กระดานสุขภาพ

เต้านมใหญ่ หัวนมใหญ่ ทำไงดีครับ
Anonymous

21 เมษายน 2562 05:57:00 #1

ความเป็นมา

ช่วงอายุประมาณ 15-18 ปี ประวัติเคยผ่านการกินยาคุม ฉีดออร์โมนเพศหญิง(แอเดอร์คัว)ตอนวัยรุ่นต้นๆ เนื่องจากตอนนั้นฉีดตามเพื่อน 
.
บวกกับยังไม่ค้นพบตัวเอง คิดว่าตัวเองอยากเป็นหญิง
.
พอโตขึ้นมาหน่อย เปลี่ยนที่เรียน เปลี่ยนกลุ่มเพื่อน ความคิดเปลี่ยนครับ ใจผมไม่ได้อยากเป็นหญิงครับ เป็นเกย์แหละครับ แต่อยู่ในฐานะเกย์แมนๆครับ  ตอนนี้หยุดทุกอย่างมาเกือบ 7 ปี แล้วเต้านมไม่ลดเลย
.
ประเด็นปัญหา

1.ขนาดเต้านมผมใหญ่กว่าผู้ชายปกติ
.
2.ลักษณะหัวนมชี้ เป็นรูปสามเหลี่ยม
.
3.ปานนมใหญ่

ประเด็นสอบถาม

1.ออกกำลังจะช่วยขนาดหน้าอกหรือไม่ ถ้าช่วยพอจะมีวิธีที่เน้นการลดขนาดหน้าอก หรือเปลี่ยนรูปร่างหน้าอกให้ปกติหรือไม่
.
2. ปานนมที่ใหญ่ลดอย่างไร
.
หมายเหตุ : ขั้นแรกอยากได้วิธีที่เสียเงินน้อยที่สุดครับ และเจ็บตัวน้อยที่สุด

ขอบพระคุณทุกท่านครับ

อายุ: 28 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 162ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.86 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Anonymous

21 เมษายน 2562 05:58:18 #2

พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

25 เมษายน 2562 15:21:18 #3

ผู้ชายมีนม หรือ ผู้ชายมีเต้านม หรือผู้ชายมีนม หรือผู้ชายมีหน้าอก หรือมีก้อนในเต้านมผู้ชาย หรือ การมีเต้านมในผู้ชาย หรือเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia, กัยเนโคมาสเตีย หรือ ไกเนโคมาสเตีย)ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อเต้านมผู้ชายมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จึงส่งผลให้มีลักษณะเหมือนเต้านมของผู้หญิงแต่ขนาดเล็กกว่า(นมตั้งเต้า) ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นการเจริญของท่อน้ำนม ไม่ใช่การเจริญของต่อมสร้างน้ำนม ดังนั้นภาวะนี้ในผู้ชาย โดยทั่วไปจึงผลิตน้ำนมไม่ได้ แต่บางครั้งการมีเต้านมในผู้ชายเกิดจากโรคอ้วน ซึ่งส่งผลให้มีไขมันจับในเต้านมมากขึ้น จึงดูเหมือนมีเต้านม ซึ่งเรียกภาวะที่เกิดจากไขมันจับในเต้านมนี้ว่า “ภาวะมีเต้านมเทียม หรือภาวะมีเต้านมหลอก หรือภาวะมีเต้านมไม่แท้ (Pseudogynecomastia)”

ผู้ชายมีเต้านม อาจเกิดได้ทั้งเป็นภาวะปกติตามธรรมชาติ (Physiologic gynecomastia) เช่น ในเด็กชายเมื่ออย่างเข้าสู่วัยรุ่น ที่เรียกว่า แตกพาน/นมแตกพาน หรือเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติ (Nonphysiologic gynecomastia) เช่น ในผู้ป่วยโรคตับ เช่น โรคตับแข็ง หรือการกินฮอร์โมนเพศ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยา Bicalutamide เป็นต้น

ผู้ชายมีเต้านม อาจเกิดกับเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยทั้งสองข้างอาจมีขนาดเต้านมเท่ากัน หรือไม่เท่ากันก็ได้ หรืออาจเกิดกับเต้านมข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว ซึ่งบางรายงานพบเกิดกับข้างซ้ายบ่อยกว่าข้างขวา แต่บางรายงานพบเกิดกับข้างขวาบ่อยกว่าข้างซ้าย ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งที่มาของข้อมูลที่แตกต่างกัน

สาเหตุของการเกิดเต้านมในผู้ชายยังไม่ชัดเจน แต่จากการศึกษาเชื่อว่า อาจเกิดจาก ผลของฮอร์โมนเพศ คือ

* เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชาย (เทสทอสเทอโรน/Testosterone หรือ แอนโดรเจน/ Androgen) กับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน/Estrogen)

* อาจจากมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น

* อาจจากเนื้อเยื่อเต้านมของผู้ชายนั้นๆไว/ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติ

* อาจจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่นยา Bicalutamide

* และบางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ ซึ่งประมาณ 25% ของผู้ชายที่เกิดมีเต้านม แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

อนึ่ง ผู้ชายปกติทุกคน ในร่างกายจะมีทั้งฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิง แต่จะมีฮอร์โมนเพศชายในปริมาณสูงกว่าปริมาณเพศหญิงมาก ทั้งนี้ฮอร์โมนเพศทั้งสองชนิดนี้ของผู้ชายสร้างจากอัณฑะและจากต่อมหมวกไต นอกจากนั้นโดยธรรมชาติ ร่างกายยังมีกลไกที่แปลงฮอร์โมนเพศชายบางส่วนที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆให้เป็นฮอร์โมนเพศหญิงได้ ดังนั้นในบางภาวะทั้งที่ปกติตามธรรมชาติ และ ที่ผิดปกติ จึงอาจมีสมดุลของฮอร์โมนทั้งสองเพศผิดไป หรือเต้านมของคนๆนั้นเกิดการไว/ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้นกว่าปกติ

สาเหตุหลักที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศดังกล่าว แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เป็นไปตามธรรมชาติ และที่เกิดจากโรคหรือจากภาวะผิดปกติ

ก. การเกิดมีเต้านมในผู้ชายจากภาวะปกติตามธรรมชาติ: พบได้ใน 3 ช่วงอายุคือ เมื่อแรกเกิด ในวัยรุ่น และในวัยกลางคนขึ้นไป

* วัยแรกเกิด: ประมาณ 90% ของทารกเพศชายจะมีเต้านม เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากมารดา แต่ทั้งนี้เต้านมในวัยนี้จะค่อยๆยุบหายกลับเป็นปกติในอายุประมาณ 1 เดือนหลังคลอด หลังจากร่างกายทารกกำจัดฮอร์โมนเพศหญิงส่วนเกินออกจากร่างกายจนเหลืออยู่ในเกณฑ์ปกติ

* วัยรุ่น: เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น วัยรุ่นชายประมาณ 50% จะมีเต้านมได้ มักพบในช่วงอายุ 13-14 ปี เพราะช่วงนี้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น จึงมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเด็กชายที่มีเต้านม อาจเกิดจากปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้สมดุลของฮอร์โมนเพศจะปกติ หรืออาจจากเนื้อเยื่อเต้านมช่วงนี้ไว/ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติ ทั้งนี้ภาวะนี้จะค่อยๆหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี แต่บางครั้งอาจอยู่นานถึงปลายๆวัยรุ่น/วัยทีน (Teenage, 13-19 ปี)

* วัยกลางคนขึ้นไป: คือประมาณอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายงานพบภาวะนี้ได้ประมาณ 65% ของชายวัย 50-80 ปี ทั้งนี้เกิดจากในวัยนี้ ร่างกายสร้างปริมาณฮอร์โมนเพศชายลดน้อยลง จึงส่งผลให้ดูเหมือนมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น ซึ่งการมีเต้านมในวัยสูงอายุนี้ มักคงอยู่ตลอดไป เพราะอวัยวะต่างๆ รวมทั้งอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย เสื่อมไปตามวัย ร่างกายจึงไม่กลับมาสร้างฮอร์โมนเพศชายมากเท่าวัยหนุ่มอีกแล้ว

ข.การเกิดมีเต้านมจากโรคหรือจากภาวะผิดปกติ: พบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ โดยสาเหตุมีได้หลากหลาย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้ คือ ผลข้างเคียงจากยาต่างๆ, จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ สารเสพติด, จากภาวะทางโภชนาการ, จากโรคเรื้อรังต่างๆ , จากโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง บางชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศได้, และอื่นๆ

* ผลข้างเคียงจากยา: มียาหลากหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดเต้านมในผู้ชาย เช่น ยาฮอร์โมนต่างๆที่ใช้ในการรักษาโรค ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยาทางจิตเวชบางชนิด ยากันชักบางชนิด ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาฮอร์โมน/ยาต้านฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านม ยาฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ยาลดกรดในกระเพาะอาหารบางชนิด ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาต้านไวรัสบางชนิด ยาขยายหลอดลมบางชนิด ยาในกลุ่มที่ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อในนักกีฬาหรือนักเพาะกาย (Anabolic hormone) และฮอร์โมนในพืช เช่น สมุนไพรที่มีฮอร์โมน เช่น โสมต่างๆ และยาพื้นบ้านต่างๆที่มีฮอร์โมน

อนึ่ง ถัวเหลืองซึ่งเป็นพืชที่มีฮอร์โมนพืชที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองในปริมาณปกติ ยังไม่มีรายงานว่า เป็นสาเหตุให้เกิดเต้านมในผู้ชาย แต่มีรายงานว่า ถ้ากินในปริมาณสูงมากๆต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุได้ เช่น มีรายงานเกิดเต้านมในผู้ป่วยชายซึ่งดื่มนมถั่วเหลืองถึงวันละมากกว่า 3 ลิตรอย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 6 เดือน และเมื่อได้รับการรักษาด้วยการหยุดบริโภคนมถั่วเหลือง เต้านมก็ค่อยๆยุบลงและกลับเป็นปกติในที่สุด

* จากแอลกอฮอล์ และสารเสพติด: พบว่าแอลกอฮอล์ และสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า/ยาม้า/ยาขยัน (Amphetamine) สารประกอบของฝิ่น และเฮโรอีน(Heroin) มีผลเปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับฮอร์โมนเพศหญิง จึงส่งผลให้เป็นสาเหตุการมีเต้านมในผู้ชาย

* จากภาวะทางโภชนาการ: ถ้าร่างกายขาดอาหาร เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ติดสุราเรื้อรัง ติดยา/สารเสพติด หรือจากการเจ็บป่วยต่างๆ จะส่งผลให้เซลล์ต่างๆทั่วร่างกายขาดสารอาหาร การทำงานจึงลดลง ซึ่งรวมทั้งการทำงานของอัณฑะ จึงส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมีเต้านมได้ นอกจากนั้นในผู้ชายที่ขาดอาหารและไม่ได้เกิดมีเต้านม แต่ถ้าภายหลังร่างกายฟื้นตัวจากกลับมาได้อาหารปกติ อาจเกิดมีเต้านมในระยะหนึ่งได้ เนื่องจากมีการฟื้นตัวของเซลล์อัณฑะเช่นกัน จึงกลับมาสร้างฮอร์โมนเพศใหม่ ส่งผลให้มีฮอร์โมนหญิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอาจเกิดมีเต้านมขึ้นในระยะต้นๆของการฟื้นตัว

* จากโรคเรื้อรังต่างๆ: ที่ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศ เช่น โรคตับแข็ง (ตับเป็นตัวทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงสลายตัว เมื่อตับทำงานลดลง ฮอร์โมนเพศหญิงจึงเพิ่มขึ้น จึงเกิดมีเต้านมได้), โรคไตเรื้อรัง (ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงเหมือนเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง), โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ไทรอยด์ฮอร์โมน จะการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น), โรคของไขสันหลั่ง(จะส่งผลให้อัณฑะฝ่อลง จึงลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย), และโรคเอดส์ (เกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายเสื่อมโทรม อัณฑะจึงทำงานลดลง และ/หรือผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส และ/หรือปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน)

* จากเนื้องอก หรือมะเร็ง: ซึ่งเป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น เนื้องอก หรือมะเร็งอัณฑะ บางชนิด, เนื้องอกต่อมใต้สมองบางชนิด, หรือมะเร็งปอด บางชนิด เป็นต้น

* อื่นๆ: เช่น จากพันธุกรรม ทั้งจากการมีประวัติผู้ชายในครอบครัวมีภาวะนี้ หรือโรคทางพันธุกรรมบางโรคที่ส่งผลให้อัณฑะทำงานลดลง (เช่น โรค Klinefelter syndrome, โรคที่มี X chromosome/ โครโมโซม เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ชายปกติจะมี XY chromosome แต่โรคนี้จะมี XXY chromosome คือมีความเป็นเพศหญิงอยู่ในตัว) หรือจากปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด เพราะจะส่งผลถึงการทำงานของสมองส่วนที่สร้างฮอร์โมนต่างๆซึ่งรวมทั้งฮอร์โมนเพศ จึงก่อให้สมดุลของฮอร์โมนเพศผิดปกติไป

แนวทางการรักษาภาวะผู้ชายมีเต้านม คือ การรักษาตามสาเหตุ โดยทั่วไปอาการที่เป็นจากธรรมชาติตามอายุ มักไม่มีการรักษา โดยเฉพาะในเด็กอ่อน และในวัยรุ่น แต่ในผู้สูงอายุ หรือในวัยรุ่นที่มีปัญหาด้านจิตใจกับภาวะนี้ แพทย์อาจให้การรักษาโดยการให้ยา เช่น ยาฮอร์โมนเพศชาย หรือยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง หรือในบางราย อาจพิจารณาผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่ง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ส่วนใน ภาวะมีเต้านมที่เกิดจากโรค เมื่อรักษาควบคุมโรคได้ ภาวะมีเต้านมก็จะค่อยๆกลับเป็นปกติ เช่น การรักษาโรคตับแข็ง การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ การเลิกกินอาหารหรือสมุนไพรที่เป็นสาเหตุ เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับในกรณีของการเกิดภาวะนี้ตามธรรมชาติ ถ้าภาวะนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีเช่นเดียวกับการรักษาภาวะนี้ที่เกิดตามธรรมชาติ ดังได้กล่าวแล้ว

แต่ถ้ารักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุไม่ได้ การมีเต้านมก็จะยังคงอยู่โดยไม่ก่ออาการอื่น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ผู้ป่วยเพียงแต่คอยสังเกตเต้านมของตนเอง เมื่อพบผิดปกติไปจากเดิม เช่น คลำได้ก้อนชัดเจน เต้านมโตขึ้นรวดเร็วเพียงข้างเดียว หรือมีเลือดออกทางหัวนม ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งเต้านมได้

อนึ่ง เมื่ออาการเกิดจากเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาจะเช่นเดียวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ของผู้หญิง