กระดานสุขภาพ

ยาฉีดคุมกำเนิด
Anonymous

8 กรกฎาคม 2556 02:39:43 #1

เรียน  ปรึกษาคุณหมอค่ะ

ปกติดจะไปฉีดยาคุมกำเนิดทุกเดือนๆ เดือนละ 1 ครั้ง (ชื่อยา  cyclofem) และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ไปหาหมอเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ โดยที่คุณหมอที่โรงพยาบาลให้ยามากินชื่อยา  Ciprofloxacin ชนิด 500 mg โดยกินวันละ 2 ครั้ง อยากทราบว่า ถ้ากินยาตัวนี้ มันจะทำให้ยาคุมกำเนิดชนิดที่ฉีดอยู่ ประสิทธิภาพจะลดลงไปหรือเปล่า

รบกวนคุณหมอด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อายุ: 44 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.93 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

8 กรกฎาคม 2556 15:10:06 #2

เรียน คุณ c4f84,

ไม่ทราบได้แจ้งคุณหมอที่ตรวจหรือเปล่าครับ ว่ากำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดอยู่บ้าง เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกยาที่เหมาะสมก่อนที่จะเริ่มต้นใช้ยา เนื่องจากหากได้รับยาเข้าไปแล้ว บางครั้งปฏิกิริยาระหว่างยาอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นะครับ ครั้งต่อไปต้องแจ้งประวัติการแพ้ยา หรือประวัติการใช้ยาที่ใช้อยู่ทุกครั้งนะครับ ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยจากการใช้ยาของคุณครับ ไม่ซื้อยาใช้เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจเกิดปัญหาจากการใช้ยาได้

จากข้อมูลของบริษัทยา ไม่พบว่ายาฉีดคุมกำเนิด Cyclofem มีปฏิกิริยาระหว่างยากับ Ciprofloxacin หรือ ยาลดกรดเคลือบกระเพาะ นะครับ

Ciprofloxacin เป็นยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Quinolones ออกฤทธิ์ได้ดีกับเชื้อที่ดื้อยา หรือที่มีการติดเชื้อซ้ำ ๆ

  • ยานี้ควรรับประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เนื่องจากตัวยาอาจเกิดการตกตะกอนที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะได้
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย เวียนศีรษะ มึนงง ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผื่นคัน ผิวแพ้แสง (ควรทาครีมกันแดด หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด)
  • ปฏิกิริยาระหว่างยา ยาตกตะกอนหากรับประทานร่วมกับนม ยาลดกรด หรือวิตามินที่เสริมธาตุเหล็ก ซึ่งจากอีกคำถามของคุณที่ซื้อยารับประทานลดกรด เคลือบกระเพาะมารับประทานเอง
  • จะทำให้ยานี้ตกตะกอนได้ หากจำเป็นให้รับประทานยาลดกรดเคลือบกระเพาะ หลังจากยา Ciprofloxacin นี้ 1-2 ชั่วโมง

คำแนะนำสำหรับการใช้ยา Ciprofloxacin

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งจนครบ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ (นอกจากช่วยกำจัดยาออกทางปัสสาวะ ยังลดปริมาณเชื้อที่มีในทางเดินปัสสาวะ ไม่ให้ย้อนกลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย)
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับนม ยาลดกรดเคลือบกระเพาะ รวมถึงวิตามินเสริมธาตุเหล็กด้วย เนื่องจากทำให้ตัวยาจับเป็นตะกอนเชิงซ้อน ไม่ละลายน้ำ ร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลง จนอาจไม่ได้ผลการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • นอกจากนี้ยังต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพ ไม่อั้นปัสสาวะ เนื่องจากจะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำได้บ่อย ๆ จนอาจเกิดโรคที่ไตได้

ขอให้หายไว ๆนะครับ

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล