กระดานสุขภาพ

ผมขี่รถล้ม ผมงอเข่าไม่ได้เลย ทามไงดีคับ
Skay*****5

6 พฤศจิกายน 2555 16:13:40 #1

ผมขี่รถล้ม หัวเข่าซ้ายหัก ทำไห้เข่าติดเชื้อ หมอผ่าเอากระดูกเข่า ที่เป็นจานด้านซ้ายออกอ่ะคับ งอเข่าไม่ได้เลย เข่ามัน บิด และโก่งผมควรผ่าตัดหรือทำไงดีคับ

อายุ: 19 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 168ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.72 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

7 พฤศจิกายน 2555 17:26:58 #2

ฟังจากปัญหาของคุณ skay0075555 สรุปได้ว่ามีอุบัติเหตุรถล้ม ส่งผลให้มีการบาดเจ็บหัวเข่า ร่วมกับมีปัญหาเข่าติดเชื้อด้วย แพทย์จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษาด้วยการเอากระดูกสะบ้าออก ปัญหาปัจจุบันของคุณ skay0075555 คืองอเข่าไม่ได้ เข่ามันบิดและโก่ง

ขอกล่าวถึงบทบาทของกระดูกสะบ้าต่อข้อเข่า คือ

  1. ทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นในการเหยียดข้อเข่า จะเหยียดได้สุด ในคนที่ตัดเอากระดูกสะบ้าออกมักจะมีปัญหาในการเหยียดข้อเข่าให้สุดโดยเฉพาะมุมเข่าประมาณ 10 องศาสุดท้าย

  2. ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) หย่อน ทำให้ข้อเข่าเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งปกติได้ง่าย

  3. บริเวณกระดูกสะบ้าจะบังกระดูกอ่อนของกระดูกต้นขา (femur) บางส่วน โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีการกระแทกหรือการล้มแล้วทำให้กระดูกอ่อนบาดเจ็บสูงขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าการเสียกระดูกสะบ้าไปโดยทางทฤษฎีไม่น่าจะมีผลทำให้เกิดการงอเข่าลำบาก หรือเข่าบิดและเข่าโก่งตามที่ว่ามา น่าจะมีการบาดเจ็บอื่นเกิดขึ้นในระหว่างรถล้ม ซึ่งแม้หลังการผ่าตัดรักษาแล้วจึงทำให้มีอาการดังที่คุณ skay0075555 กล่าวมา หากคุณ skay0075555 ต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมการบาดเจ็บจากที่รถล้มทำให้เกิดอาการต่างๆที่กล่าว คุณ skay0075555 ควรจะถามปัญหานี้กับแพทย์ที่ทำการผ่าตัดคุณครับ เพราะสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นการบาดเจ็บมากที่สุดและปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การต้องตัดกระดูกสะบ้าทิ้ง เพราะคุณเห็นว่ากระดูกชิ้นนี้เห็นด้วยตาว่าหายไป แต่ผมเข้าใจว่ายังมีการบาดเจ็บอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการทั้ง 3 ที่คุณกังวลอยู่ในปัจจุบัน

หากจะให้ผมแนะนำเรื่องการรักษา ควรไปปรึกษาแพทย์ท่านเดิมที่ทำการผ่าตัดครั้งก่อนครับ เพราะแพทย์ท่านนั้นจะรู้ว่าเคยมีการบาดเจ็บอะไรบ้าง และมีการผ่าตัดแก้ไขไปอย่างไร ครั้งนี้ควรจะมีการผ่าตัดแก้ไขอย่างไร อย่างไรก็ตามหากแพทย์ท่านดังกล่าวเห็นว่าท่านไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้เนื่องจากต้องใช้เทคนิคในการผ่าตัดที่ซับซ้อน ผมแนะนำว่าคุณควรจะไปปรึกษาศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวกับข้อเข่า ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มักจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียนแพทย์ หรือ โรงพยาบาลศูนย์ เป็นต้น เพราะการผ่าตัดแก้ไขปัญหารูปลักษณะเข่าที่ผิดปกติหลังการผ่าตัดไปแล้วครั้งหนึ่งค่อนข้างจะทำการผ่าตัดยากมากขึ้นจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น แนวของข้อที่เปลี่ยนไป พังผืดที่เกิดจากแผลจาการผ่าตัดครั้งก่อน เป็นต้น จึงต้องการศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดเฉพาะข้อที่มีปัญหานั้นๆในการรักษา

Skay*****5

9 พฤศจิกายน 2555 14:16:44 #3

หมอครับ ถ้าผมจะขอผ่าตัดเปลี่ยน กระข้อเข่าเทียม ผมมีอายุเพียง 20 จะไดไหมครับ

เเล้วโรงพยาบาลอะไรครับ ที่มีหมอเก่งด้านนี้ ขอชื่อด้วยคับ ขอบคุนคับ

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

10 พฤศจิกายน 2555 14:00:36 #4

เนื่องจากคุณ skay0075555 มีปัญหาการบาดเจ็บของหัวเข่าซ้าย จนต้องผ่าตัดกระดูกสะบ้าทิ้งไป เท่าที่ผมทราบถึงเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมปัจจุบัน ไม่สามารถทำได้ในกรณีที่มีการบาดเจ็บตัดกระดูกสะบ้าทิ้งไปแล้ว เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าโดยทั่วไป ข้อเข่าเทียมจะยังคงถูกให้ความมั่นคงด้วย เอ็นด้านข้างในและนอกข้อเข่า (Medial Collateral Ligament และ Lateral Collateral Ligament) รวมทั้งเอ็นไขว้หลัง (Posterior Cruciate Ligament) ร่วมกับกระดูกสะบ้า การที่ตัดกระดูกสะบ้าออก (patellectomy) ทำให้ข้อเข่าเสียความมั่นคงขณะเหยียดขาไปด้านหน้า (extension) ดังนั้นโอกาสที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในกรณีของคุณ skay0075555 เป็นไปได้ยากมากครับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ การฟื้นฟูข้อเข่าให้แข็งแรงก็มีความสำคัญและจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคุณดีขึ้นด้วยครับ ผมแนะนำให้คุณกลับไปหาแพทย์ที่ผ่าตัดคุณก่อนเพื่อให้สอบถามข้อมูลเรื่องส่วนของข้อเข่าของคุณที่เคยได้รับบาดเจ็บ และผลของการผ่าตัดรักษาในปัจจุบัน รวมทั้งขอคำแนะนำให้ด้านการฟื้นฟูข้อเข่า ถ้าแพทย์ท่านนั้นไม่สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้ แพทย์ท่านนั้นก็อาจจะส่งต่อให้คุณไปรักษากับแพทย์ท่านอื่นที่เหมาะสม เช่น แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น

ส่วนเรื่องการให้คำแนะนำชื่อสถานพยาบาลและชื่อแพทย์ในการรักษาทางสื่อนั้น ผมขอไม่ตอบนะครับเพราะดูไม่เหมาะสมในด้านจรรยาบรรณทางการแพทย์ แนะนำให้คุณค้นจะหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ทเพิ่มเติม แนะนำให้ลองหาจากคำว่า ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ผู้เชี่ยวชาญด้านเข่า คุณอาจจะไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ปรึกษาเรื่องการรักษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้นครับ

Skay*****5

12 พฤศจิกายน 2555 15:48:57 #5

หมอครับ ผม ยังมีลูกสะบ้าอยู่ นะ แต่มันจะ เลื่อนออกด้าน ข้าง เมื่อ งอเข่า อ่ะครับ ผมต้อง ทามยังไง ครับ

Sapi*****n

13 พฤศจิกายน 2555 02:25:56 #6

ขอโทษนะคะที่ต้องต่อของคนอื่น เพราะสร้างกระทูใหม่แล้วเมนูส่งไม่มีค่ะ พยายามหลายครั้งแล้ว เลยขอลองวิธีนี้

อายุ ๕๕ เพศหญิง น้ำหนัก ๔๗ สูง ๑๕๖ ซม.

ปวดหลังต่ำกว่าเอวตั้งแต่ ๑๑ ตุลาคม ไปทำกายภาพที่มหิดล ได้ ๑ สัปดาห์ ยอกและปวดลงขา แอ่นและก้มหลังได้น้อยมาก ยืนเดินนาน จะยิ่งปวดขา เขาบอกว่าข้อสลักเพชรอักเสบและกล้ามเนื้ออักเสบต่อมาเขาส่งให้อาจารย์รักษา ต่อ ให้ไป X-ray ผลคือ AP view : no scoliosis, normal spaces of SI joints,normal hip และ lateral view : lordotic curve, normal disk spaces, no posterior spurs, small anterior spurs at L2/3 bodies ตอนนี้ทำกายภาพกับอาจารย์มา ๒ ครั้ง เขาว่าไม่ต้องผ่าตัด หายได้

อยาก ถามผล X-ray ค่ะ และอยากทราบว่ารุนแรงไหม ทำกายภาพหายได้ไหมคะ ที่ไมอยากไปหาหมอ เพราะเคยทานยากระดูกมานานมาก จนมีปัญหากระเพาะ ช่วยอธิบายอาการที่เป็นด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

Admi*****n

13 พฤศจิกายน 2555 04:50:02 #7

admin ได้ย้ายคำถามของคุณ sapin ไปยังกระทู้ใหม่ตามด้านล่างแล้วนะครับ ไม่ทราบว่า "สร้างกระทู้ใหม่แล้วเมนูส่งไม่มี" หมายถึงกดสร้างกระทู้ใหม่แล้วไม่มีปุ่มให้ส่งหรือเปล่าครับ รบกวนช่วยแจ้งรายละเอียด admin จะได้ช่วยเหลือผู้ใช้ท่านอื่นได้ถูกต้องครับ

 

http://haamor.com/webboard/ห้องกระดูกและไขข้อ/1937/

 

ขอบคุณครับ

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

13 พฤศจิกายน 2555 16:09:27 #8

ขอบคุณคุณ skay0075555 ที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้ามาอีกครั้งครับ ผมอ่านข้อมูลของคุณครั้งแรกที่บรรยายมาวันที่ 6 พย 2555 นึกว่ามีการผ่าตัดกระดูกสะบ้าของคุณออกไปแล้ว (ผมเข้าใจผิดจากประโยคที่ว่า หมอผ่าเอากระดูกเข่า ที่เป็นจานด้านซ้ายออกอ่ะคับ)

สรุปว่าคุณ skay0075555 นั้นเคยบาดเจ็บเข่า มีปัญหาเข่าบิด เข่าโก่ง งอเข่าไม่ได้ปกติ เวลางอเข่าแล้วลูกสะบ้าจะเลื่อนข้างไปทางด้านข้างของหัวเข่า

ผมเข้าใจว่าปัญหาเรื่องการงอเข่าไม่ได้ของคุณ skay0075555 นั้นคงไม่ใช่ถึงขนาดงอเข่าไม่ได้ แต่อาจจะงอได้ไม่เท่ากับขาข้างที่ปกติที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ เพราะฟังว่ายังงอเข่าได้ แต่กระดูกสะบ้ามีการเลื่อนออกด้านข้างขณะงอเข่า ในคนที่มีการบาดเจ็บ แม้ว่าจะงอเข่าข้างที่ได้รับบาดเจ็บไม่ได้เท่ากับเข่าข้างที่ปกติ แต่ในกิจรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน การงอข้อเข่าจะอยู่ในช่วง 0-120 องศา ดังนั้นข้อเข่าที่บาดเจ็บถ้าสามารถงอได้ถึง 120 องศาก็เพียงพอกับการทำกิจกรรมเกือบทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ซึ่งกิจกรรมที่ต้องงอเข่ามากที่สุด คือ การยกของ ครับ

ส่วนปัญหาการงอเข่าเรื่องของการที่มีลูกสะบ้าเคลื่อนออกด้านข้างอาจจะเป็นผลจากการบาดเจ็บได้ ส่งผลให้กระดูกสะบ้าเคลื่อนที่ในร่องกระดูกได้ไม่ดีเหมือนก่อนการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เป็นไปได้อีกประการ ก็คือ ปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้ามัดด้านใน (vastus medialis) ถ้าเป็นปัญหานี้สามารถทำการออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดนี้จะช่วยให้กระดูกสะบ้าไม่เคลื่อนที่ออกทางด้านข้างได้ ท่าออกกำลังกายทำตามท่าข้างล่าง เป็นท่า squat แต่ปลายเท้าจะต้องชี้ออกด้านนอก เพื่อที่จะทำให้ใช้กล้ามเนื้อ vastus medialis ทำงานมากขึ้นในขณะยก barbell จะทำให้กล้ามเนื้อ vastus medialis แข็งแรงขึ้นได้เร็ว จะทำให้กระดูกสะบ้าเคลื่อนออกด้านนอกน้อยลงเพราะเอ็นของกล้ามเนื้อ vastus medialis มีทิศทางเฉียงเข้าด้านใน จึงสามารถช่วยดึงให้กระดูกสะบ้าให้เคลื่อนที่เข้าด้านในได้ครับ

 

ท่า squat แบบปลายเท้าชี้ออกด้านนอก

รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://worldfitnessnetwork.com/category/training-tips/page/3/


อย่างไรก็ตามผมขอแนะนำให้กับไปพบแพทย์ที่ผ่าตัดคนเดิมก่อนครับ เพื่อปรึกษาว่าผลของการบาดเจ็บมีผลทำให้กระดูกสะบ้าไม่มั่นคง เคลื่อนที่ออกไปด้านข้างหรือไม่ ควรรักษาปัญหานี้อย่างไร ถ้าปัญหาไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ แต่เป็นปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากหลังการบาดเจ็บมีการใช้งานกล้ามเนื้อต้นขาน้อยเกินไป ก็สามารถใช้การออกกำลังกายตามที่แนะนำได้

หากปัญหาการบาดเจ็บคุณ skay0075555 ยังต้องการการรักษาเพิ่มเติม ผมแนะว่าควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการผ่าตัดก่อน ถ้ายังต้องการการรักษาเพิ่มเติมแพทย์ท่านนั้นก็จะรักษาคุณได้เหมาะสมกว่าแพทย์ท่านอื่นเนื่องจากรู้ข้อมูลการบาดเจ็บของคุณที่เคยเกิดขึ้น หากจำเป็นต้องส่งคุณไปรักษาเพิ่มเติมกับแพทย์ท่านอื่นท่านก็จะให้ข้อมูลที่จำเป็นกับแพทย์ท่านอื่นที่ส่งไปปรึกษา ส่วนเรื่องการเปลี่ยนเข่าเทียม ผมคิดว่าน่าจะยังไม่มีความจำเป็น แต่คุณยังมีกระดูกสะบ้า ในอนาคตหากจำเป็นสามารถผ่าตัดเปลี่ยนเข่าเทียมได้ครับ ส่วนหากจะต้องการไปพบแพทย์ท่านอื่นเพื่อขอความเห็นในการรักษาเพิ่มเติม ก็ให้คุณค้นหาข้อมูลทาง internet ตามที่แนะนำไว้ในคำตอบครั้งที่แล้วครับ

Skay*****5

22 พฤศจิกายน 2555 16:10:34 #9

อายุเท่าไร ครับ ที่จะผ่าตัดเปลี่ยน กระดูก เข่าเทียม  เเละท่าผ่าตัดเปลี่ยนต่างประเทศกับในประเทศไทย แบบไหนจะดีกว่าครับ

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

23 พฤศจิกายน 2555 15:55:24 #10

คำถามของคุณ skay007555 คงจะไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ผมจะขอตอบข้อมูลทั่วไป รวมถึงแนวทางและเหตุผลในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ทราบครับ

โดยทั่วไปการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเพื่อใส่ข้อเข่าเทียมเข้าไปแทนข้อเข่าเดิม (total knee arthroplasty) ของผู้ถูกผ่าตัดมักจะทำการผ่าตัดในผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม (knee osteoarthritis) เพื่อลดอาการปวดของข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำกิจกรรมได้มากขึ้น ซึ่งผลที่สุดทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมามีสมรรถภาพทางกายโดยเฉพาะด้านหัวใจและหลอดเลือดและกล้ามเนื้อที่ดีขึ้น
ในอดีตการผ่าตัดส่วนใหญ่ทำในผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากมีผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมในอายุที่เร็วขึ้นเนื่องจากพบผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนในระดับที่รุนแรงขึ้น ในอายุที่น้อยลง ทำให้พบผู้ป่วยมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมรุนแรงในอายุที่น้อยลง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดในปัจจุบันส่วนมากอายุก็พบว่ามากกว่า 55 ปี

โดยทั่วไป การตัดสินใจผ่าตัดข้อเข่าเทียม ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเรื่องของอายุครับ แต่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดของการผ่าตัดโดยทั่วไป เช่น ความฟิตของผู้ถูกผ่าตัดว่าพร้อมที่จะผ่าตัดหรือไม่ในเรื่องของการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดครับ ดังนั้นผู้ที่มีอายุน้อยก็มีโอกาสที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้สูงกว่า อย่างไรก็ตามการผ่าตัดคงจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เพราะเรื่องข้อเข่าเทียมที่มีการผลิตนั้นแทบจะมีแต่ขนาดสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น

ในกรณีของคุณ skay007555 นั้นหากจะทำการผ่าตัดตั้งแต่อายุน้อย เช่นในขณะนี้ คืออายุ 19 ปี อาจเกิดมีปัญหาในอนาคตที่สำคัญได้ คือ อาจจะต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอีกหลายครั้งในช่วงเวลาที่เหลือในการดำรงชีวิต เพราะในปัจจุบันจากข้อมูลทั่วไปนั้น เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ส่วนมากของผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ข้อเข่าเทียมได้จนวันสุดท้ายของชีวิต โดยเฉลี่ยในปัจจุบัน หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้สูงอายุ อายุของข้อเข่าเทียมมักมีอายุ 15 ปีหรือมากกว่า แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้มีอายุน้อยว่า ข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนจะมีอายุการใช้งานนานสักเท่าใด เพราะผู้ที่มีอายุน้อยย่อมมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่มากและหนักกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่สั้นลง

Knee Society แนะนำว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเข่าแล้ว สามารถมีกิจกรรมเหล่านี้ได้ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน พายเรือที่ไม่หนักมาก การออกกำลังกายกับ weight machine ที่ไม่หนักมาก เป็นต้น ขณะที่กิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกต่อข้อเข่าเทียมที่หนักกว่านี้จะไม่แนะนำให้ทำเพราะอาจทำให้อายุของข้อเข่าเทียมสั้นลง เช่น การวิ่ง บาสเกตบอล ฟุตบอล ยิมนาสติก ยกน้ำหนัก หรือ การเต้นแอโรบิกที่มีแรงกระแทกสูง เป็นต้น ดังนั้นคุณ skay007555 อาจต้องพิจารณาถึงกิจกรรมการออกกำลังกายที่จะทำในอนาคตหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพื่อให้อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมยาวนานขึ้นครับ

ดังนั้นในกรณีของคุณ skay007555 หากจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า คงต้องชั่งน้ำหนักของประโยชน์ว่าจะทำให้คุณ skay007555 ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีมากขึ้นเพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณาโอกาสเสี่ยงที่จะต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซ้ำเนื่องจากการสึกหรอของข้อเข่าเทียมตั้งแต่หลังผ่าตัดว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใดครับ ซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับคำถามนี้อาจจะไม่มีศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูก) คนใดสามารถให้ข้อสรุปในเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอนในขณะนี้ครับ

ส่วนคำถามการผ่าตัดในประเทศหรือต่างประเทศดีต่างกันหรือไม่ ผมขอตอบว่าจริงๆการผ่าตัดจะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยบางอย่างเป็นของตัวผู้รับการผ่าตัด อาจควบคุมไม่ได้ เช่น ขนาดกระดูก ต้องใส่ข้อเข่าเทียมที่ขนาดเหมาะสม ดังนั้นถ้าผู้ป่วยตัวเล็กหรือตัวใหญ่มาก อาจลำบากในการหาข้อเข่าเทียมขนาดที่เหมาะสม ส่วนกรณีคุณ skay007555 ดูตามส่วนสูงและน้ำหนัก ไม่น่ามีปัญหาในข้อนี้ ปัจจัยอีกข้อหนึ่ง คือ ข้อเข่าที่จะทำผ่าตัดข้อเข่าเทียม จะต้องไม่มีการบาดเจ็บในอดีตมากนัก เพราะอาจทำให้การผ่าตัดยากขึ้นและความมั่นคงของข้อเข่าหลังการผ่าตัดไม่ดีเท่าข้อเข่าที่ไม่เคยได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปัญหานี้คุณ skay 007555 อาจจะต้องปรึกษากับศัลยแพทย์ที่จะเป็นผู้ผ่าตัดในอนาคตก่อนถึงผลของการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้นกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งอยู่กับประสบการณ์ของศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัด ถ้าศัลยแพทย์มีประสบการณ์สูง ทำผ่าตัดมามากราย ส่วนใหญ่ผลการผ่าตัดจะได้ผลที่ดี ประการสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อมาช่วยในการผ่าตัด ปัจจุบันการวางตำแหน่งข้อเข่าเทียมให้ใกล้เคียงข้อเข่าเดิม มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า computer assisted navigation ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวางตำแหน่งแนวของข้อเข่าได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าเดิมมากกว่าการผ่าตัดโดยไม่ใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งมีศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ไทย หลายท่านสามารถทำการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีนี้ได้ครับ ซึ่งหลังการผ่าตัดให้ผลในการกระจายน้ำหนักภายในข้อเข่าได้ใกล้เคียงกับเข่าก่อนได้รับการผ่าตัดมากกว่า และผลการผ่าตัดในระยะยาว คนไข้ก็สามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นที่น่าพอใจครับ ดังนั้นผมคิดว่า หากคุณ skay007555 จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทำการผ่าตัดในประเทศไทยก็ได้ครับ ผลไม่ต่างกับการไปผ่าตัดที่ต่างประเทศครับ