กระดานสุขภาพ
เกี่ยวกับลูกสะบ้าครับ | |
---|---|
11 ธันวาคม 2555 18:40:27 #1 อยากถามว่าอาการกระดูกลูกสะบ้าสึกสามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันรึเปล่าครับ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตได้ปกติ ลุก นั่ง เดิน ได้ ไม่ได้ออกกำลัง แต่มีอาการปวดเข่าอยู่ หรือว่าเป็นแค่อาการอักเสบธรรมดา หรือกระดูกอ่อนแตกรึเปล่าครับ แล้วอาการนี้รักษาได้รึเปล่าครับ |
|
อายุ: 28 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 72 กก. ส่วนสูง: 174ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.78 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
12 ธันวาคม 2555 16:04:41 #2 ขอตอบคุณ NoBZ ว่าอาการกระดูกสะบ้าสึกเฉียบพลันไม่ค่อยพบนะครับ ส่วนใหญ่จะต้องมีการกระแทกจนทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง มักมีอาการอื่นร่วมด้วยครับ เช่น การบาดเจ็บของเอ็นหัวเข่า เป็นต้น ฟังจากอาการที่เล่ามา มีอาการปวดเข่ารุนแรงจากการวิ่ง แต่ก็เป็นหลังจากการวิ่งมา 2-3 เดือนแล้ว น่าจะต้องดูเรื่องการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่าด้วย เพราะอาการปวดกระดูกสะบ้ารุนแรงทันทีพบน้อยกว่าการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่าทันทีมาก ผมแนะนำว่าให้ไปพบศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ตรวจก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่าใดๆ เป็นปัญหาการบาดเจ็บหรืออักเสบแค่ที่กระดูกสะบ้าเท่านั้น ถ้าเป็นการอักเสบแค่ที่กระดูกสะบ้าแล้ว ควรต้องพักเป็นเวลานานพอสมควรให้อาการอักเสบนี้หายไป ซึ่งอาจต้องใช้ยาลดการอักเสบในกลุ่ม NSAID (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ลดการอักเสบด้วย เมื่อการอักเสบหายไป ควรกลับมาฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกายชนิดที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น การว่ายน้ำก่อนสักช่วงหนึ่ง (1-2 เดือน) เพื่อให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงก่อนจะกลับไปวิ่งครับ |
NoBZ*****Z |
26 ธันวาคม 2555 03:35:57 #3 ขอบคุณคุณหมอมากครับที่มาตอบ คืออยากถามเพิ่มเติมเป็นความรู้ครับ 2. อาการเข่าสึกกับอักเสบจะมีอาการเจ็บเส้นเอ็นร่วมด้วยรึเปล่า 3. ถ้ายังเดินได้ปกติ ไม่เจ็บขณะเดินหรือยืน มีโอกาสเป็นเข่าสึกหรืออักเสบมั๊ย (มีปวดบ้างบางเวลา) 4. อาการเข่าสึกสามารถเกิดกับคนที่เล่นกีฬามานานขนาดไหน อุบัติเหตุแบบไหนและรุนแรงเท่าไรที่ทำให้เข่าสึกได้ |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
26 ธันวาคม 2555 14:52:21 #4 ขอตอบคำถามคุณ NoBZ เรียงตามคำถามทีละข้อเลยนะครับ 1. คำว่าเข่าสึกไม่มีศัพท์แปลตรงๆทางการแพทย์นะครับ โดยส่วนใหญ่แล้วคำว่าสึกจะหมายความถึงการสึกกร่อนของกระดูกอ่อน ซึ่งอาจจะเป็นที่กระดูกต้นขา (femur) กระดูกปลายขา (tibia) หรือกระดูกสะบ้า (patella) ก็ได้ครับ ส่วนเข่าอักเสบก็ไม่มีศัพท์แปลโดยตรงๆทางการแพทย์เช่นกัน ซึ่งความหมายจะหมายถึงมีการอักเสบของเนื้อเยื่อใดๆที่บริเวณหัวเข่าก็ได้ ซึ่งการอักเสบเป็นได้ทั้งกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และกระดูกอ่อน 2. ตามที่ได้ตอบในข้อ 1 เข่าสึกเป็นปัญหาของกระดูกอ่อน ปกติจะไม่มีการอักเสบของเอ็นครับ แต่เข่าอักเสบอาจมีอาการอักเสบของเอ็นได้ หรือเป็นการอักเสบของเนื้อเยื่ออื่นบริเวณเข่าก็ได้ครับ 3. ดูจากอายุและน้ำหนักของคุณ NoBZ แล้วไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเข่าสึกนะครับถ้าไม่มีการบาดเจ็บเข่ารุนแรงมาก่อน ส่วนเข่าอักเสบอย่างที่กล่าวว่าเกิดได้กับเนื้อเยื่อใดๆก็ได้บริเวณหัวเข่า ดังนั้นหากมีการเคลื่อนไหวในท่าที่มีการยืดหัวเข่ามากไปซ้ำๆก็เกิดการอักเสบได้ครับ แต่ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง อาการควรหายได้เองภายในเวลา 2-5 วัน หรือหากอาการปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้นไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็เกิดขึ้นได้จากการล้าของกล้ามเนื้อเช่น มีการวิ่งมากเกินไปครับ 4. ข้อนี้ตอบไม่ได้ครับ เพราะเข่าสึกขึ้นกับปริมาณแรงที่กระทำ และความถี่ที่กระทำ รวมทั้งการที่ไม่มีแรงมากกระทำเลยก็มีความเสี่ยงต่อเข่าสึกได้ครับ เนื่องจากแรงที่มากระทำกับกระดูกอ่อนหัวเข่าปริมาณพอเหมาะที่ไม่รุนแรงนักจะช่วยให้เซลล์กระดูกอ่อนเข่ามีการทำงานที่ดีขึ้น ดังนั้นคำว่านานขนาดไหนจึงไม่สามารถนับเป็นปีๆแบบที่นักกีฬาอาชีพเล่นกีฬามากี่ปีได้ครับ ส่วนเรื่องอุบัติเหตุนั้น หากมีการฉีกขาดของเอ็นข้อเข่าและหมอนรองกระดูกเข่า สามารถทำให้เข่าสึกได้ครับ (บริเวณกระดูกอ่อนของกระดูก femur และ tibia) เพราะจะทำให้การกระจายน้ำหนักลงบนผิวข้อเข่าผิดไปจากปกติทำให้เกิดเข่าสึกบริเวณที่มีการกระจายน้ำหนักมากขึ้นกว่าปกติครับ ส่วนกรณีเข่าสึกของกระดูก patella นั้นหากมีการกระแทกเข้ามาที่เข่าโดยตรงอย่างแรงก็ทำให้มีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนเกิดเข่าสึกได้เหมือนกันแต่บอกยากครับว่าต้องรุนแรงแค่ไหน ขึ้นกับขนาดของแรง ทิศทางของแรง การบาดเจ็บเป็นซ้ำที่เดิมถี่แค่ไหน รวมทั้งมุมเข่าอยู่ในลักษณะใดขณะได้รับการกระแทกครับ |
NoBZ*****Z |
13 มกราคม 2556 15:31:16 #5 ถามต่อจากที่คุณหมอตอบข้อ 3 ครับ (คำถามต่อไปนี้ถ้าเป็นการเสียมารยาทต่อวงการแพทย์ก็ขออภัยนะครับ) เรื่องโรคกระดูกจากที่ผมลองอ่านตามหนังสือหรือหน้าเว็บส่วนใหญ่มักจะบอกว่าถ้าไม่ทำ MRI จะวินิจฉัยได้ยาก อยากทราบว่าแพทย์มีโอกาสวินิจฉัยคลาดเคลื่อนจริงรึเปล่าครับโดยปราศจาก MRI หรือ X-ray ถึงอาศัยประสบการณ์ก็มีโอกาสผิดพลาดรึเปล่าครับ เพราะแม่ผมเคยไปหาหมอแล้ววินิจฉัยผิดจนเกือบพิการครับ |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
15 มกราคม 2556 15:05:24 #6 ตอบคำถามคุณ NoBZ เรื่องอาการบาดเจ็บรุนแรง ถ้าเข่ามีการกระแทกแล้วบาดเจ็บ 2-3 วันนับว่าไม่รุนแรงครับ ปกติการกระแทกสามารถทำให้เนื้อเยื่อบวมอักเสบได้อย่างน้อย 2-3 วันได้ครับ ส่วนใหญ่ที่นับว่ารุนแรงควรต้องมีอาการบวมอักเสบเกิน 7-10 วันขึ้นไป ส่วนกรณีที่คุณ NoBZ วิ่งออกกำลังแล้วมีอาการปวดเข่ารุนแรง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของการวิ่งที่มากเกินไปครับ โดยปกติการวิ่งออกกำลังกายของคนทั่วไปหลังจากหยุดวิ่งไปนานส่วนใหญ่แล้วจะวิ่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร และมีคำแนะนำว่าสามารถเพิ่มระยะทางได้แต่ไม่ควรเกิน 10% ทุก 1-2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับว่ามีการวิ่งที่สม่ำเสมอเท่าใด การวิ่งของคุณ NoBZ ซึ่งเพิ่งกลับมาวิ่งออกกำลังกายไม่นาน ไม่ได้ให้ข้อมูลมาว่าวิ่งสม่ำเสมอหรือไม่และไม่ได้มีการเพิ่มระยะทางค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งวิ่งในระยะทางถึง 10 กิโลเมตร ถือว่าเป็นระยะทางที่มากเกินไป สามารถส่งผลทำให้กล้ามเนื้อล้าในช่วงท้ายการวิ่ง แรงกระแทกที่กล้ามเนื้อควรจะรับไปจากการวิ่งนั้น ก็จะกระจายไปตามส่วนอื่น เช่น ข้อ เอ็น กระดูก กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก เป็นต้น ทำให้เกิดอาการเจ็บได้ และความรุนแรงก็ขึ้นกับอีกหลายปัจจัย เช่น มีการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนการวิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ครับ รองเท้าวิ่งเหมาะสมหรือไม่ อายุการใช้งานรองเท้ามากเกินไปหรือไม่ วิ่งในพื้นที่เรียบหรือขรุขระ แข็งหรือนุ่มมีช่วงพักระหว่างการวิ่ง 10 กิโลเมตรบ้างหรือไม่ เรื่องการบาดเจ็บของคุณ NoBZ เท่าที่ฟังมามีโอกาสเป็นได้สูงพอสมควรครับ ส่วนคำถามเรื่อง MRI และ X-ray ขอตอบแบบเป็นกลางนะครับว่า X-ray จะเห็นแต่กระดูก ดังนั้นจึงไม่สามารถแปลผลได้สำหรับเนื้อเยื่ออื่น เช่น เอ็น หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อน เป็นต้น ส่วน MRI จะดูเนื้อเยื่อได้ทุกชนิด จึงทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ง่ายและถูกต้องมากกว่ามากครับ การวินิจฉัยโรคกระดูกและข้อโดยไม่มี X-ray และ MRI มีโอกาสผิดพลาดมากพอสมควรครับ เนื่องจากการทดสอบการเคลื่อนไหวข้อต่างๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก ในทิศทางต่างๆเพื่อวินิจฉัยส่วนของร่างกายที่บาดเจ็บนั้น มักจะวินิจฉัยได้แค่กรณีที่การบาดเจ็บมีลักษณะที่ชัดเจน และมีการบาดเจ็บตำแหน่งเดียวของร่างกาย ร่วมกับ กล้ามเนื้อในรอบๆบริเวณที่บาดเจ็บนั้นทำงานได้ปกติ หากมีการบาดเจ็บหลายบริเวณหรือหลายส่วน เช่น เอ็นหลายเส้นพร้อมกัน หรือกล้ามเนื้อมีการอักเสบและฉีกขาดด้วย จะทำให้การตรวจร่างกายทำได้ยากและเกิดความผิดพลาดในการแปลผลได้ง่าย เพราะกรณีเหล่านั้นการตรวจร่างกายมักถูกจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้ป่วยด้วยความเจ็บของผู้ป่วยที่ทนไม่ได้และแพทย์ก็อาจจะไม่อยากเคลื่อนไหวส่วนนั้นมากเกินไปเมื่อผู้ป่วยแสดงความเจ็บปวดเพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้ครับ ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันในคนไข้ที่มีเนื้อเยื่ออื่นที่นอกเหนือจากกระดูกที่บาดเจ็บและจะเข้ารับการผ่าตัดจึงมีการทำ MRI เป็นเรื่องปกติทั่วไป เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาก่อนการผ่าตัด ว่าจะต้องผ่าตัดซ่อมแซมส่วนใดบ้าง อย่างไรบ้างครับ |
NoBZ*****Z |
17 มกราคม 2556 16:40:23 #7 ขอบคุณที่สละเวลามาตอบให้ครับ |
NoBZ*****Z