกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่จะทำการผ่าตัดรักษาให้ครับ