กระดานสุขภาพ

อาการแพ้ของผิวหนัง เนื่องจากสัมผัสโลหะ
Saha*****m

20 มกราคม 2557 21:10:55 #1

ผมขอรบกวนสอบถามคุณหมอนะครับ
คือ... เพื่อนผมคนหนึงเธอแพ้เครื่องประดับที่มีนิกเกิล (Nickel) เป็นส่วนผสม ตอนที่เธอสัมผัสโดยตรง หรือ ผ่านจาก เสื้อผ้า รองเท้า ผ้าเช็ดตัว เธอจะมีผื่นหรือตุ่มแดงๆขึ้น และทำให้เกิดอาการคัน บางครั้งก็เป็น ตุ่มใสๆ หรือ คล้ายจะเป็นหนอง

สิ่งที่ผมอยากทราบ
1.วิธีรักษา
2.ยาที่ช่วย บรรเทาอาการ หรือ ยารักษา
3.อาหารที่ควรเลี่ยง
4.ข้อมูลเพิ่มเติมหากคุณหมอจะเเนะนำ

***เพศหญิง อายุ 23 ปี อาชีพ นักศึกษา

aoftra_cooling-kung@windowslive.com

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

อายุ: 23 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 176ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.37 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน

แพทย์โรคผิวหนัง

23 มกราคม 2557 05:30:09 #2

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนค่ะ ว่าแพ้โลหะนิเกิลแน่ๆ ใช่หรือไม่ เช่น สังเกตว่าเมื่อมีการสัมผัส แล้วจะมีผื่นขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส หรือกลายเป็นหนอง หรืออาจยืนยันให้ชัดเจนจากการทำการทดสอบผื่นแพ้สัมผัสค่ะ ซึ่งต้องติดแผ่นทดสอบที่หลังไว้ อ่านผลที่ 48 ชั่วโมงถัดไป และอีกครั้งที่ 72 ชั่วโมง

เมื่อทราบว่าแพ้นิเกิลแล้ว ลำดับต่อไปก็ต้องทราบว่านิเกิลมีอยู่ที่ใดบ้าง เพราะการรักษาหลักคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ซึ่งก็คือนิเกิลนั่นเอง

โดยทั่วไป นิเกิลมักใช้ผสมในโลหะเพื่อเพิ่มความแข็ง และให้เป็นมันวาว มักพบที่เครื่องประดับ ตุ้มหู หัวเข็มขัด กระดุมกางเกงยีนส์ เหรียญ เป็นต้น

คำแนะนำสำหรับผู้แพ้นิเกิล

  1. หลีกเลี่ยงสัมผัสวัสดุที่มีนิเกิลผสมอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหงื่อออก เสียดเสี อากาศร้อน เมื่อสัมผัสวัสดุเหล่านั้น จะทำให้มีการปล่อยนิเกิลออกมามากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีผื่นที่บริเวณได้อีก เช่นเมื่อใช้นิ้วมือที่มีเหงื่อออกสัมผัสนิเกิลที่ใดที่หนี่งแล้วไปสัมผัสบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย ก็จะสามารถเกิดผื่นที่บริเวณอื่นๆ ตามมาด้วยได้
  2. ในกรณีที่จะใช้เครื่องประดับ อาจใช้วัสดุที่ทำจากสเตนเลสสตีล (Stainless steel) โรเดียม ทอง พลาตินัม เงิน พลาสติก ทองเหลืองแทน
  3. นิเกิลมักผสมในเครื่องประดับราคาถูก แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ อาจใช้น้ำยาทาเล็บใส ทาเคลือบเครื่องประดับก่อนเพื่อป้องกันการสัมผัสนิเกิลโดยตรง หรือนำเครื่องประดับไปชุบเคลือบด้วยพลาตินัม หรือโรเดียมก่อน
  4. ระมัดระวังในการแต่งกายที่มีนิเกิลเป็นส่วนประกอบ เช่นโครงเหล็กเสริมเสื้อชั้นใน ซิป ตะขอ หัวเข็มขัด กระดุมกางเกงยีนส์ นาฬิกา เหรียญ (อาจใส่เหรียญในซองพลาสติกแทนการใส่เหรียญในกระเป๋ากางเกงโดยตรง เพราะเมื่อเหงื่อออกอาจทำให้นิเกิลในเหรียญออกมาได้) ขาแว่น (อาจใช้ขาแว่นพลาสติกแทน)เป็นต้น
  5. ในกรณีที่สงสัยเครื่องใช้ที่อาจมีนิเกิลเป็นส่วนประกอบ สามารถใช้ชุดทดสอบนิเกิล (DMG) เพื่อทดสอบวัสดุได้ ทำโดยการหยดสารทดสอบที่ไม้พันสำลี แล้วถูวัสดุที่สงสัยว่าจะมีนิเกิลเป็นส่วนประกอบ ถ้ามีนิเกิลผสม ที่ไม้พันสำลีจะกลายเป็นสีชมพู
  6. หากจำเป็นต้องสัมผัสวัสดุที่มีนิเกิล อาจใส่ถุงมือไวนิลก่อนสัมผัส ไม่ควรใช้ถุงมือยาง เพราะนิเกิลสามารถซึมผ่านถุงมือยางได้
  7. ในบางกรณี อาหารบางประเภทสามารถกระตุ้นให้ผื่นแพ้นิเกิลเห่อมากขึ้นได้ เช่นเบียร์ ไวน์ ปลาทูน่า มะเขือเทศ หัวหอม แครอท แอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลส้ม สัปปะรด นมช็อคโกแลต โกโก้ อาหารกระป๋อง (นิเกิลจากโลหะของกระป๋องอาหาร) ถั่วต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดผื่นดังกล่าวในคนไข้ทุกคนที่รับประทานอาหารเหล่านี้ จำเป็นต้องสังเกตเป็นรายๆไป

การรักษา

นอกจากการหลีกเลี่ยงแล้ว เมื่อมีผื่นเกิดขึ้น ก็จะให้การรักษาเหมือนผื่นผิวหนังอักเสบโดยทั่วไป กล่าวคือ การใช้ยาทาสเตียรอยด์จะเป็นการรักษาหลัก และเสริมด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์ให้ผิวชุ่มชื้น
สำหรับการเลือกใช้ยาสเตียรอย์ มักเลือกความแรงของยาตามตำแหน่งของผื่นที่เกิดขึ้น เช่น

  • ถ้าเป็นผื่นที่บริเวณหน้า ก็ใช้สเตียรอยด์ชนิดที่มีความแรงน้อยเช่น 1-2% hydrocortisone cream, 0.02% triamcinolone cream เป็นต้น
  • ถ้าเป็นผื่นที่ลำตัว แขนขา ก็ใช้สเตียรอยด์ที่มีความแรงปานกลาง เช่น 0.1% triamcinolone cream, 0.05% betamethasone cream เป็นต้น
  • ถ้าเป็นผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก็ใช้สเตียรอยด์ที่มีความแรงสูงเช่น clobetasol cream เป็นต้น

หวังว่าข้อมูลที่กล่าวไป คงเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวนะค่ะ

Saha*****m

23 มกราคม 2557 10:48:59 #3

ขอบคุณมากครับ สำหรับคำตอบ

เเล้ว ชุดทดสอบนิเกิล (DMG) หาซื้อได้จากไหนครับ